posttoday

กรมควบคุมโรคแจงยิบ3สาวไทยติดโควิดจากเมียนมาหนีเข้าไทย

30 พฤศจิกายน 2563

กรมควบคุมโรคชี้แจงไทมไลน์ 3 สาวไทยเดินทางจากเมียนมาเข้าไทยติดเชื้อโควิด-19 ยันยังไม่มีหลักฐานว่าเข้าข่ายซูเปอร์สเปรดเดอร์ วอนคนไทยเดินทางกลับประเทศให้ถูกต้องพร้อมกักตัว 14 วัน

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงรายงานการสอบสวนโรคกรณีพบหญิงไทย 2 ราย ที่ลักลอบเดินทางจากเมียนมาเข้าประเทศไทยผิดกฎหมาย ก่อนจะตรวจพบโรคติดเชื้อโควิด-19 ในเวลาต่อมา โดยรายแรกเป็นหญิงอายุ 26 ปี ส่วนรายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 23 ปี รวมถึงรายงานผลการสอบสวนโรคในหญิงไทยอายุ 29 ปี ที่ลักลอบเข้าประเทศมา และตรวจเจอเชื้อโควิด -19 ที่ จ.เชียงใหม่

นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการสอบสวนโรครายแรกเป็นหญิงไทยอายุ 26 ปี ทำงานในสถานบันเทิงแห่งหนึ่งที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ ไอ ทราบว่าเป็นเพื่อนร่วมงานที่สถานบันเทิงกับผู้ป่วยที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 27 พ.ย.ช่วงเข้าเดินทางกลับเข้ามายังประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาตอ พร้อมเพื่อนชาวไทย 1 คน โดยมีผู้นำทางเป็นชาวเมียนมา ซึ่งได้เดินทางกลับเมียนมาไปแล้ว ส่วนหญิงรายดังกล่าวได้เดินทางจากหมู่บ้านต้นทางถึง อ.แม่สาย โดยรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยมีการแวะซื้ออาการที่ร้านอาหารและซื้อน้ำที่ร้านค้าหน้าวัดแห่งหนึ่ง ก่อนเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในอ.แม่สาย โดยมีการ สวมหน้ากากตลอด ทั้งนี้ได้เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เมื่อเวลา 09.00 น.โดยแยกห้องหักกับเพื่อน ต่อมาในเวลากลางคืนได้ออกไปซื้ออาหารที่ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งโดยรถจักรยานยนต์ของพนักงานโรงแรม ก่อนจะกลับเข้าพักที่โรงแรม

กรมควบคุมโรคแจงยิบ3สาวไทยติดโควิดจากเมียนมาหนีเข้าไทย

ต่อมา วันที่ 28 พ.ย.เวลาประมาณ 15.00 น.ได้นั่งรถกรยานยนต์รับจ้างอีกคันจากอ.แม่สาย ไปยังอ.เมือง โดยระหว่างทางได้แวะซื้อของที่ร้านโทรศัพท์ข้างโรงแรมที่พัก จากนั้นเวลา 17.00 น.รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเอกชนหางหนึ่ง แล้วมาขอรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์  โดยเวลา 21.30 น. ได้เข้ารับการรักษาในห้องแยกโรคระบบทางเดินหายใจ จากนั้นวันที่ 29 พ.ย. เวลา 02.00 น.ผลการตรวจแล็บยืนยันพบเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งผลตรวจยืนยันตรงกันกับผลแล็บของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดเชียงราย

สำหรับ หญิงไทยอายุ 23 ปี ที่เดินทางเข้ามาพร้อมกับหญิงไทยอายุ 26 ปี นั้น ก็ได้พักอยู่ที่โรงแรมไม่ได้ไปไหนตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. โดยสั่งอาหารทางออนไลน์ จากนั้นวันที่ 29 พ.ย.เริ่มมีอาการปวดศีรษะ ปวดตามตัว มีน้ำมูก แต่เมื่อทราบผลตรวจของหญิงไทยอายุ 26 ปี ที่เดินทางมาด้วยกัน พบว่ามีการติดเชื้อ ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.แม่สาย จึงมารับตัวจากโรงแรมที่พักส่งเข้าโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อนำเข้าห้องแยกโรค และทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากนั้นวันที่ 30 พ.ย. ผลการตรวจแล็บออกมายืนยันว่าพบเชื้อฯ เมื่อส่งตัวอย่างไปตรวจซ้ำที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงราย อยู่ระหว่างรอผล 

นพ.โสภณ กล่าวว่า สรุปจากเคสผู้ป่วยอายุ 26 ปีมีผู้สัมผัสทั้งหมด 27 ราย โดยเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย เสี่ยงต่ำ 23 ราย ซึ่งผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรายแรกคือเพื่อนหญิงอายุ 23 ปี ที่เดินทางมาด้วยกันตรวจยืนยันเจอเชื้อ และพนักงานโรงแรมที่ขับรถพาผู้ติดเชื้อไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ 1 ราย รอตรวจหาเชื้อ คนขับรถจักยานยนตร์รับจ้างจากหมู่บ้านต้นทางมาที่โรงแรมใน อ.แม่สาย 1 ราย รอตรวจหาเชื้อ และคนขับจักรยานยนต์รับจ้างจากอ.แม่สายไป อ.เมือง และรพ.เอกชน 1 รายผลตรวจไม่พบเชื้อ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ มี 23 ราย คือบุคลากรการแพทย์รพ.เอกชน 13 ราย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 7 ราย แต่สวมอุปกรณ์กัน และคนในชุมชนอีก 3 ราย คือแม่ค้าร้านอาหาร และร้านขายของชำที่แวะระหว่างทางมาโรงแรม 1 ราย พนักงานร้านสะดวกซื้อ 1 ราย พนักงานโรงแรม 1 ราย

"เคสที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหญิงอายุ 29 ปี ที่ลักลอบเข้าเมือง และตรวจเจอโควิดก่อนหน้านี้นั้นพบผู้สัมผัสทั้งหมด 328 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 107 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสในชุมชน 65 ราย ผู้สัมผัสในยานพาหนะอีก 42 ราย  โดยผลตรวจเชื้อโควิดผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 107 ราย ตรวจพบเป็นลบในรอบแรกจำนวน 69 ราย  ทั้งนี้ในกลุ่มเสี่ยงสูงสุด 4 รายที่อยู่ใน 69 รายนั้นครั้งแรกยังไม่พบเชื้อ แต่ต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง ซึ่งตรงนี้ต้องเตือนหลายๆครั้งว่า ยิ่งสูบบุหรี่มวนเดียวกันก็ยิ่งเสี่ยงอีก   ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ  149 ราย  แบ่งเป็นผู้สัมผัสในชุมชน 140 ราย และบุคลากรทางการแพทย์ 9 ราย ผู้สัมผัสอื่นๆอีก 72 ราย  ไม่พบเชื้อ 47 ราย รอติดตามอีก 25 ราย" นพ.โสภณกล่าว  

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเหล่านี้ เสี่ยงจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นเคสที่เชียงรายมีคนสัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย ยังไม่พบการติดเชื้อฯ ที่เหลือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ อีกทั้งเมื่อเข้ามาในโรงแรมแล้วก็ไม่ได้ออกไปไหนมากนัก อยู่ได้หนึ่งวันเศษๆ ก็มาตรวจและเจอเชื้อฯ ก็อยู่ในการรักษาเลย ส่วนหญิง 23 ปี ก็มีเจ้าหน้าที่ไปรับตัวไม่ได้ปะปนกับใคร ความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อต่อไม่มาก แต่ไม่ประมาท จะต้องมีการกักตัวจนครบ 14 วัน สำหรับความเสี่ยงที่จะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์นั้นมี 2 อย่าง คือมีเชื้อเยอะ และอยู่ในที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ เช่น รถบัส สถานบันเทิง เป็นต้น ซึ่งจะแพร่เชื้อจนมีการติดต่อโรค 10 คนขึ้นไป เช่น ที่เคสที่เชียงใหม่มีการไปเที่ยวสถานบันเทิง มีผู้สัมผัส 4 ราย แม้ยังไม่มีหลักฐานว่าเข้าข่ายซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่พฤติกรรมถือว่ามีความเสี่ยงเกิดซูเปอร์สเปรดดิ้ง อีเว้นท์ (superspreading event) เพราะไปเที่ยวสถานบันเทิงไม่รู้ว่ามีการดื่มเหล้าแก้วเดียวกันหรือไม่ แต่มีการสูบบุหรี่มวลเดียวกัน

ด้าน นพ.โอกาส กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงรายได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคในสถานที่ชุมนุมทุกแห่ง การเฝ้าระวังช่องทางเข้าออกประเทศ และสุ่มตรวจพนักงานขับรถชาวเมียนมา ให้มีการสำรวจคนไทยที่ทำงานอยู่ฝั่งเมียนมาว่ามีกี่รายที่อยากกลับประเทศ เพื่อวางแผนรองรับการกลับเข้าประเทศ และการกักตัว การจัดทำคำสั่งมาตรการควบคุมป้องกันโรค โดยคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด พร้อมสั่งการสถานพยาบาล คลินิก ร้านขายยาให้เฝ้าระวังการเจอผู้ป่วยปอดบวม หรือคนมาซื้อยารักษาไข้หวัดจำนวนมากให้ต้องรายงาน ส่วนที่เชียงใหม่ก็ดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันโรคค่อนข้างดี ส่วนที่โรงเรียนเอกชนสั่งปิดเรียนนั้น ถือว่าเป็นมาตรการที่เกินความจำเป็น ทราบว่าผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ได้เข้าไปทำความเข้าใจแล้ว นอกจากนี้จากการสำรวจล่าสุด ยังพบว่าชาวเชียงใหม่มีการสวมหน้ากากอนามัยเพิ่มมากขึ้น เช่น ที่ ตลาดสดสันกำแพง ใส่หน้ากากอนามัย 95% ห้างเซ็นทรัลแอร์พอร์ต และบิ๊กซีดอนจั่น ใส่ 90% วัดสันก้างปลา อ.สันกำแพง ใส่ 100%  ส่วนที่วัดพระสิงห์ สวม 80%  ซึ่งขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องขอความร่วมมือบริเวณชายแดน ทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม สถานประกอบการ สถานบันเทิง  กิจการร้านค้าต่างๆ หากพบเห็นบุคคลเข้ามาและเข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ ไม่ได้ผ่านการกัก หากพบเบาะแสให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทันที ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจะออกคำสั่ง ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดตามมาตรา 31 ของพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ส่วนตัวผู้ลักลอบก็มีความผิดเช่นกัน ดังนั้น ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการเข้ามาและกักตัว 14 วันเท่านั้นเอง คนในครอบครัวที่กลับมาก็ต้องแจ้งให้ทราบเช่นกัน

"สำหรับกรณีที่มีการนำเสนอทางโซเชียลมีเดียว่ามีการจับกุมคนไทย 4 ราย ที่ลักลอบเข้าประเทศไทยโดยข้ามมาจากเมียวดี และมีการนำสถานการณ์มาปะปนกับเคสผู้ป่วยที่จังหวัดเชียงรายนั้น ขอยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่เป็นเคสที่ลักลอบเข้ามาเหมือนกัน ซึ่งต้องได้รับการตรวจเชื้อ กักตัวและอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่เช่นกัน นอกจากนี้ขอย้ำว่าการเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดโควิดนั้น เท่ากับมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ขนาดที่ลักลอบเข้ามา 2 รายยังตรวจเจอเชื้อทั้ง 2 ราย ดังนั้นขอคนไทยอย่าลักลอบเข้ามา แต่ขอให้มาตามกฎหมาย ซึ่งคนไทยเข้าไทยไม่ต้องขอสถานทูต แค่ประทับตราที่ด่านไม่ต้องตรวจเชื้อก่อนเดินทาง แต่เข้ามาแล้วต้องกักตัว 14 วัน"นพ.โอภาสกล่าว