posttoday

ประชาชนลุ่มน้ำโขงพบธปท.ค้านแบงก์ไทยปล่อยกู้สร้างเขื่อนหลวงพระบาง

27 กันยายน 2563

ธปท.นัดภาคประชาชนแม่น้ำโขงแจงเหตุ 6 แบงก์ไม่ควรปล่อยกู้สร้างเขื่อนหลวงพระบาง เผยผลร้าย 5 ข้อผลกระทบข้ามแดนมหาศาล สวนทางความต้องการไฟฟ้าในประเทศที่ลดฮวบ

เมื่อวันที่ 27 ก.ย.นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และผู้แทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัวแทนภาคประชาชนเครือข่ายแม่น้ำโขงได้มีการประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหารือถึงข้อกังวลต่อแนวโน้มการให้เงินกู้ต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และปรึกษากับผู้แทนธนาคารต่างๆโดยมีผู้แทนจากธปท. และธนาคารพาณิชย์อีก 6 แห่งเข้าร่วม

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ และแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ได้นำเสนอเหตุผล 5 ประการ ที่ธนาคารไทยไม่ควรปล่อยกู้ให้แก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งจะกั้นแม่น้ำโขงในสปป. ลาวคือ1. ไม่มีความจําเป็นใดๆ ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งใหม่ เนื่องจากปัจจุบันปริมาณสํารองไฟฟ้าของประเทศพุ่งทะลุ 50% ไปแล้วในช่วงโควดิ-19 ปริมาณไฟฟ้าสํารองเกิน 10,000 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับเขื่อนหลวงพระบาง 6.8 เขื่อน ซึ่งมีข่าวว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กําลังพิจารณายกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ

ประชาชนลุ่มน้ำโขงพบธปท.ค้านแบงก์ไทยปล่อยกู้สร้างเขื่อนหลวงพระบาง

2.มีความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงมาก ผลกระทบบางด้านมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าเขื่อนไซยะบุรี เช่น ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว ความเสี่ยงต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง แต่บริษัทเจ้าของโครงการไม่มีการประเมินความเสี่ยงเพียงพอ เช่น ไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่คํานึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ฯลฯ 3.ผลการปรึกษาหารือล่างหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงที่ 4 ประเทศสมาชิกลงนาม ทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้เรียกร้องให้ทำการศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนและ ผลกระทบสะสม 4.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งขณะนี้เจ้าหนี้ของลาว 50% คือจีน 5.ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มเติมจากการที่ประเทศลาวถูกลดอันดับเครดิต Moody’s รวดเดียว 2 ขั้น จาก B3 เป็น Caa2 (ระดับ junk bond)

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า การพบกับธปท.และธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แแห่ง เพื่อให้ธนาคารได้รับทราบผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วกับแม่น้ำโขง และหาแนวทางร่วมกัน ในการที่จะปกป้องแม่น้ำโขง การให้สินเชื่อต้องมีธรรมภิบาล ตามแนวทางการธนาคารที่ยั่งยืน (sustainable banking) โดยหวังว่าธนาคารต่างๆ จะปรับมาตการในการพิจารณาการใหสินเชื่อแก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งในการประชุมตนได้นำเสนอว่า วันนี้ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว ความเสี่ยงด้านสังคมสิ่งแวดล้อม กรณีเขื่อนไซยะบุรี บริษัทไม่เคยทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งหมดนี้ยังคงมีความเสี่ยง และมากขึ้นที่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง เพราะเป็นเมืองมรดกโลก

นอกจากนี้ geo-political risk ของสปป.ลาว คือ ขณะนี้จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสปป.ลาว มีความเสี่ยงที่จะจ่ายเงินกู้คืนให้แก่เจ้าหนี้ไม่ได้ จีนอาจจะเข้ามาจัดการระบบสายส่งไฟฟ้าและเขื่อนต่างๆ ในสปป.ลาว อยากตั้งคำถามว่าทำไมธนาคารไทยจึงอยากเข้าไปในสถานการณ์เช่นนี้ อยากให้ธนาคารพิจารณาทบทวน นอกจากนี้ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ได้นำเสนอว่าโครงการเขื่อนหลวงพระบางไม่มีการศึกษา climate change ซึ่งสมาคมเขื่อนนานาชาติ (IHA) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเขื่อน ได้ทำคู่มือที่ระบุว่า การเลือกพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนที่มีเสี่ยง ต้องใช้ climate change model มาเริ่มในการพยากรณ์ผลตอบแทนการลงทุน แต่เราไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ เท่าที่เห็นมีเพียงบริษัทก่อสร้าง ทำหน้าที่ในการให้เกิดการก่อสร้าง แต่ไม่คำนึงถึงการใช้งานและบริหารเขื่อน (operate) ว่าเป็นการผลิตไฟฟ้าที่คำนึงถึงอุทกศาสตร์ hydrological model มากแค่ไหน

ประชาชนลุ่มน้ำโขงพบธปท.ค้านแบงก์ไทยปล่อยกู้สร้างเขื่อนหลวงพระบาง

“ในฐานะประชาชน มองการใช้ประโยชน์แม่น้ำ วิธีคิดยังมองไม่ชัด คนจำนวนหนึ่งบอกว่า ปล่อยน้ำไหลลงทะเลเปล่า ๆ นี่เป็นวิธีคิดที่แคบมาก น้ำในแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล ให้ประโยชน์กับโลก สร้างความชุ่มชื่น รักษาระบบนิเวศ ประโยชน์แก่มนุษย์ในการประมง เกษตร จนปัจจุบันนี้เราพบว่าการสร้างเขื่อน ไม่ใช่แหล่งพลังานที่สะอาดอีกแล้ว โครงการเขื่อนหลวงพระบางจะสร้างผลกระทบชัดเจนต่อแม่น้ำโขง ระหว่างเชียงของ จ.เชียงรราย ถึงหลวงพระบาง แม่น้ำโขงบริเวณนี้มีการศึกษาโดยบริษัท ICEM พบว่าระบบนิเวศย่อยมากมาย มี deep pools จุดที่แม่นน้ำโขงลึกถึง 90 เมตร จำนวน 7 แห่ง มีแม่น้ำสาขา 33 สาย หากมีเขื่อนหลวงพระบางทุกอย่างจะจมใต้น้ำ กระบวนการ PNPCA ของโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ไม่มีการปรึกษาหารือกับคนเหนือเขื่อน ที่เชียงราย เราต้องศึกาษาจากกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่ทุกวันนี้ยังตอบคำถามไม่ได้ แม่น้ำโขงเสียหายเอากลับคืนมาไม่ได้ หวังว่าธนาคารจะเห็นปัญหาและพิจารณาการให้กู้เขื่อน อย่างมีธรรมาภิบาล” นายนิวัฒน์ กล่าว

นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความของเครือข่ายฯ และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) ซึ่งเข้าร่วมการประชุมด้วย กล่าวว่า ตนได้นำเสนอกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่มีการฟ้องศาลปกครอง ซึ่งเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นฟ้องว่าโครงการเขื่อนจะเกิดผลกระทบ หากเป็นภาคเอกชน คดีแพ่ง ที่ศาลยุติธรรม ไม่สามารถฟ้องเพื่อป้องกันได้ คดีนี้ได้ฟ้องกฟผ.ที่ไปทำสัญญาซื้อไฟฟ้า (PPA) ในชั้นแรกศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง แต่ต่อมาศาลปกครองสูงสุดรับฟ้อง และมองว่ากรณีเขื่อนไซยะบุรี เป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมาถึงราชอาณาจักรไทย การดำเนินการสัญญาซื้อไฟฟ้าเป็นเรื่องในประเทศ ประเทศไทยแม้ไม่มีกฎหมายข้ามพรมแดน แต่ศาลก็พยายามหาช่องว่าจะคุ้มครองข้ามพรมแดนได้อย่างไร

“โครงการเขื่อนหลวงพระบาง แม้โครงการนี้มีบริษัทเอกชนไทยเข้าไปลงทุน แต่ไม่สามารถขอข้อมูลได้ อ้างว่าเป็นความลับทางการค้า คำถามคือ เราจะอย่างไรที่ภาคทุน ทั้งธนาคารพาณิชย์ จะเกิดความรับผิดชอบ และขณะนี้ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR) ก่อนหน้านี้คณะกรรมารสิทธิมนุษยชนแก่งชาติ (กสม.) มีการตรวจสอบโครงการเขื่อนไซยะบุรี บริษัทบอกว่าทำตามกฎหมายของลาว แต่เวลานี้ต้องทราบว่า กฎหมายลาวระบุแล้วว่าให้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน แต่การบังคับใช้และคุณภาพของรายงานการศึกษาก็ยังเป็นถูกตั้งคำถามอยู่ และการธนาคารที่ยั่งยืนจำเป็นต้องมีหลักการในการป้องกันผลกระทบ หรือ precautionary principle” นางสาว ส.รัตนมณี กล่าว