posttoday

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

28 กรกฎาคม 2563

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามมินทราธิเบศรราชวโรดมบรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2494

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนพระราชหฤทัย ในราชการทหาร ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์มีพระราชปณิธานว่า เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาแล้วจะทรงรับราชการทหาร พ.ศ. 2509 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ จากนั้น ทรงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมิลส์ฟิลต์ เมืองสตรีท แคว้นชอมเมอร์เซก พ.ศ.2513 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหาร ที่คิงส์สกูล เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ.2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูง ที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแดนเบอร์รา

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีนานับประการตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปฎิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยความวิริยอุตสาหะ มุ่งมั่นตั้งใจอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์และทรงปฏิบัติในส่วนพระองค์เองล้วนเป็นไปเพื่อประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้ามั่นคงและเพื่อประชาชนชาวไทยได้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

เสด็จขึ้นทรงราชย์

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต สภานิติบัญญัติแห่งชาติรับทราบมติคณะรัฐมนตรี กราบบังคมทูลเชิญเสด็จขึ้นทรงดำรงสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร”

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสุทิดา เมื่อวันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จากนั้น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงราชฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ.2562 และพระราชพิธีเบื้องปลาย ดังนี้ วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามมินทรธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตรพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จฯ โดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วสด็จฯ ไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดรและถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ จากนั้นเสด็จฯ เลียบพระนคร โดยขบวนหยุหยาตราทางสถลมารค วันจันทร์ที่ 6พฤษภาคม พ.ศ.2562 เสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศในประเทศไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

พระราชพิธีเบื้องปลาย วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2562 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จากท่าวาสุกรีถึงท่าราชวรดิฐ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชยานพุดตานทอง ยาตราโดยขบวนราบไปยังพระบรมมหาราชวัง เป็นอันเสร็จสิ้นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

พระราชกรณียกิจ ด้านการศาสนา

ในด้านการศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงอุปถัมภ์และส่งเสริมทุกศาสนาในประเทศไทยทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาระหว่างทรงผนวช ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ทรงถึงพร้อมในการเป็นพุทธมามกะ และในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ได้มีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกทรงเปี่ยมไปด้วยพระราชศรัทธาในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงส่งเสริมให้ประชาชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี และทรงสืบทอดประเพณีทางพระพุทธศาสนาโดยเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรตามฤดูกาลทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระมหากรุณาต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิมมาโดยตลอด ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในศาสนพิธีและโอกาสสำคัญของชาวไทยมุสลิมอย่างสม่ำเสมอ เช่น งานเมาลิดกลางที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงศาสดามูฮัมหมัด พิธีพระราชทานรางวัลแก่กรรมการอิสลามประจำจังหวัด อิหม่าม และโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดภาคใต้ พิธีพระราชทานรางวัลการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ระดับภาคใต้และระดับประเทศ ทรงสนับสนุนให้ชาวไทยมุสลิมศึกษาหลักคำสอนในพระมหาคัมภีร์อย่างถ่องแท้ และปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้องมุสลิมและพี่น้องต่างศาสนา เพื่อความผาสุกมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

ด้านความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชอาณาจักรไทยและพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จวบจนปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงรับสมเด็จพระสันตปาปาประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน อย่างสมพระเกียรติด้วยพระราชจริยวัตรที่งดงาม แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีเป็นที่ประจักษ์แก่คริสตศาสนิกชนและพสกนิกรทั้งหลาย ด้วยเหตุที่ทรงส่งเสริมศาสนาทั้งปวงในประเทศ พสกนิกรใต้ร่มพระบารมีจึงอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา

พระราชกรณียกิจ ด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชบายว่า การศึกษาจะต้องสร้างพื้นฐานให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็งมีอาชีพ มีงานทำ และเป็นพลเมืองดีมีระเบียบวินัย ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางในการพัฒนาเยาวชน ให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป

นับแต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินที่มีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จัดตั้งเป็น “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือ ม.ท.ศ. พระราชทานทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจน แต่มีความประพฤติดี มีคุณธรรม ให้ได้รับการศึกษาที่มั่นคง ต่อเนื่องตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานความช่วยเหลือในด้านชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพอนามัยควบคู่ไปด้วย ปัจจุบัน มีนักเรียนทุนพระราชทานฯ รวมทั้งสิ้น 1,764 คน

ในด้านการศึกษาทางไกล ในท้องถิ่นที่มีบุคลากรครูไม่เพียงพอ ได้ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดการดำเนินงานของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พัฒนาระบบการผลิตและการออกอากาศ ให้ผู้เรียนเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

พระราชกรณียกิจ ด้านการเกษตร

เสด็จฯ แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นกำลังใจแก่เกษตรกรให้มีพลังในการปลูกข้าว ทำการเกษตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตรทุกแขนง มาแต่ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทุ่มเททำนุบำรุงกิจการของงานเกษตรกรรมอย่างครบวงจร ทั้งผลผลิต และการยกระดับคุณภาพชีวิตให้เป็นเกษตรกรที่ยั่งยืนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อ พ.ศ.2529 ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทรงทำปุ๋ยหมักทรงหว่านข้าว และทรงเกี่ยวข้าว พระราชทานพันธุ์ข้าวและอุปกรณ์การเพาะปลูก

พ.ศ.2545 ทรงรับโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ไว้ในพระราชานุคราะห์ ซึ่งเป็นโครงการที่ให้บริการความรู้แก่เกษตรกร ด้านดินและสิ่งแวดล้อม ด้านประมง ปศุสัตว์ สร้างอาคารวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เกษตร ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทั้งพระราชทานทุนสำหรับการวิจัย พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์สร้างศูนย์เรียนรู้เกษตรบนพื้นที่สูงภาคเหนือ เรียกว่า “โครงการเกษตรวิชญา” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนการชลประทาน ทรงเจริญรอยตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมชนกนาถ เพื่อช่วยบรรเทาความแห้งแล้งและอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก เสด็จฯ ไปทรงเปิดอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้าย อันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชกรณียกิจ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขแก่บ้านเมืองตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนีไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบทห่างไกลทั่วภูมิภาค ทรงเข้าพระราชหฤทัยถ่องแท้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในท้องถิ่น เมื่อทรงดำรงพระราชฐานะ สมเด็จพระรัชทายาท ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์ทุกด้านทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับงานพระราชพิธี การศึกษา ศาสนา สังคม สาธารณสุข การทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยังประโยชน์แก่บ้านเมืองอเนกประการ ครั้นเมื่อเสด็จทรงดำรงสิริราชสมบัติ จึงมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสานพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรและนำความผาสุกร่มเย็นแก่บ้านเมืองสืบไป

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

พระราชกรณียกิจ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

งานอีกด้านหนึ่งที่ทรงให้ความสำคัญ คือ งานด้านสาธารณสุขได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และพระราชทานพระราชดำริจัดตั้งโครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพของพสกนิกร โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ดังที่มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2521 รวมทั้งสิ้น 21 แห่งทั่วประเทศ ทรงห่วงใยผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพ อันเนื่องมาจากความแออัดของสถานที่กักขัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโครงการ “ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” โดยพระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขังซึ่งก็เป็นพลเมืองส่วนหนึ่งของสังคม ให้สามารถพ้นโทษออกมาเป็นพลเมืองดีของชาติได้

ทรงเล็งเห็นว่า สถานพยาบาลหลายแห่งยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่จึงพระราชทานเงินทั้งหมดที่ประชาชนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อครั้งงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร แก่สถานพยาบาล 27 แห่ง เป็นเงินกว่า 2,400 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบไปทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกรัฐมนตรี และคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัส ทรงขอบใจบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อพระราชทานกำลังใจและแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขสถานการณ์ ทั้งยังได้พระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ อาทิ เครื่องช่วยหายใจชุดป้องกันการติดเชื้อ รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร และห้องตรวจหาเชื้อ ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ตลอดจนพระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพร้อมระบบสารสนเทศเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 ด้วย

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

พระราชกรณียกิจ ด้านภาษาและวรรณศิลป์ทรงสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานวรรณกรรมของชาติ พระราชทานพระมหากรุณาเสด็จฯ ไปพระราชทานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรต์) ด้านศิลปะการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี ทรงส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้ชมศิลปะการแสดงชั้นสูงที่ถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงโขนกลางแปลงพระราชทานในกิจกรรม “ปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad” ณ พระลานพระราชวังดุสิต และทรงสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนได้แสดความสามารถด้านดนตรีและทรงรับวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพไว้ในพระราชูปภัมภ์ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เป็นต้น

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

พระราชปณิธาน กิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ “Bike for Dad ปั่นเพื่อพ่อ”

พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ทรงนำคนไทยทั่วประเทศปั่นจักรยานเพื่อ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านกิจกรรม "ปั่นเพื่อพ่อ" Bike for Dad ในโอกาสคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม พศ. 2558 มี 67 ประเทศทั่วโลก ตอบรับเข้าร่วมกิกรรม การจัดกิจกรรมตามพระราชปณิธานและพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อแสดงความจงรักภักดี กตัญญกตเวทีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร่วมใจทดแทนพระคุณพ่อเพื่อร่วมแสดงความสามัคคีของชาวไทยและต่างชาติ เพื่อสุขภาพกายและใจ ตลอดจนความสดชื่นแจ่มใส และชมศิลปวัฒนธรรมของชาติ โขนกลางแปลงเฉลิมพระเกียรติ

โดยพระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์ประธานนำขบวนจักรยานประชาชน ในวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2558 เวลา 15.00 น.เส้นทางจะเริ่มต้นและสิ้นสุดที่บริเวณพระลานพระราชวังดุสิต โดยเริ่มจากพระลานพระราชวังดุสิตมาตามถนนราชปรารภ เข้าสู่แยกประตูน้ำเลี้ยวขวาที่แยกราชประสงค์ เข้าสู่ถนนปทุมวัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนสีลม เข้าวงเวียนโอเดียน ถนนเยาวราช สะพานพระปกเกล้าฯ ถนนวงเวียนใหญ่ ถนนอรุณอัมรินทร์ หอประชุมกองทัพเรือ แยกศิริราช สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สนามหลวง ถนนราชดำเนินนอก มาจบที่ลานพระราชวังดุสิต รวมระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน “การ์ดขอบคุณพระราชทาน”แก่ประชาชนทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติฯ ภายในตกแต่งด้วยภาพฝีพระหัตถ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นการ์ดลายพระหัตถ์ ทรงมีพระราชกระแสขอบใจพสกนิกรความว่า

“ขอขอบใจท่านทั้งหลายด้วยความปลาบปลื้มและซาบซึ้งยิ่งนัก การที่ทุกท่านได้สำแดงความสามัคคีและน้ำใจตลอดจนความจงรักภักคี ต่อองค์พระประมุขและชาติบ้านเมืองนั้นป็นนิมิตหมายที่ประเสริฐ ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราทุกคน จะเจริญก้าวหน้าเป็นบ้านที่ร่มเย็นและมั่นคง ก็ด้วยความรักและสามัคคีของคนในชาติ เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม งานนี้ได้เป็นประจักษ์แล้วว่าคนไทย “ทำได้” และปลื้มที่สุดที่ได้เห็นทุกคน “ปั่นเพื่อพ่อ” จากหัวใจ (คือแสดงออกด้วยการกระทำนั่นเอง)

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

พระราชปณิธาน กิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่”

รัฐบาลจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่”สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งพระราชปณิธานนั้น ปะดุดังเสียงเพรียกจากสรวงสวรรค์ที่ปลุกเร้าความจงรักภักดี ความซาบซึ้ง และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในเลือดเนื้อของปวงชนชาวไทยอย่างสมบูรณ์และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังมหาศาลที่เข้าร่วมกิจกรรมปั่นเพื่อแม่

วันอาทิตย์ที่ 6 สิหาคม พ.ศ.2558 พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรมหาวัชรราชธิดา ทรงเปิดและปิดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม พ.ศ.2558 ณ พระลานพระราชวังดุสิต โดยทรงปั่นจักรยานนำมวลมหาชนกว่า 40,000 คน ร่วมปั่นจักรยานในเส้นทางไปและกลับจาก พระลานพระราชวังดุสิต พระบรมรูปทรงม้า ถึงกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ระยะทาง 43 กิโลเมตร ท่ามกลางบรรยากาศเสียงถวายพระพร “ทรงพระเจริญ” ของมวลมหาชนที่กึกก้องตลอดเส้นทาง

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

ขณะเดียวกัน ทุกจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมจัดกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” โดยเชิญชวนประชาชนทั่วทั้งจังหวัดเข้าร่วมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติฯ แสดงความจงรักภักดีไปพร้อมๆ กับที่กรุงเทพมหานคร

ด้วยภาพ “สมเด็จแม่” พระราชมารดา ในทุกรอยพระบาทและคุณธรรมอันประเสริฐดำรงเป็นภาพประทับในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่เสมอมา ประกอบกับพระคุณธรรมอันวิเศษว่าด้วย “ความกตัญญูต่อแม่ เป็นมงคลของชีวิต” ได้กลายมาเป็นพลังที่ก่อกำเนิดพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ แน่วแน่นำมาสู่เจตนาในการจัดกิจกรรม โครงการ “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ด้วยทรงลึกซึ้งว่าไม่ว่าแม่คนใดในโลกย่อมปรารถนาให้ลูกรู้รักสามัคคี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีคุณธรรมแห่งความกตัญญูที่เป็นบุญราศรีอันสง่างดงามแก่ตนเช่นเดียวกับของขวัญจากลูกไทยทั่วแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ย่อมจะน้อมถวายเป็นพระราชสดุดีแม่ของแผ่นดิน ย่อมไม่มีสิ่งใดมีค่ามากกว่าลูกไทยทั่วแผ่นดินร่วมใจรักสามัคคี ร่วมพลังจงรักภักดี ออกมาปั่นจักรยานเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ถวายแทนความกตัญญูแด่แม่ของแผ่นดิน

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

โครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เพื่อรวมความสมัครสมานสามัคคีของคนทั้งชาติ ในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ก่อให้เกิดประโยชน์และความเจริญก้าวหน้าในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ได้พระราชทานสิ่งของ อาทิ หมวก ผ้าพันคอและสมุดบันทึกความดีพระราชทาน เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ประชาชนทุกคนที่มีจิตเป็นกุศล โดยมุ่งมั่นทำความดีแก่ส่วนรวม

พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและตระหนักถึงความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า จึงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อความผาสุขสมบูรณ์ของปวงชนชาวไทยและความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมืองสืบไป ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอันเป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม จึงพระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อพัฒนาพื้นที่ในชุมชนต่าง ๆ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดภัยพิบัติ ด้วยความสมัครสมานสามัคคี อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เหตุการณ์นักฟุตบอลเยาวชนและผู้ช่วยผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม 2561 นั้น เป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยทั้งผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในถ้ำและทีมกู้ภัยผู้ปฏิบัติการค้นหา จึงพระราชทานคำแนะนำให้จัดระบบการช่วยเหลือ และสนับสนุนการปฏิบัติการ ทั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดหาอุปกรณ์ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้นำมาใช้กู้ภัยได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ หลังจากปฏิบัติการสำเร็จยังได้พระราชทานพระราชกระแสชื่นชม ทรงขอบใจทุกคนทุกฝ่าย และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อเชิดชูคุณงามความดีแก่ผู้ปฏิบัติงานด้วย

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

เมื่อเดือนมกราคม 2562 พายุปาบึกขึ้นฝั่งที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมพื้นที่ความเสียหาย 23 จังหวัดได้พระราชทานให้จิตอาสาภัยพิบัติช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ขณะที่น้ำกำลังท่วม ซ่อมแซมบ้านเรือน และฟื้นฟูพื้นที่ประสบวาตภัย ในการนี้ได้พระราชทานเงินสร้างอาคารศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยในพื้นที่ติดทะเล จำนวน 12 แห่งใน 7 จังหวัด ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราชสุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อรองรับการอพยพผู้ประสบภัยจากพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมกับพระราชทานให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำโซลาร์เซลล์พระราชทานติดตั้งให้แก่ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวม 366 จุด อีกด้วย

อีกหนึ่งภัยพิบัติใหญ่ของคนไทยที่มีประชาชนได้รับผลกระทบมากถึง 32 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก จากพายุโซนร้อนโพดุลและคาจิกิ ได้พระราชทานพระราชกระแสแก่รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชน อีกทั้งยังพระราชทานให้จิตอาสาภัยพิบัติเข้าช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย ตลอดจนฟื้นฟูและดูแลภายหลังน้ำลดจนประชาชนสามารถกลับไปดำรงชีวิตได้ตามปกติ

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

โครงการจิตอาสาต้านภัยแล้ง เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของจิตอาสาภัยพิบัติ ที่พระราชทานให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดการภัยแล้งในท้องถิ่น และช่วยสนับสนุนการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จิตอาสาภัยพิบัติยังได้ร่วมกิจกรรมทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่าในพื้นที่ป่าชุมชน เป็นการรณรงค์เชิงรุกในการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันและไฟป่า และมีการเตรียมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยมีการปรับแผน และนำเอาผลที่เกิดขึ้นมาปรับให้ทันสมัย ให้แก้ไขปัญหาได้ในทุกสถานการณ์ อันเป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้

ในช่วงฤดูฝน มักเกิดปัญหาดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ อย่างเช่นเหตุการณ์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ราษฎรบ้านผาบ่องเหนือ ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 น้ำป่าได้พัดพากรวดหินดินโคลนไหลมาทับถมบ้านเรือน จิตอาสาภัยพิบัติได้ช่วยกันฟื้นฟูบ้านเรือนหลังน้ำลด และมีการจัดกิจกรรมปลูกป่าในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ เช่น จังหวัดน่าน เชียงใหม่ และเลย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาดินถล่มและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับป่าเสื่อมโทรม หรือภูเขาสูงชันที่มีสภาพเป็นเขาหัวโล้น

ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ มีการดำเนินงานที่ช่วยพัฒนาท้องถิ่นแต่ละชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น “โครงการจิตอาสาพัฒนาคลองเปรมประชากร” ซึ่งได้ฟื้นฟู พัฒนาลำคลองเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมและบำบัดน้ำเสีย รวมถึงพัฒนาบ้านเรือนริมคลองเปรมประชากร เริ่มที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ขณะนี้ได้รื้อถอนบ้านเรือนที่รุกล้ำคลอง และได้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยริมน้ำขึ้นใหม่เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงปลอดภัย

เฉลิมองค์กษัตรา มหาวชิราลงกรณ

โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด -19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ยังคงอยู่กับประเทศไทยไปอีกระยะเวลานาน ถึงแม้รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการต่างๆแล้วก็ตาม แต่วิถีชีวิตของคนไทยก็จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป หรือที่เรียกว่าวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ (New Normal) ภายใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรง สืบสาน รักษา ต่อยอด และได้พระราชทานที่ดินในฟาร์มตัวอย่างให้ประชาชนที่เดือดร้อนได้มีอาชีพ มีอาหารที่ปลอดภัย และมีรายได้ โดยการนำของ ทีมงานจิตอาสา 904 ชุดครูพาทำ จากศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา 904 วิทยากรเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และชุดทีมสถาปนิกออกแบบจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และความร่วมมือของหน่วยงานสนับสนุนอีกหลายหน่วย ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนและเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่ยั่งยืนตลอดไป

พระราชกรณียกิจในการสืบสานงานแผ่นดิน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านต่าง ๆ นั้น ได้ช่วยบรรเทาความทุกข์ นำมาซึ่งความสุขของประชาชน และความเจริญมั่นคงของประเทศชาติ นับเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งยังได้พระราชทานพระราชปณิธานการทรงงานว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศษฐกิจพอเพียง”สมดังพระปฐมบรมราชโองการที่ได้พระราชทานไว้แก่ปวงชนชาวไทย