posttoday

ผลโพลเผยประชาชนร้อยละ 90 เชื่อมั่นขั้นตอนการบังคับคดี

05 ตุลาคม 2563

กรมบังคับคดีจับมือซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจและวิจ้ยพบประชาชนร้อยละ 90 เชื่อมั่นขั้นตอนการบังคับคดี ช่วยเจ้าหนี้ได้เงินคืน-ลูกหนี้ได้หลุดพ้นจากหนี้

นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เชื่อมั่น บังคับคดี กรณีศึกษากลุ่มผู้ใช้บริการและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 3,458 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 ส.ค. – 4 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อถามกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น กลุ่มลูกหนี้ กลุ่มเจ้าหนี้ และผู้มาใช้บริการอื่น ๆ ต่อประโยชน์ต่าง ๆ ในกระบวนการบังคับคดี จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ประโยชน์ในการช่วยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้และลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ 8.74 คะแนน รองลงมาคือ เปิดโอกาสให้เข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ได้ 8.55 คะแนน

ผลโพลเผยประชาชนร้อยละ 90 เชื่อมั่นขั้นตอนการบังคับคดี

เมื่อถามถึง การมาใช้บริการกระบวนการบังคับคดีมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 40.3 ใช้บริการบังคับคดีแพ่ง รองลงมาคือ ร้อยละ 17.9 ใช้บริการประมูลซื้อทรัพย์ การขายทอดตลาด ร้อยละ 13.9 ใช้บริการบังคับคดีล้มละลาย ร้อยละ 13.5 ใช้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี แต่ที่น่าพิจารณาคือ การพบเห็นจริงจากการใช้บริการในกระบวนการบังคับคดี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.3 พบเห็นเจ้าหน้าที่ยึดหลักกฎหมายในการดำเนินการและการบริการ และที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.2 เชื่อมันต่อกระบวนการบังคับคดีภาพรวม

นางอรัญญา กล่าวว่า กรมบังคับคดีให้สำนักวิจัยซูเปอร์โพลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ พบว่าความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วนดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาทุกตัวชี้วัด โดยเฉพาะผลลัพธ์ของการศึกษาที่ออกมาสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาล เช่น การให้บริการที่เป็นธรรมอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ การลดขั้นตอนให้บริการผ่านเทคโนโลยีช่วงวิกฤตโควิด-19 การช่วยเสริมสร้างการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ และทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ รวมถึงทำให้ทรัพย์สินต่าง ๆ เข้าสู่ระบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยังทำให้เกิดความง่ายในการลงทุนของนักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ