posttoday

นักวิชาการกฎหมายจี้นำคดีบอสขึ้นศาลกู้วิกฤตเสื่อมศรัทธากระบวนการยุติธรรม

01 สิงหาคม 2563

นักวิชาการกฎหมายเรียกร้องตำรวจ-อัยการนำคดีบอส อยู่วิทยา ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาล เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมไทย

ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา 'คดี(กระทิงแดง)ชนตำรวจ นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ' มีผู้ร่วมเสวนา คือ นายสุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด นายปริญญา เทวานฤมิตรกูล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และ นายรณกรณ์ บุญมี รองคณบดีนวัตกรรมและพัฒนาและผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

นายสุรศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา มองถึงการสั่งฟ้อง หรือ ไม่ฟ้องในคดีต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงหากสั่งไม่ฟ้องจะต้องมีเหตุผลในการสั่งด้วย เช่น พยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ พยานหลักฐานได้มาด้วยความชอบธรรมหรือไม่ และเหตุผลเรื่องดุลยพินิจ ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนเพราะเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ขณะนี้จะต้องย้อนกลับไปดูว่ากระบวนการยุติธรรมน่าเชื่อถือหรือไม่ การดำเนินการ่างๆรอบคอบและทำตามระบบ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมองว่า พยานสำคัญ2คนไม่ใช่ที่มาการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่จะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง

นายปริญญา รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า คดีนี้มีสร้างความสงสัยต่อนักกฎหมายค่อยข้างมาก ทั้งการสั่งไม่ฟ้องของอัยการ และตำรวจไม่ค้าน อีกทั้งยังมีเรื่องพยานใหม่ที่เพิ่งปรากฎขึ้นเมื่อปี 2562 แล้วน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดจึงทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง มีข้อเรียกร้องให้อัยการสูงสุดทบทวนว่าการสั่งไม่ฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติคัดค้านการไม่ฟ้องของอัยการซึ่งสามารถแก้ไขได้ และมองว่าควรเชิญทุกฝ่ายมานั่งคุยกัน เพราะวิทยาศาสตร์สามารถหาทางออกได้

ดังนั้นหากมองหาหลักฐานใหม่ที่จะนำมาเปิดเผยคงไม่ยาก นั่นคือการ เปิดกล้องวงจรปิดขณะนั้นที่ใช้ในการวัดความเร็วและนำมาวัดกันใหม่ และการเชิญบริษัทรถเฟอรารี่มาถามถึงความเร็วของรถที่จะสามารถทำให้รถบุบได้รวมถึงมองว่า โคเคนที่แพทย์รามายืนยันว่ามีในร่างกายบอสจริง นั้นจะเป็นหลักฐานใหม่ได้ เพราะถ้าตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดคดีนี้จะยังไม่ขาดอายุความ และขอตั้งข้อสังเกตุไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยว่า การไม่ตั้งข้อหาเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

นักวิชาการกฎหมายจี้นำคดีบอสขึ้นศาลกู้วิกฤตเสื่อมศรัทธากระบวนการยุติธรรม

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการพิพากษาบอส หรือต้องการเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการปกป้องประเทศไทย ต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์น่าเชื่อถืออยู่ และเรียกร้องด้วยว่า ขออย่าเพิ่งเพิกถอนหมายจับ บอส เพราะ กระบวนการยุติธรรมยังมีความสงสัยอยู่ และต้องการให้คดีนี้ไปถึงศาลยุติธรรมให้ได้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ

ขณะที่นายอรรถพล อดีตอัยการสูงสุด ระบุว่า การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้น รองอัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะสามารถสั่งได้ และเป็นการทำถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรายงานให้อัยการสูงสุดรับทราบ แต่จะต้องทำรายงานส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วยในทางคดี ส่วนอัยการจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องนั้น จะเชื่อหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่หากมีความเห็นทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ไม่ตรงกัน ก็จะต้องไปดูที่พยานบุคคล

ทั้งนี้กรณีของบอส ก็ได้มีการตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องแล้ว ดังนั้นหากมองว่าจะเป็นการสั่งฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะต้องรอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการก่อน เพราะจะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้สั่งคดีด้วย รวมถึงจะต้องดูว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยละเอียดรอบคอบ และเป็นดุลยพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายข้อสงสัยของสังคมได้

ส่วนกรณีที่ว่า ถ้าไม่มีพยานหลักฐานใหม่จะหยิบยกมาฟ้องคดีได้หรือไม่นั้น คำตอบคือ จะต้องมีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น ซึ่งพยานหลักฐานเดิมแต่มีประเด็นใหม่ก็ถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ และ แม้คดีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้ว ก็อย่าพึ่งคิดว่าจบแล้ว หากมีพยานหลักฐานใหม่

ส่วนประเด็นที่หลายคนมองว่าควรปรับโครงสร้างอัยการให้อยู่ในระบบนั้น ขอยืนยันว่าระบบเดิมนี้ดีอยู่แล้วหากใครต้องการมาเปลี่ยนจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะทำให้องค์กรอัยการจะดีขึ้นกว่าเดิมที่เป็นอยู่