posttoday

โควิดระลอกใหม่ต่างจากรอบแรก ห่วง3กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง

10 มกราคม 2564

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯชี้การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ มีความแตกต่างจากรอบแรก ห่วง 3 กลุ่มเสี่ยงหากติดเชื้อจะอาการหนัก ชี้คนมีโรคประจำตัวเสี่ยงกว่าปกติ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ระบาดของชื้อไวรัสโควิด-19ในปัจจุบันว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ รุนแรงกว่าและต่างจากรอบแรก ด้วยหลายปัจจัย ตั้งแต่จุดเริ่มในที่อโคจร การกระทำผิดกฎหมายลักลอบเข้าเมือง คนไม่ยอมเปิดเผยตัว สืบสวนต้นตอที่มาของโรคยาก ความรุนแรงของโรคจากการกลายพันธุ์

โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ปอดทำงานไม่เต็มที่ เมื่อไวรัสจู่โจมระบบทางเดินหายใจ อาจทำลายปอด 10-20% จนปอดไม่พื้นกลับมา ได้แก่

1.ผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆจะเสื่อมตามกาลเวลา

2.คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอด มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง แม้ปอดถูกทำลายเล็กน้อย ก็จะส่งผลต่อชีวิตอย่างมาก ร่างกายจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

3.คนที่มีน้ำหนักมาก มีไขมันใต้ผิวหนัง หรือใต้ช่องท้องมาก รวมถึงผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มนี้เสี่ยงกับการหายใจที่ยากลำบากกว่าเดิม เพราะกระบังลมเคลื่อนไหวได้ยาก ทำให้ปอดทำงานได้น้อยลง

"งานวิจัยพบเมื่อโควิด-19 เข้าไปในร่างกาย ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่สัปดาห์ที่ 2 หรือวันที่ 8 หลังรับเชื้อ เพื่อยับยั้งหรือช่วยไม่ให้เกิดโรค ถ้าภูมิคุ้มกันปกติ 2-3 สัปดาห์แรก จะทำงานเต็มที่จากนั้นค่อยๆ ลดลง จึงพบมีกลุ่มคนที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และหายได้เอง"

"แต่หากภูมิคุ้มกันไม่ปกติ เพราะมีโรคประจำตัว ที่ต้องใช้ยารักษาที่ไปกดภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลเองไม่ได้ เป็นโรคหลอดเลือด เม็ดเลือดขาวไม่สามารถจัดการเชื้อโรคได้ คนกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรง ความรุนแรงของเชื้อไปกระทบกับอวัยวะอื่นด้วย ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงเสี่ยงมากขึ้นไปอีก"คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกล่าว

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ธรรมชาติของไวรัสทุกชนิดจะปรับตัวหรือที่เรียกว่ากลายพันธุ์อยู่เสมอ อย่างในอังกฤษพบว่า เชื้อโควิด-19ติดต่อได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ดังนั้นต้องช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยง คือ 1.พบกับบุคคลเสี่ยง 2.อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 3.ร่วมกิจกรรมเสี่ยง 4.เข้าไปช่วงเวลาเสี่ยง

"คนไทยทุกคนต้องร่วมกันจัดการกับ 4 เสี่ยงนี้ เท่าที่จะทำได้ตามปัจจัยและเงื่อนไขชีวิตตนเอง ไม่ต้องรอให้รัฐออกมาตรการ ไม่จำเป็นต้องให้มีการบังคับ นี่คือสิ่งที่เราจะช่วยปกป้องชีวิตของตัวเองและคนที่เรารัก"ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว