posttoday

ศาลอุทธรณ์แก้โทษคดียูฟัน-แม่ข่าย/เกย์นทียังจำคุกชดใช้เงินคืนผู้เสียหาย

30 กรกฎาคม 2563

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษ จำเลยยูฟันบางส่วน แต่ยังให้ "แม่ข่ายระดับสูง-เกย์นที" ต้องจำคุกพร้อมชดใช้เงินกว่า 350 ล้าน คืนผู้เสียหาย คดียังรอลุ้นฎีกาอีกยก

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 30 ก.ค.63 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแชร์ลูกโซ่ยูฟันสโตร์ หมายเลขดำ อ.2279/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า แม่ข่ายระดับสูงยูฟันสโตร์ ,นายนที ธีระโรจนพงษ์ ผู้ดำเนินรายการ Take Side by เกย์นทีที่เผยแพร่ผ่านช่องยูทูป ที่นำแผนธุรกิจของยูฟันฯเกี่ยวกับการลงทุนใน “U TOKEN”หรือยูโทเคน และยังเป็นนักเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศ ,เครือข่ายแชร์ลูกโซ่บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน,ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ,บริษัท ยู เทรดดิ้ง จำกัด ,กลุ่มผู้บริหารสัญชาติมาเลเซีย และ จีนที่เป็นกรรมการบริษัทที่ปรึกษาการเงินของยูฟันฯ เป็นจำเลยที่ 1-43 ในความผิด 5 ข้อหา ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556,พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบขายตรง พ.ศ.2545,ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343 และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 พร้อมทั้งมีคำขอให้จำเลยร่วมกันคืนเงินจำนวน 356,211,209 บาทแก่ผู้เสียหายทั้ง 2,451 คน รวมกับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

กรณีเมื่อ 25 ต.ค.56 - 18 มิ.ย.58 บริษัทยูฟัน สโตร์ จำกัด ได้ชักชวนบุคคลเข้าร่วมในเครือข่ายในการประกอบธุรกิจน้ำผลไม้และสมุนไพรกับเครื่องสำอางผิวหน้า และทำให้หลงเชื่อว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย แต่ภายหลังหลอกลวงขายหน่วยลงทุนทางอิเล็กทรอนิกส์ จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “U TOKEN” หรือยูโทเคน ที่อ้างว่าได้รับความนิยมและยอมรับในต่างประเทศ ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยระหว่างพิจารณามีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 22 มี.ค.60 ว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ,2,4,6,11,12,13 ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด 2,451 กระทงๆละ5ปี เป็นเวลารวม 12,255 ปี และให้จำคุกอีกคนละ 10 ปี ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 50 ปี

และให้จำคุกจำเลยที่ 7 ฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงๆละ5ปี เป็นเวลารวม 12,255 ปี ,ให้จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ,จำคุกอีก 2 ปี ฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 50 ปี พร้อมกับให้ปรับ บริษัท ยูเทรดดิ้ง จำกัด จำเลยที่ 42 ฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงๆละ 500,000 บาท และให้ปรับฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อีก 200,000 บาท รวมปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 1,225,700,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5,15,16,22,23,29,31,36,37,40 ให้จำคุกฐานฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงฯละ5ปี คนละ 12,255 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี

สำหรับจำเลยที่ 17,19,27 ให้จำคุกฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงฯละ5ปี คนละ 12,255 ปี และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ จำคุกอีกคนละ 2 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี

โดยให้จำเลยที่ 1,2,4,5,6,7,11,12,13,15,16,17,19,22,23,27,29,31,36,37,40,42 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 356,211,209 บาทให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 2,451 คน ตามจำนวนที่แต่ละคนถูกฉ้อโกงไป พร้อมให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายของเดือนที่ให้กู้ยืม และให้ริบทรัพย์สินที่เป็นเงินสดของกลางด้วย และให้ยกฟ้องจำเลย 21 คน (ประกอบด้วยจำเลยที่ 3,8,9,10,14,18,20,21,24,25,26,28,30,32,33,34,35,38,39,41,43) ซึ่งได้รับการปล่อยตัวหลังศาลพิพากษายกฟ้อง

ต่อมาทั้งโจทก์ และจำเลยที่ 1,2,4,5,6,7,11,12,13,15,16,17,19,22,23,27,29,31,36,37,40,42 ยื่นอุทธรณ์ ขณะที่วันนี้ (30 ก.ค.) เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวจำเลยทั้งชาย หญิง จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลางมาศาลพร้อมฟังคำพิพากษา

โดยศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมหารือกันแล้วเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยบางส่วนฟังขึ้น จึงพิพากษา แก้เป็นว่า จำเลยที่ 7 คงมีความผิด จำนวน 2,451 กระทงๆละ5ปี คนละ 12,255 ปี ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และ จำคุกอีก 2 ปี ฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) โดยให้ยกฟ้องฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1,2,6,11 ในความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยจำเลย ยังคงมีโทษ ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) (เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกสูงสุด 50 ปี)

นายนที จำเลยที่ 27 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) และที่จำเลย 27 อ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับ บ.ยูฟันฯ หรือบริษัทในเครือและไม่เคยชักชวนให้บุคคลใดร่วมลงทุนนั้น ข้ออ้างมีน้ำหนักน้อยและขัดกับพฤติกรรม ไม่สามารถรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมได้จึงฟังได้ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าร่วมกับ บ.ยูฟันฯ กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฉ้อโกงประชาชนนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 27 ฟังไม่ขึ้น พร้อมทั้งให้ยกฟ้องจำเลยที่ 15,16,22,23,29,31,36,37,40 ที่เคยถูกพิพากษาจำคุก ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา343 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 17,19 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยให้ยกคำขอที่จะให้จำเลยที่ 15,16,17,19, 22 ,23 ,29, 31,36 ,37, 40 ร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงแก่ผู้เสียหาย

อย่างไรก็ดี นอกจากที่ได้พิพากษาแก้แล้ว ส่วนอื่นก็ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยังคงให้จำเลยที่ 1 ,2,4,5,6,7,11,12,13 ซึ่งเป็นกลุ่มแม่ข่ายระดับสูง ,27,42 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 356,211,209 บาทให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 2,451 คน ตามจำนวนที่แต่ละคนถูกฉ้อโกงไป พร้อมให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5ต่อปี นับแต่วันที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายของเดือนที่ให้กู้ยืม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำพิพากษาที่อ่านวันนี้ยังคงเป็นคำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ โดยคดีนี้โจทก์จำเลยยังยื่นฎีกาได้อีกตามกฎหมาย