posttoday

สธ.เปิดผลศึกษาย้ำซิโนแวค-แอสตร้าฯป้องกันติดโควิด-ปอดอักเสบ

19 กรกฎาคม 2564

สธ.เปิดผลการศึกษาประสิทธิผลจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าฯในไทย พบมีประสิทธิผลในการป้องกันติดเชื้อ และปอดอักเสบจากสายพันธุ์อัลฟา ขณะที่ช่วงสายพันธุ์เดลตาระบาด ยังไม่พบว่าประสิทธิผลการป้องกันติดเชื้อลดลง

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 64 นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาวัคซีน 2 ชนิดที่มีการใช้ในประเทศไทย ทั้งวัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าพบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ได้

จากการศึกษาในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่จังหวัดภูเก็ตและสมุทรสาคร พบ การฉีดวัคซีน ซิโนแวคครบ 2 เข็มมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟาในสนามจริง 90% และจากการศึกษาในบุคลากรทางการสาธารณสุขที่เชียงรายและฐานข้อมูลทั้งประเทศ พบป้องกันได้ 74-89%

นอกจากนี้ จากการศึกษาที่จังหวัดเชียงราย ยังพบว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันปอดอักเสบรุนแรงจากไวรัสสายพันธุ์อัลฟาได้ 84.9% และการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม เกิน 14 วันพบประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังฟา ได้ 83.8% และไม่พบปอดอักเสบจาก 5 รายที่ติดเชื้อในจำนวน 50 คนที่ได้วัคซีน

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาในฐานข้อมูลของกรมควบคุมโรค ในเดือนมิ.ย.ที่เริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ยังไม่พบว่าประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.

อย่างไรก็ตามในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เชื้อมีการกลายพันธุ์ การนำเข้าวัคซินซิโนแวคยังคงมีความจำเป็นอยู่ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่จัดหาได้ง่าย และวัคซีนหลักของประเทศอีกชนิดอย่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เดิมมีการตกลงว่าจะนำเข้ามาเดือนละ 10 ล้านโดส แต่ขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงจึงคาดว่าจะสามารถนำเข้ามาได้เพียง 5 ล้านโดส/เดือนเท่านั้น

อย่างไรก็ตามวัคซีนซิโนแวคยังมีประสิทธิผลในการป้องกันเชื้ออยู่ แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันจึงต้องมีการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด คือฉีดวัคซีนซิโนแวคในเข็มแรก และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเข็มที่สอง

สำหรับการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดจะใช้ระยะเวลาห่างกัน 3-4 สัปดาห์ โดยการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดสามารถนำมาใช้ได้กับทุกกลุ่มช่วงอายุ

"ไม่บังคับประชาชนให้ฉีดแบบสลับ แต่เป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้ประชาชนที่มีความสมัครใจฉีด แต่ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ควรเร่งฉีดวัคซีนที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันก่อน เนื่องจากวัคซีนชนิดอื่นๆ ยังไม่มีความแน่นอนในการนำเข้ามา เช่นวัคซีนไฟเซอร์ที่จะกลายเป็นวัคซีนหลักอีกชนิด คาดว่าจะมีการนำเข้ามาในไตรมาส 4/64 แต่ยังไม่ทราบวัน และเดือนที่แน่นอน จึงแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงรีบฉีดวัคซีนที่มีไปก่อน และเมื่อมีวัคซีนชนิดอื่นเข้ามาค่อยพิจารณาการฉีดอีกครั้ง"นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจานำเข้าวัคซีนอีก 2 ชนิด คือวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุตนิก แต่ยังไม่สามารถดำเนินการจัดหาได้ในขณะนี้ เนื่องจากทางบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ได้ขอเลื่อนการทำสัญญา จากที่โรงงานในสหรัฐฯ ประสบปัญหาด้านแหล่งผลิต ส่วนสปุตนิกยังอยู่ระหว่างรอการจดทะเบียนกับทางองค์การอาหารและยา (อย.)

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการศึกษา จัดหาวัคซีนสำหรับปี 65 เพื่อรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 โดยเริ่มมีการพูดคุย ติดตาม 3-4 บริษัท ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้