posttoday

เปิดความจริงภาษีของในหลวงที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง

27 พฤศจิกายน 2563

พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีไม่ทรงรับเงินปีที่รัฐบาลถวายพระองค์ปีละ60ล้านบาทและทรงได้รับสิทธิ์อันชอบธรรมในการดูแลพระราชมรดกแห่งพระราชวงศ์จักรี

เพจโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เผยบทความของผช.ศ. ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิตประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)เกี่ยวกับ12ความจริงของภาษีกับความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

12 ความจริงของภาษี...ที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง

1. ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์อันเป็นพระราชมรดกตกทอดได้ถูกแยกขาดออกจากทรัพย์สินของแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ให้ปะปนกันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงปฏิวัติสยาม โปรดให้เลิกทาส ทรงให้คนสยามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและโฉนดที่ดินได้ ทรงให้แยกพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ออกจากทรัพย์สินแผ่นดินอย่างเด็ดขาด

2. ทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือทรัพย์สินพระราชมรดกของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นเป็นการเฉพาะ ครับ ราชสกุลมหิดล มีทรัพย์สินส่วนพระองค์เยอะ เพราะสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ย่าของในหลวง ร.9 ทรงเป็นคนประหยัด ค้าขายเก่ง ขยัน จนรัชกาลที่ 5 ตรัสเสมอว่า แม่กลางร่ำรวย สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงขยันทำนา ทำโรงสีข้าว ทอผ้าไหม (ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อาจจะทรงดำเนินรอยตามสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็เป็นได้) อย่างเช่นที่ดินหมู่บ้านสัมมากรที่รามคำแหงก็เกิดจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จทางเรือไปตามคลองแสนแสบเพื่อทรงหาซื้อที่ดินเพื่อการทำนา และต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ก็ทรงนำมาจัดสรรให้ประชาชนที่มีสัมมาชีพมีรายได้ไม่มากนักได้มีโอกาสเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ในราชสกุลมหิดลทั้งสิ้น

พระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและราชสกุลมหิดล ฉายที่วังสระปทุม จากซ้าย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร บนพระพาหาสมเด็จย่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

3. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือ พระราชมรดกตกทอดแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์และย่อมจะสืบทอดต่อไปยังพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ถัดไปในอนาคต เป็นพระราชทรัพย์ของราชวงศ์จักรี หาได้เป็นทรัพย์ของแผ่นดินไม่ที่มาของพระราชทรัพย์นี้ที่สำคัญที่สุดคือเงินถุงแดง อันเกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่งสำเภาไปค้าขาย ได้เงินตราต่างประเทศมาเท่าไหร่ก็ทรงใส่ถุงแดงตีตราครั่งวางไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม แต่ทรงค้าขายดีมีกำไรมากจนต้องมีห้องเก็บเงินถุงแดงเป็นการเฉพาะ เกิดคำว่าพระคลังข้างที่ (พระบรรทม) ขึ้นมา และเงินถุงแดงนี้ก็ได้ใช้กู้ชาติบ้านเมืองเมื่อคราวเกิดวิกฤติการณ์ รศ. 112 ที่พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงใช้เงินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเก็บไว้ให้พระเจ้าแผ่นดินในอนาคตทรงกู้บ้านกู้เมืองให้ชาติไทยมีเอกราช จนทุกวันนี้ (และคนไทยยังไม่ได้ใช้หนี้เหล่านี้ถวายคืนพระบรมราชจักรีวงศ์เลยแม้แต่น้อย) นี่คือที่มาของคำว่าพระคลังข้างที่ (คือข้างที่พระบรรทม)เงินถุงแดงข้างแท่นพระบรรทม เป็นเงินเหรียญนก ทำจากทอง ของเม็กซิโกพระคลังข้างที่ มีส่วนผลักดันเศรษฐกิจไทยอีกมาก เช่น การก่อตั้งกิจการธนาคารในประเทศไทย คือธนาคารสยามกัมมาจล ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมา คือธนาคารไทยพาณิชย์ ในปัจจุบัน ก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัด เพื่อผลิตซิเมนต์ใช้เองในการพัฒนาประเทศ เตาเผาปูนแห่งแรกคือที่บางซื่อเป็นเตาเผาเปียก ใช้ดินขาวที่ขุดได้ที่บางซื่อเองเผาปูนซิเมนต์ กิจการทั้งสองคือธนาคารไทยพาณิชย์และเครือซิเมนต์ไทยเติบโตเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างหุ้นปูนซิเมนต์ไทยมีมูลค่ามากกว่าร้อยเท่าตัวนับแต่วันที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทบจะเป็นหุ้นไทยเพียงไม่กี่ตัวที่มีมูลค่าตั้งแต่เข้าตลาด (Value since its inception) เกินกว่าร้อยเท่าในอดีตกรมพระคลังข้างที่ดูแลทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ ต่อมากลายเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันคือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และพระคลังข้างที่ สังกัดสำนักพระราชวัง

4. ทั้งนี้พระราชอำนาจในการจัดการพระราชทรัพย์ของพระเจ้าแผ่นดิน ได้ถูกปล้นไปโดยคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เอาที่ดินขายให้พวกตัวเองกันในราคาถูก ๆ เอาเข้ากระเป๋าตัวเอง จนทุกวันนี้ ลูกหลานของขุนนิรันดรชัย ยังฟ้องร้องแย่งชิงมรดกที่ดินแปลงงามที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ไปปล้นซื้อมาราคาถูกแสนถูกจากกรมพระคลังข้างที่ แล้วก็มาลิดรอนพระราชอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ โดยการออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับ พ.ศ.2479 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลรักษาการ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับ พ.ศ.2484 ให้กระทรวงการคลังดูแล และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ส่วนพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับ พ.ศ.2491 ให้มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยตำแหน่ง ทั้งหมดนี้เป็นการลิดรอนสิทธิในการถือครองทรัพย์อันเป็นพระราชมรดก และการลิดรอนพระราชอำนาจตลอดจนสิทธิส่วนบุคคลในการถือครองทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ เพราะคณะราษฎรไม่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจใด ๆ เลย การยึดพระราชทรัพย์ทั้งหมดของพระเจ้าแผ่นดินกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาได้ จะทำให้พระเจ้าแผ่นดินทรงงานใด ๆ ไม่ได้เลยใช่หรือไม่ เพราะไม่มีพระราชทรัพย์ที่จะทรงงาน และที่จะพระราชทานให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสาธารณะเลยใช่หรือไม่?ทั้งหมดนี้พูดง่าย ๆ คือไม่ต้องการให้พระเจ้าแผ่นดินทรงงาน เพราะกลัวพระเจ้าแผ่นดินจะมีพระราชบารมี และทำให้พวกตนอันมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองไปเป็นระบอบสาธารณะ ทำได้ยากมาก จะทำให้ล้มเจ้าได้ยากมาก ใช่หรือไม่?

จอมพลแปลก พิบูลสงคราม คณะราษฎร นายกรัฐมนตรีผู้ลิดรอนพระราชอำนาจในการจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์และพระมหากษัตริย์ ตราประจำตัวจอมพลป. พิบูลสงครามคือตราไก่ (เพราะจอมพล ป. เกิดปีระกา) เอาตีนไก่เหยียบคีบคฑาจอมพลพระครุฑพ่าห์ (อันเป็นสัญลักษณ์แห่งองค์จอมทัพไทยและพระครุฑพ่าห์ คือตราแผ่นดิน)

5. พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2560 และ 2561 ทั้งทรัพย์สินส่วนพระองค์ (พระเจ้าแผ่นดินในฐานะตัวบุคคล) และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (พระเจ้าแผ่นดินในฐานะสถาบันพระมหากษัตริย์) ดูแลจัดการโดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่เปลี่ยนมาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งกรรมการสำนักงานได้ตามพระราชอัธยาศัย

ทำให้ทรงจัดการพระราชทรัพย์ได้สะดวกและเป็นประโยชน์ได้ง่ายขึ้น

ทำให้ทรงเสียภาษีอย่างถูกต้องได้ทั้งหมด

ทำให้ทรงได้รับสิทธิ์อันชอบธรรมในการดูแลพระราชมรดกแห่งพระราชวงศ์จักรี

ทำให้ทรงงานและทรงใช้พระราชทรัพย์ในการทรงงานเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน สืบสาน ต่อยอด พระราชดำริแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้

ตัวอย่างหนึ่งคือ การที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินมากมายที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นสาธารณประโยชน์ และทรงยกให้หน่วยราชการจำนวนมาก โดยที่ไม่ทรงเสียดายพระราชทรัพย์แต่ประการใดเลยมีมูลค่านับหลายแสนล้านบาท ไม่ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและราชการหรือ?

6. สำนักงานพระคลังข้างที่ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยังคงดำรงอยู่ในฐานะหน่วยงานเล็กๆ ในสำนักพระราชวัง ปัจจุบันอยู่ในสังกัด กรมบังคับการสำนักพระราชวัง มีหน้าที่ดูแลเงินปีเจ้านายทุกพระองค์ ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปที่พระราชทาน ยังคงมีที่ดินให้เช่าอยู่บ้าง ดูแลมูลนิธิอานันทมหิดล ดูแลผลประโยชน์ของมรดกพระบรมวงศานุวงศ์แต่ละพระองค์ หรือกล่าวง่ายๆ ว่า สำนักงานพระคลังข้างที่ ไม่ได้ดูแลทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์แล้ว แต่ดูแลทรัพย์สินพระราชมรดกของพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนกิจการด้านการเงินอื่นๆ

7. ส่วนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (ปัจจุบันกระทรวงการคลัง) ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน เช่น กรมธนารักษ์ ดูแลที่ราชพัสดุ เป็นต้น แต่สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ก็ดูแลทรัพย์สินแผ่นดินอันเป็นสาธารณสมบัติของชาติที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชวงศ์จักรีด้วย อันได้แก่ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค พระบรมโกศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเครื่องยศ เป็นต้น

8. เดิมทีที่ดินทุกหย่อมหญ้าในประเทศไทยย่อมเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน อันหมายความว่าทรงเป็นพระผู้ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาต่อประชาชน อยากให้ประชาชนได้มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง จึงโปรดให้ตั้งกรมที่ดินและกรมแผนที่ขึ้น ทรงจ้างฝรั่งสองคนมาเป็นอธิบดีกรมที่ดิน (มิสเตอร์ดับบลิว เอ. เกรแฮม) และอธิบดีกรมแผนที่ (เฮนรี่ อาลาบาสเตอร์) ต้นตระกูลเศวตศิลา เพราะไทยเรายังทำแผนที่และรังวัดที่ดินไม่เป็น

ที่ราชพัสดุเป็นที่ของราชการ ดูแลโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

ที่ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และที่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ดูแลโดย กรมพระคลังข้างที่ หรือปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ที่ดินพระราชมรดกของพระบรมวงศานุวงศ์ ดูแลโดยสำนักงานพระคลังข้างที่ กรมสนับสนุน สำนักพระราชวัง

ที่เฉพาะของหน่วยราชการอื่นๆ ที่เวนคืน มาเป็นกรรมสิทธิ์ ได้แก่ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นต้น

ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ที่ราชพัสดุ อย่างที่นายสุรชัย ชัชวาลพงษ์พันธ์ พยายามบิดเบือน เป็นคนละส่วนกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ควรไปศึกษาประวัติศาสตร์มาให้ถูกต้องเสียก่อน

9. พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีไม่ทรงรับเงินปีที่รัฐบาลถวายพระองค์ละ 60 ล้านบาทต่อปี มาตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์และสถาปนา

10. สำนักพระราชวัง ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเฉพาะหมวดค่าจ้างเงินเดือน หมวดค่าดำเนินการ และหมวดค่าสาธารณูปโภค

พระเจ้าอยู่หัวทรงห้ามสำนักพระราชวังตั้งของบพัสดุ ครุภัณฑ์ และงบอื่นใดๆ จาก สำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง ทั้งๆ ที่ทรงตั้งงบประมาณได้ เช่นเดียวกันกับหน่วยราชการอื่นๆ แต่ทรงไม่โปรดให้ทำเช่นนั้น

การตั้งเบิกต้องตั้งฎีกาไปที่กรมบัญชีกลางเช่นเดียวกันกับกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ ทุกประการ ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกรายการที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับประชาชนทุกคน ข้าราชการในสำนักพระราชวังแทบทุกคนที่ต้องซื้อของจะมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของสำนักพระราชวังเพื่อขอใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มแบบเต็มรูปแบบ หากต้องซื้อของและตั้งฎีกาเบิกเงิน

งบประมาณสำนักพระราชวังนี้ ประเทศต่าง ๆ ที่ปกครองด้วยระบอบ Constitutional monarchy ทั่วโลก ก็ต้องมีงบประมาณในส่วนนี้เหมือนกันทั้งโลก และรัฐบาลก็จัดถวายทุกประเทศทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น the Imperial Household Agency ของประเทศญี่ปุ่น Royal Households of the United Kingdom ของสหราชอาณาจักรปัจจุบันสำนักพระราชวังมีบุคลากรทั้งสิ้นประมาณหนึ่งหมื่นคน และได้รับงบประมาณปีละหกพันแปดร้อยล้านบาท ซึ่งไม่ได้ถือว่ามากแต่อย่างใดจำนวนอัตราข้าราชการในสำนักพระราชวังถูกควบคุมและจำกัดโดยกฎเกณฑ์ของสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ) เช่นเดียวกับทุกกระทรวง ทบวง กรม

11. พระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินท้ายที่นั่งอันเป็นดอกผลและกำไรแห่งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แบ่งออกเป็นบัญชีแม่บ้าน 1 และบัญชีแม่บ้าน 2 เพราะใช้ประโยชน์วัตถุประสงค์ต่างกัน และทรงใช้อย่างประหยัดมาก เช่น

- ไม่มีการให้ข้าราชการสำนักพระราชวังเบิกค่าล่วงเวลา

- การจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงข้าราชการสำนักพระราชวัง เป็นไปตามอัตราที่ทางราชการกำหนด หากไปทำงานในจังหวัดหรือท้องที่ใดๆ ที่มีการจัดที่พักของทางราชการให้หรือมีการเลี้ยงอาหารพระราชทาน ไม่ทรงให้เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงใดๆ ทั้งสิ้น

- ห้ามมีรถประจำตำแหน่ง แม้กระทั่งองคมนตรีก็ไม่มีรถประจำตำแหน่ง มีรถหลวงให้เรียกใช้บริการเป็นส่วนกลางทุกคน มีรถพระประเทียบกลางสำหรับองคมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในการไปทำงานแทนพระองค์

- การจะขอซื้อพัสดุหรือครุภัณฑ์ใดๆ ในสำนักพระราชวัง ใช้เงินท้ายที่นั่งที่ทรงออกเอง ต้องกราบบังคมทูลพระกรุณา ทำให้ทุกคนพยายามประหยัดให้มากที่สุด

12. พระเจ้าอยู่หัวทั้งยังทรงใช้จ่ายเงินท้ายที่นั่งเพื่อกิจการอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอยู่เนืองๆ เป็นจำนวนมาก แม้เงินงบประมาณของสำนักพระราชวังขาดไปก็ทรงจ่ายเอง

หากสังเกตอินทรธนูของพนักงานสำนักพระราชวัง ที่ปัก ตัว ททน อันย่อมาจาก ท้ายที่นั่ง ให้พึงทราบว่าเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานสำนักพระราชวังผู้นั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จ่ายเองในการว่าจ้างพนักงานคนนั้น

อินทรธนู ททน ภายใต้พระมหามงกุฎ เครื่องหมายของสำนักพระราชวัง ตัวเลขข้างใต้ตัวอักษร ททน คืออายุราชการของผู้ใส่อินทรธนู ททน คำว่า ททน ย่อมาจาก เงินท้ายที่นั่ง อันเป็นเงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงออกค่าจ้างเงินเดือนเอง

[ #ความจริง เกี่ยวกับ #ภาษี ] . แอดมินได้มีบทความดีๆ เกี่ยวกับภาษีมาเล่าสู่กันฟัง โดยได้นำมาทำเป็น Infographic สรุปสั้นๆ...

โพสต์โดย โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2020