posttoday

แฉบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเพิ่มกลยุทธ์หวังดึงนักสูบหน้าใหม่

13 กันยายน 2563

ระดมสมองต้านนักสูบหน้าใหม่พร้อมแนะทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพที่แข็งแรงหลังเลิกสูบบุหรี่โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)ชวนช่วยเลิกบุหรี่ และโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ภายใต้สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการ “ธรรมศาสตร์เพื่อสังคมไทยไร้ควันบุหรี่ปกป้องเยาวชนและคนรุ่นใหม่จาก “นิโคติน” หรือ TU No Tobacco” โดยมี ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการ ศจย. เป็นประธานเปิดงาน

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการ “ธรรมศาสตร์เพื่อสังคมไทยไร้ควันบุหรี่ : ปกป้องเยาวชนและคนรุ่นใหม่จากนิโคติน” ถึงการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนในการป้องกันการสูบบุหรี่ว่า ที่ผ่านมาบริษัทยาสูบพยายามวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้มีเด็กและเยาวชน เข้ามาเป็นนักสูบบุหรี่หน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง จากเอกสารลับที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาจากสหรัฐ พบว่า บริษัทเหล่านี้ได้พยายามเพิ่มพลังสัญลักษณ์ทางจิตวิทยา และมองว่าวัยรุ่นสูบบุหรี่ในวันนี้ คือลูกค้าที่สูบบุหรี่ประจำในอนาคต พร้อมดึงดูดผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่และพัฒนาให้กลายเป็นแฟรนไชส์วัยผู้ใหญ่ เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมบุหรี่ ซึ่งต้องทำทุกวิถีทางให้บริษัทอยู่รอดและประสบความสำเร็จในระยะยาวในการได้รับส่วนแบ่งจากตลาดเยาวชน

แฉบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเพิ่มกลยุทธ์หวังดึงนักสูบหน้าใหม่

ทั้งนี้ บริษัทบุหรี่ ได้เพิ่มกลยุทธ์ด้วยการเพิ่มรสชาติและสีสันของบุหรี่มากกว่า 15,000 ชนิดพร้อม ๆ กับการผลักดันการตลาดในสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงวัยรุ่นเล่นจำนวนมาก ขณะเดียวกันในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ก็พบประเด็นแนวทางการตลาด CSR ของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ และให้ข้อมูลความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันข้อมูลจากปี 2561 ในสหรัฐพบว่า อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 1.5 ไปสู่ร้อยละ 20.8 และกว่าร้อยละ 78 อยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน 

“องค์การอนามัยโลกมีข้อเสนอสำหรับการลดผู้สูบบุหรี่ลงคือ ต้องหักล้างความเชื่อผิด เปิดเผยกลวิธีของอุตสาหกรรมยาสูบที่มุ่งเป้าไปยังเยาวชน พร้อมสร้างคนหนุ่มสาวให้เห็นถึงความสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนี้ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการรับรู้ด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจให้กับสังคมให้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงหลังจากการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในการปกป้องสุขภาพของตนเองจากบริษัทบุหรี่ด้วย” ดร.วศิน กล่าวย้ำ

ขณะที่ ผศ.ดร.วรรณภา นาราเวช อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวว่า กลุ่มเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง ต้องได้รับการช่วยเหลือให้เลิกสูบบุหรี่ไม่ต่างจากในสถานศึกษา ซึ่งจากการวิจัยในสหรัฐพบว่า วัยรุ่นที่ได้รับสารนิโคติน มีกลไกผลต่อการเปลี่ยนการทำงานของสมองระยะยาว พร้อมกระตุ้นให้เกิดการเสริมแรงให้รางวัลตนเองด้วยการใช้ยาสูบ นำไปสู่สารเสพติดแบบอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น เด็กที่เสพนิโคติน จะเลิกยากกว่าผู้ใหญ่ และหากขาดสารนิโคตินแล้วก็จะส่งผลให้เกิดความก้าวร้าวมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มเด็กและวัยรุ่นถือเป็นประตูไปสู่การเสพติดในรูปแบบอื่น ๆ ได้ ดังนั้นการให้ความสำคัญในเรื่องของการปิดกั้น ไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงนิโคตินได้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถือเป็นบันไดขั้นแรกก่อนนำไปสู่การเสพยาเสพติดรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ค้นหาคำว่า "e-cigarettes" ในกูเกิ้ลพบว่ามีอยู่ในเว็บไซต์ถึง 126 ล้านรายการ ส่วนคำว่า "บุหรี่ไฟฟ้า"อยู่ที่ 9 ล้านครั้ง และพบคลิปในสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีการสอนใช้บุหรี่ไฟฟ้าด้วยคำที่เข้าใจง่าย และทำตามได้ พร้อมกับมีการขายน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าพร้อม ๆ กับการขายผลิตภัณฑ์โปรโมชั่นต่าง ๆ สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้  

แฉบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเพิ่มกลยุทธ์หวังดึงนักสูบหน้าใหม่

อย่งไรก็ตาม กลุ่มเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา จะมีเวลาอยู่กับกลุ่มเพื่อน ทำให้ถูกชักจูงได้ง่าย และอาจจะนำไปสู่การสูบบุหรี่ เพราะใช้เวลาสังคมอยู่ในกลุ่มเพื่อนเป็นเวลานานมาก มีพฤติกรรมการเวียนสูบ และเข้าถึงข้อมูลที่ส่งเสริมให้เกิดการสูบได้ง่าย ทำให้ประเด็นนี้มีความน่าเป็นห่วงมาก ดังนั้นกรอบการสร้างสังคมปลอดยาสูบ ควรเริ่มตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงชุมชนและสังคม โดยการส่งเสริมความรู้เท่าทันบุหรี่ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ในการสร้างสุขภาวะให้เกิดการปลอดบุหรี่ในชุมชน ซึ่งมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นร่ม ในการสร้างพลังและแรงบันดาลใจ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบปลอดบุหรี่ โดยมีแกนนำนักศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นในการให้ข้อมูลที่เข้าใจง่ายแก่ชุมชน ประกอบกับวิชาที่สอนในมหาวิทยาลัยที่สอดแทรกอันตรายของนิโคติน หรือความรู้ในการเกิดนโยบายสาธารณะเพื่อลดการสูบบุหรี่ได้ พร้อมกับผลิตสื่อในการสร้างการรู้เท่าทันต่อการสูบบุหรี่ 

สำหรับ กิจกรรมครั้งนี้ มีตัวแทนนักศึกษามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า โดย น.ส.พร้อมพร พันธุ์โชติ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลายคนยังมีความเข้าใจว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทดแทนบุหรี่ธรรมดาได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ใช่ ที่ผ่านมาได้หารือกับหลายฝ่าย โดยมีข้อเสนอแนะในการแยกสัดส่วนของพื้นที่ระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่กับไม่สูบบุหรี่ในเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น พร้อมกับการให้ความรู้ผ่านงานต่าง ๆ โดยในอนาคตจะมีกิจกรรม TU Health Fair โดยอาจจะจัดตั้งบูธคลินิกให้คำปรึกษาเพื่อเลิกสูบบุหรี่ในงานด้วย พร้อมให้ความรู้ทางสุขภาพและส่งเสริมการให้ความรู้ผ่านสองคำคือ "ปลุก" กับ "ปลูก" โดยคำว่าปลุก คือการปลุกจิตสำนึกในการเลิกสูบบุหรี่ และคำว่าปลูก คือการปลูกความรู้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเลิกบุหรี่ให้มากขึ้น

นายศุภวิชญ์ สันทัดการ นายกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะให้ความสำคัญในการปกป้องสิทธิของนักศึกษาจากผลกระทบของการสูบบุหรี่ และเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเลิกบุหรี่ได้อย่างตรงจุดที่สุด คือการให้ความรู้ เพราะที่ผ่านมายังมีหลายคนที่มีความเข้าใจผิดต่อบุหรี่ไฟฟ้าอยู่มาก พร้อมฝากทิ้งท้ายว่าการที่จะลดละเลิกพฤติกรรมที่ทำมาเป็นเรื่องยาก แต่ก็พร้อมเป็นกำลังใจที่จะปรับพฤติกรรมใหม่ และไม่อยากให้ปิดกั้นตนเองในการรับความรู้เพื่อปรับพฤติกรรมนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าด้วย

ขณะที่ น.ส.วัชนันท์ นันทผาสุก พิธีกรจาก TUTV ที่เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้นักศึกษาเลิกสูบบุหรี่ผ่านสื่อต่าง ๆ มาโดยตลอด เนื่องจากสื่อถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจในการเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างตรงจุด และหลังจากนี้ไปก็พร้อมประชาสัมพันธ์ประเด็นนี้ผ่านหนังสั้นด้วย 

ขณะที่ ดร.สุภา วิตตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวในหัวข้อ “พลังเยาวชนป้องกันวัยจ๊าบจากบุหรี่” ว่า เยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจบุหรี่ เพราะเยาวชนไทยเริ่มสูบบุหรี่ ตั้งแต่อายุ 11 ปี และยังพบว่าเยาวชนใช้หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 3.3 โดยกลไกการตลาดของธุรกิจบุหรี่คือ ต้องการทดแทนลูกค้าเก่าที่เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้เยาวชนกลายเป็นลูกค้าระยะยาวของธุรกิจบุหรี่ เพราะคนที่สูบบุหรี่ที่เลิกได้เด็ดขาดเพียง 1 ใน 3 ของผู้สูบบุหรี่ ดังนั้นการให้นักศึกษารณรงค์ให้ความรู้เรื่องบุหรี่กับเด็กและเยาวชนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะกลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลมากในชีวิตของวัยรุ่นและนักศึกษาคือวัยรุ่นผ่านประสบการณ์การเป็นนักเรียนมาก่อน การสื่อสารด้วยข้อความและเนื้อหาเป็นวัยเดียวกัน จึงทันสมัย เข้าใจง่าย

ทั้งนี้ การกระตุ้นเตือนนักเรียนรุ่นน้องผ่านกิจกรรมที่สนุกสนานและมีประสิทธิภาพมากกว่า และที่สำคัญนักศึกษาร่วมรณรงค์ย่อมมีความตระหนักในเรื่องบุหรี่ และลดโอกาสที่จะทดลองสูบบุหรี่ของตนเอง พร้อมให้ข้อเสนอแนะว่า ก้าวต่อไปของเยาวชนในการรณรงค์เรื่องบุหรี่นั้น เยาวชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมแสดงพลังและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ เยาวชนกลายเป็นแกนนำที่มีพลังขับเคลื่อนงานด้านบุหรี่ของมหาวิทยาลัยในอนาคตและยังเป็นการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า