posttoday

ลุยตรวจแคมป์คนงานในกทม.ต่อเนื่อง ศบค.ขอคุมเข้มการเคลื่อนย้ายแรงงาน

30 พฤษภาคม 2564

กทม.เดินหน้าตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง พบเมืองกรุงมีทั้งหมด 409 แคมป์ในทุกเขต ไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพื้นที่ หากจำเป็นต้องขออนุญาตก่อน

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า กทม.ยังคงเดินหน้าตรวจคัดกรองแคมป์คนงานอย่างต่อเนื่อง โดยในพื้นที่กทม.มีแคมป์คนงานอยู่ทั้งหมด 409 แคมป์ นับเป็นบริษัทก่อสร้างลงทะเบียนกับสำนักงานโยธาธิการ จำนวน 134 บริษัท โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการลงสำรวจทั้งหมดพบว่า ใน 50 เขต ทุกเขตมีการก่อสร้าง บางเขตมีมากกว่า 20 แคมป์ บางแคมป์มีคนงานเกิน 1,000 ราย โดยแคมป์ที่มีคนงานหนาแน่นได้แก่ บางกะปิ บางเขน ลาดพร้าว ห้วยขวาง เป็นต้น ขณะที่ เขตบางคอแหลมมีเพียง 7 แคมป์ แต่บางแคมป์มีคนงาน 1,000 กว่าราย

ทั้งนี้ได้มีมาตรการให้ผู้อำนวยการเขตลงชี้แจงขอความร่วมมือในส่วนผู้ประกอบการ และขณะเดียวกันทางโยธาธิการ ได้ขอเรียก 134 บริษัทก่อสร้างที่ขึ้นทะเบียนมาพูดคุยหารือร่วมกัน โดยขอความร่วมมือการดูแลสภาพแวดล้อม สถานที่พัก ขอให้ดูแลเรื่องความสะอาด สิ่งแวดล้อม ทำให้แรงงานมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย และไม่มีการแพร่กระจายเชื้อ

สิ่งสำคัญที่เน้นย้ำคือการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยมีการหารือมาตรการ buble and seal หากไซด์งาน กับแคมป์คนงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ก็อนุญาตให้ดำเนินการได้ แต่ไม่อนุญาตให้ข้ามพื้นที่ ถ้าจำเป็นเคลื่อนย้ายแรงงานหรือหมุนเวียนการใช้แรงงาน ไปจากพื้นที่หนึ่งไปอีกพื้นที่หนึ่ง ต้องขออนุญาตมาที่สำนักงานเขต แต่หากไซด์งานกับแคมป์อยู่คนละที่ กรมควบคุมโรคเสนอให้ใช้รถรับส่งคนงาน ในส่วนมาตรการเหล่านี้ได้ขอความร่วมมือ บางแคมป์ก็ทำได้ดีมาก แต่มีบางแคมป์ทำไม่ได้มีจำนวนมากที่จำเป็นต้องปิดแคมป์ ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติงาน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในวันที่ 1-10 มิ.ย.นี้ จะลงตรวจอีก 30 แคมป์ซึ่งเป็นการคัดกรองเชิงรุก รวมทั้งมีการตรวจมาตรการสิ่งแวดล้อม ความสะอาด จุดสัมผัสร่วม จากรายงานของกรมควบคุมโรคพบว่า แรงงานเหล่านี้มีความเป็นอยู่อย่างแออัด มีการอาบน้ำร่วมกัน ใช้กระติกน้ำร่วมกันใช้แก้วน้ำร่วมกัน ทางสำนักเขตจะลงไปดู หลังจากที่ศบค.ได้อธิบายเรื่องการติดเชื้อมีการขอความร่วมมือ หากบางแคมป์ไม่ปรับตัว ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ทำมาตรการ หรือทำผิดซ้ำๆ ก็อาจจะมีการทบทวนเรื่องบทลงโทษ

ทั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้มีการทบทวนว่าตลาดต้องพัฒนามาตรฐานอย่างไร ให้กลายเป็นตลาดปลอดภัยสำหรับชุมชน ขณะเดียวกันแคมป์คนงาน ไซด์งานก่อสร้าง ก็คงต้องทำลักษณะเดียวกัน มีการทบทวนมาตรฐานการจัดการระบบการดูแลสุขภาพ รวมไปถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นคนไทย ชาวต่างชาติ แรงงานต่างด้าว เมื่อมาอยู่ในไทย อยู่ร่วมสังคมชุมชนของเรา เมื่อเขาเจ็บป่วยควรได้รับการรักษาตามมาตรฐาน แม้คนงานบางคนไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย แต่โดยหลักมนุษยธรรมก็ยังต้องได้รับการดูแลรักษาให้ปลอดภัย หากไม่ได้รับการรักษาชุมชนก็จะไม่ปลอดภัย

จากรายงานของกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ได้มาขึ้นทะเบียนทำให้ถูกกฎหมาย 416,769 แสนคน ในวันนี้ยังมีตกค้างอยู่กว่า 2 แสนราย เฉพาะในกทม.มีจำนวน 7 หมื่นราย