posttoday

"อัศวิน"ตรวจระบบระบายน้ำพื้นที่เศรษฐกิจย่านสาทรรับหน้าฝน

30 พฤษภาคม 2564

ผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่ตรวจโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลูพื้นที่เศรษฐกิจย่านสาทรรับมือฝนตกน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจย่านสาทร โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล ณ บริเวณปากซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 17 เขตสาทร

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า บริเวณถนนสวนพลู ช่วงจากถนนสาทรใต้ถึงถนนนางลิ้นจี่ เขตสาทร เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วม 1 ใน 12 จุดในถนนสายหลัก มีท่อระบายน้ำเล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.60 ม. ทั้ง 2 ฝั่ง มีบ่อสูบน้ำปากซอยสวนพลู ช่วงถนนสาทรใต้ 2 แห่ง อัตรากำลังสูบน้ำรวม 0.50 ลบ.ม./วินาที โดยมีระยะทางจากจุดน้ำท่วมไปถึงบ่อสูบน้ำประมาณ 500 ม. บ่อสูบน้ำอัตรากำลังสูบ 1.60 ลบ.ม./วินาที บริเวณซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 17 รับน้ำจากท่อระบายน้ำเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.20 ม.และเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.50 ม. สูบลงคลองช่องนนทรี ระยะทางประมาณ 1,000 ม. และบ่อสูบน้ำอัตรากำลังสูบ 1.30 ลบ.ม./วินาที บริเวณฝั่งตรงข้ามซอยสวนพลู 6 อีกทั้งไม่สามารถขยายท่อระบายน้ำได้ เนื่องจากติดแนวสาธารณูปโภคหลัก ประกอบด้วย ท่อเมนประปาขนาดใหญ่ ท่อประปาจ่ายน้ำ แนวท่อร้อยสายสื่อสาร และท่อไฟฟ้า

"อัศวิน"ตรวจระบบระบายน้ำพื้นที่เศรษฐกิจย่านสาทรรับหน้าฝน

ทั้งนี้ กทท. โดยสำนักการระบายน้ำจึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู เขตสาทร เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบระบายน้ำ ซึ่งลักษณะทางกายภาพของพื้นที่บริเวณดังกล่าว มีลักษณะเป็นชุมชนเมืองที่มีความหนาแน่นของชุมชนสูง ระบบท่อระบายน้ำในพื้นที่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อเกิดฝนในปริมาณมากจึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งโครงการก่อสร้างดังกล่าว ประกอบด้วย ก่อสร้างท่อระบายน้ำ ค.ส.ล.เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.20 ม. ความยาว 300 ม. พร้อมบ่อพัก ก่อสร้างท่อลอดเหล็กเหนียว ขนาด 1,200 มม. ความหนา 19.1 มม. ความยาว 70 ม. ด้วยวิธีดันท่อ ก่อสร้างท่อระบายน้ำ ค.ส.ล.เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.80 ม. พร้อมบ่อพัก 1 แห่ง ก่อสร้างบ่อดันท่อ 1 บ่อ ก่อสร้างบ่อรับ 1 บ่อ ปรับปรุงบ่อสูบน้ำเดิม 1 แห่ง ปรับปรุงขอบบ่อพักพร้อมฝา 92 แห่ง พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า กำลังสูบ 1.00 ลบ.ม./วินาที จำนวน 2 เครื่อง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า กำลังสูบ 2.00 ลบ.ม./วินาที จำนวน 1 เครื่อง ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า และที่พักเจ้าหน้าที่

สำหรับ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเปิดใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นการก่อสร้างท่อระบายน้ำ ค.ส.ล. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.20 ม. ในซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 17 โดยรับน้ำจากซอยสวนพลูบริเวณทางแยกหน้าบริษัททีโอที เพื่อระบายไปลงคลองช่องนนทรี บริเวณปากซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 17 โดยการดันท่อลอดเหล็กเหนียวขนาด 1,200 มม. ผ่านบริเวณสามแยกไฟแดงหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อรับ 1 บ่อ บ่อดัน 1 บ่อ และปรับปรุงบ่อสูบน้ำเดิมบริเวณปากซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 17 ให้มีกำลังสูบ 4.00 ลบ.ม./วินาที เพื่อเร่งระบายน้ำในบริเวณดังกล่าวกรณีที่ฝนตกในปริมาณมาก โดยรับน้ำจากถนนสวนพลู ซอยงามดูพลี และซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 17 มาลงคลองช่องนนทรี ระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในถนนสายหลัก เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ สำนักการระบายน้ำได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดดีเซล บริเวณถนนสวนพลู ช่วงหน้า TOT จำนวน 1 เครื่องแล้วเสร็จ รวมถึงยังมีโครงการก่อสร้างรางระบายน้ำถนนสวนพลู ช่วงซอยสวนพลู 6 ถึงแยกเทคนิคกรุงเทพ ทั้ง 2 ฝั่ง ความยาว 1,150 ม. งบประมาณปี 2564 เพิ่มเติม งานปรับปรุงระบบระบายน้ำซอยงามดูพลี โดยระบายน้ำจากถนนสวนพลูและช่วงท้ายซอยนราธิวาส 17 ผ่านซอยงามดูพลี พร้อมทั้งก่อสร้างท่อระบายน้ำความยาว 560 ม. ลงบ่อสูบน้ำหน้ากรมท่าอากาศยาน อัตรากำลังสูบ 2.00 ลบ.ม./วินาที สูบผ่านคูน้ำภายในพื้นที่ลงอุโมงค์ระบายน้ำถนนพระรามที่ 4 ออกแม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณปี 2565 และประสานสำนักการโยธาเพื่อดำเนินการปรับปรุง ยกระดับทางเท้าและผิวจราจรถนนสวนพลู ช่วงถนนสาธรถึงซอยนราธิวาส 17 อีกด้วย