posttoday

"นพ.ยง"แนะแนวทางให้วัคซีนเพื่อป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้า

20 มิถุนายน 2564

"นพ.ยง"ชี้การให้วัคซีนแอสตร้าฯเข็ม2เข้ามาเร็วขึ้น จะมีประโยชน์ในการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่วัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่า คงต้องใช้การกระตุ้นเข็มที่ 3

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กในประเด็น วัคซีนโควิด -19 กับการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามวิวัฒนาการของไวรัส ไวรัสจากมีการกลายพันธุ์ เพื่อหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา

เราจะเห็นว่า มีการกลายพันธุ์ตั้งแต่ Alpha Beta Gamma Delta หรือแต่เดิมที่เราเรียกว่าสายพันธุ์อังกฤษ (Alpha) สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta) สายพันธุ์อินเดีย (Delta)

วัคซีนส่วนใหญ่ทั้งหมดจะพัฒนาจากสายพันธุ์เดิมคือสายพันธุ์อู่ฮั่น

สายพันธุ์อังกฤษยังไม่หลบหลีกประสิทธิภาพของวัคซีนมากนัก สายพันธุ์แอฟริกาใต้หลบหลีกได้มากแต่ขณะเดียวกันอำนาจการกระจายโรคได้น้อยกว่า

สายพันธุ์ Delta หรืออินเดีย มีอํานาจการกระจายสูง และหลบหลีกภูมิต้านทานได้แต่น้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ การมีอำนาจการกระจายสูงสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ และระบาดทั่วโลก จากเดิมเป็นสายพันธุ์อังกฤษ

ในทำนองเดียวกันในประเทศไทยแต่เดิมเป็นสายพันธุ์ G และก็โดนสายพันธุ์อังกฤษ (Alpha) ระบาดเข้ามา เกิดระบาดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์อังกฤษ

ขณะนี้เริ่มมีสายพันธุ์อินเดีย (Delta) เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เข้ามาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในประเทศไทยอย่างแน่นอน

สายพันธุ์เดลต้า ต้องการระดับภูมิต้านทานของวัคซีนที่สูง ในการป้องกัน

เราจะเห็นการศึกษาในสกอตแลนด์ ถ้าเปรียบเทียบวัคซีน ที่เปรียบเทียบระหว่าง วัคซีน Pfizer ที่ให้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่า วัคซีน AstraZeneca ปรากฏว่าลดลงทั้ง 2 ตัว แต่วัคซีนที่ให้ภูมิต้านทานสูงลดลงน้อยกว่า การป้องกันโรคเมื่อให้วัคซีนครบ 2 เข็ม หลัง 14 วัน ต่อสายพันธุ์เดลต้า วัคซีน pfizer ป้องกันได้ร้อยละ 79 วัคซีน AstraZeneca ป้องกันโรคได้ร้อยละ 60 แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์อังกฤษการป้องกันโรคจะอยู่ที่ร้อยละ 92 กับ 73 แต่ถ้าให้วัคซีนเข็มเดียวเปรียบเทียบกัน หลัง 28 วันไปแล้วการป้องกันของวัคซีน Pfizer จะอยู่ที่ 30% แต่ของ AstraZeneca จะอยู่ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ โรงพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน

แสดงให้เห็นว่าการป้องกันโรคสายพันธุ์เดลต้า หรืออินเดียจำเป็นที่จะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าสายพันธุ์แอลฟาหรืออังกฤษ

จากข้อมูลดังกล่าวถ้ามาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ขณะนี้ของเราส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษ แต่ก็คงจะหนีไม่พ้นในอนาคตที่จะมีสายพันธุ์อินเดียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตามวิวัฒนาการของไวรัส

การให้วัคซีนเข็ม 2 เข้ามาเร็วขึ้น ของ AstraZeneca จะมีประโยชน์ในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ถ้ามีการระบาดของสายพันธุ์นี้เกิดขึ้น และมีแนวโน้มการป้องกันจะลดลง แต่ก็ยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และในทำนองเดียวกันวัคซีน ที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่า ก็คงจะต้องใช้การกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ระดับภูมิต้านทานสูงขึ้น เพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลต้า จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนใหม่ให้ตรงกับสายพันธุ์ ที่มีการระบาด เช่นเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี และในการเปลี่ยนแปลงของวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ ในบางปีการคาดการณ์ก็ไม่ถูกเช่นเดียวกัน แต่ละปีวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน

ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังดูสายพันธุ์ที่ระบาดอย่างต่อเนื่องว่าเป็นสายพันธุ์อะไร และป้องกันไม่ให้สายพันธุ์เดลต้าระบาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อรอจำนวนวัคซีนที่จะมา และหรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงชนิดของวัคซีนในอนาคต ให้ตรงและจำเพาะกับสายพันธุ์