posttoday

สธ.ย้ำสัญญาเจรจาวัคซีนเปิดเผยไม่ได้ ชี้เคยเกิดผลเสียมาแล้ว

21 กรกฎาคม 2564

สธ.ยืนยันการจัดหาวัคซีนโปร่งใส แต่เปิดเผยสัญญาเจรจาไม่ได้เพราะจะเกิดผลเสีย ยกเคสปลายปี63 ทำให้ไทยไม่ได้วัคซีนแอสตร้าฯจากโรงงานในอิตาลีหลังข่าวรั่ว ยืนยันเป้า 100 ล้านโดสปีนี้มีความเป็นไปได้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงยืนยันว่า กลไกการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข เป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้และไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาด แต่โดยหลักการในการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนไม่ว่ารายใดก็ตามต้องไม่นำเอาสัญญาที่เจรจากันมาเปิดเผย เพราะมีผลทั้งเรื่องราคาและคุณสมบัติ รวมทั้งหากเปิดเผยการเจรจาทุกครั้งจะเกิดผลเสียและผู้ผลิตจะไม่เจรจากับไทย

การนำผลการเจรจาเผยแพร่ออกไปมีหลายกรณีส่งผลร้าย เช่น กรณีที่มีการแพร่ระบาดและขอให้ทางแอสตราเซนเนกาไปจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นมาให้ก่อน เนื่องจากไทยพบการแพร่ระบาดในระลอก 2 ช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.63 ทำให้รอไม่ได้ ซึ่งทางแอสตราเซนเนก้าก็ได้พยายามไปตัดล็อตวัคซีนจากยุโรป แต่เมื่อมีข่าวนี้ออกไปทำให้ทางยุโรปสั่งห้ามโรงงานผลิตในอิตาลีส่งวัคซีนให้ไทยทันที ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้สูงสุด

นพ.ศุภกิจ ชี้แจงว่า กลไกที่กระทรวงใช้ดำเนินการมี 2 ส่วน คือ 1.กลไกตามกฏหมาย ตาม พ.ร.บ.วัคซีน มีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารสถาบันวัคซีน และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กลไกนี้เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีน

2.กลไกทางบริหาร มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยมีปลัดสาธารณสุขเป็นประธาน และผู้แทนส่วนต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ องค์การเภสัชกรรม ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานอีก 2 ชุดไปเจรจากับแอสตราเซนเนก้า และอีกคณะไปเจรจากับโคแวกซ์ ซึ่งขณะนั้นเรายังใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการจัดวัคซีน และขณะนี้ยังมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือกที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน

"ผมเรียนประชาชนว่า วัคซีนไม่ใช่ของทั่วไปที่จะจัดหาได้โดยง่าย แล้วที่เราเห็นปัจจุบัน ตลาดเป็นของผู้ขาย ผู้ขายมีสิทธิกำหนดเรื่องราวต่างๆ การผลิตไม่เพียงพอ แม้กระทั่งโคแวกซ์ที่มีคนบอกว่าทำไมเราถึงไม่เข้า วันนี้ซัพพลายวัคซีนได้ไม่มากตามที่วางแผนไว้ คือพลาดเป้าค่อนข้างเยอะ"นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วและการที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ ทำให้สิ่งที่วางแผนต้องปรับปรุงเปลี่ยน และเจรจากับหลายฝ่ายอยู่ตลอดเวลา พร้อมยืนยันว่ากลไกของภาครัฐมีความเข้มแข็งมากพอที่จะดำเนินการจัดหาวัคซีนให้กับคนไทยมากที่สุดเท่าที่เป็นไป และคิดว่าการฉีดวัคซีนในประเทศไม่ได้น้อยหน้าประเทศอื่นๆมากนัก และเป้าหมายการจัดหาวัคซีนในปี 64 ให้ได้ 100 ล้านโดสยังมีความเป็นไปได้

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทางกรมควบคุมโรคมีการจัดทีมเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งจะมีพูดคุยเรื่องข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีน ราคา ความเหมาะสมการใช้งานในประเทศ และผลข้างเคียง

ซึ่งเรื่องการลงนามในเอกสารที่มีข้อมูลที่เป็นความลับ ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องส่งให้สำนักอัยการสูงสุดตรวจสอบร่วมด้วย และจะมีข้อตกลงที่ต้องดำเนินการร่วมกัน และขั้นตอนสุดท้าย คือ สัญญาการสั่งซื้อที่ต้องเกิดประโยชน์กับประเทศไทยให้มากที่สุด อย่างเช่น กรณีของวัคซีนไฟเซอร์ที่มีการตกลงกันจะส่งมอบวัคซีนในช่วงไตรมาส 4/64 แม้ไทยอยากได้วัคซีนเร็วกว่านั้น แต่ก็ไม่สามารถทำได้ตามที่เราต้องการทั้งหมด

นพ.โสภณ กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนว่า ในแต่ละวันสามารถฉีดวัคซีนได้เกือบ 3 แสนเข็ม ตกเดือนละประมาณ 9 ล้านโดส ถือว่าฉีดได้เต็มศักยภาพ และจากเริ่มปูพรมตั้งแต่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผ่านมา 6 สัปดาห์ฉีดได้แล้วกว่า 14 ล้านโดส ก็ยังถือว่าเป็นไปตามแผน ซึ่งหลังจากนี้ต้องมีการสรรหาวัคซีนให้เพียงพออย่างน้อยให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส