posttoday

เปิดผลโพลชี้สังคมไทยมองคน11กลุ่มเป็น "อภิสิทธิ์ชน"

11 กรกฎาคม 2564

นิด้าโพลเผยสังคมไทยมอง คน 11 กลุ่มเป็น "อภิสิทธิ์ชน" ชี้ปัจจัยเพราะมีอำนาจ-มีเงิน เผยข้อแก้ตัวสุดน่ารังเกียจคือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้ว่าผิด

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ร่วมกับ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “อภิสิทธิ์ชนในสังคมไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการมีอภิสิทธิ์ชนในสังคมไทย

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกลุ่มในสังคมที่ชอบทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน ดังนี้

1.ร้อยละ 63.80 ระบุว่าเป็น นักการเมืองระดับชาติ/คนใกล้ชิด

2.ร้อยละ 46.88 ระบุว่าเป็น นักการเมืองท้องถิ่น/คนใกล้ชิด

3.ร้อยละ 27.13 ระบุว่าเป็น เศรษฐี คนมีเงิน/คนใกล้ชิด

4.ร้อยละ 20.27 ระบุว่าเป็น ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ/คนใกล้ชิด

5.ร้อยละ 10.52 ระบุว่าเป็น คนในวงการบันเทิง/คนใกล้ชิด

6.ร้อยละ 6.55 ระบุว่าเป็น นักธุรกิจ เจ้าของกิจการขนาดใหญ่/คนใกล้ชิด

7.ร้อยละ 6.33 ระบุว่าเป็น นักเคลื่อนไหวทางการเมือง สังคม

8.ร้อยละ 2.67 ระบุว่าเป็น สื่อมวลชน ผู้บริหารองค์กรสื่อ/คนใกล้ชิด

9.ร้อยละ 1.83 ระบุว่าเป็น นักวิชาการ ผู้มีการศึกษาสูง/คนใกล้ชิด

10.ร้อยละ 1.07 ระบุว่าเป็น เจ้าหน้าที่ หน่วยงานต่างประเทศ/หน่วยงานระหว่างประเทศ

11.ร้อยละ 0.99 ระบุว่าเป็น เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และร้อยละ 3.81 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มีคนชอบทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.75 ระบุว่า เชื่อว่าตนเองมีตำแหน่ง อำนาจ รองลงมา ร้อยละ 48.48 ระบุว่า เชื่อว่าตนเองมีเงิน ร้อยละ 21.80 ระบุว่า มีนิสัยเห็นแก่ตัว ร้อยละ 20.35 ระบุว่า เชื่อว่าตนเองมีเส้นสายดี ร้อยละ 14.33 ระบุว่า เชื่อว่าตนเองเป็นคนมีชื่อเสียง เด่นดัง ร้อยละ 4.73 ระบุว่า เชื่อว่ามีคนกลัว/เกรงใจตนเอง ร้อยละ 3.28 ระบุว่า เชื่อว่าตนเอง มีความรู้ดี/การศึกษาสูง ร้อยละ 1.52 ระบุว่า เชื่อว่าตนเองมีความอาวุโสกว่าผู้อื่น ร้อยละ 0.30 ระบุว่า เชื่อว่าตนเองสวย หล่อ และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับสิ่งที่จะทำหากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีคนทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.39 ระบุว่า ขอดูสถานการณ์ ก่อนตัดสินใจ รองลงมา ร้อยละ 31.86 ระบุว่า อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของเราเอง ร้อยละ 11.36 ระบุว่า ขัดขวาง ไม่ยอมปล่อยให้มีใครทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน ร้อยละ 7.01 ระบุว่า ถ่ายคลิปหรืออัดเสียงเพื่อประจานลง social media และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ทำตัวคล้อยตาม เพื่อประโยชน์ในวันนี้และวันข้างหน้า

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อคำแก้ตัวของอภิสิทธิ์ชนที่น่ารังเกียจที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.73 ระบุว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ รองลงมา ร้อยละ 26.52 ระบุว่า ไม่รู้ว่าผิด ร้อยละ 18.45 ระบุว่า ไม่มีเจตนา ร้อยละ 16.23 ระบุว่า ที่ผ่านมาไม่เห็นมีใครว่าอะไร ร้อยละ 15.32 ระบุว่า ขอโทษ เดี๋ยวจะชดเชย/เยียวยาให้ ร้อยละ 11.13 ระบุว่า เห็นใคร ๆ ก็ทำกัน ร้อยละ 9.60 ระบุว่า ไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร ร้อยละ 8.92 ระบุว่า มีผู้ใหญ่อนุญาตให้ทำ ร้อยละ 8.16 ระบุว่า คิดว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ ร้อยละ 2.13 ระบุว่า มีคนบอกว่าทำได้ ไม่เป็นไร และ ร้อยละ 2.44 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาการมีอภิสิทธิ์ชนในสังคมไทย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.82 ระบุว่า อาจจะแก้ไขได้ รองลงมา ร้อยละ 33.08 ระบุว่า แก้ไขไม่ได้แน่นอน ร้อยละ 22.94 ระบุว่า แก้ไขได้แน่นอน และร้อยละ 7.16 ระบุว่า อาจจะแก้ไขไม่ได้

เปิดผลโพลชี้สังคมไทยมองคน11กลุ่มเป็น "อภิสิทธิ์ชน"