posttoday

มติก.ต.ตั้งประธานศาลฎีกาหญิงคนแรกของไทย

24 กรกฎาคม 2563

ตามโผ ก.ต. เห็นชอบ ‘เมทินี ชโลธร’ นั่งประธานศาลฎีกาหญิงคนแรก ขณะที่ผู้พิพากษาหญิงอีกคน ‘ปิยกุล บุญเพิ่ม’ ขึ้นประธานศาลอุทธรณ์ มีผล 1 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.63 "นายสราวุธ เบญจกุล" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 10/ 2563 วันนี้ เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารศาลยุติธรรม ชั้น 3 ศาลฎีกา ที่ประชุม ก.ต.ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการตุลาการ ชั้น 5 และ ชั้น 4 ในตำแหน่งประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลฎีกา ประธานแผนกคดีในศาลฎีกา ดังนี้

"นางเมทินี ชโลธร" รองประธานศาลฎีกา ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา คนที่ 46

"นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม" ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์

และนางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา (คนที่ 1 ) , นายพศวัจณ์ กนกนาก ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา (คนที่ 2), นายนิพันธ์ ช่วยสกุล ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา (คนที่ 3) , นายประสิทธิ์ เจริญถาวรโภคา ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา (คนที่ 4) , นายสรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา (คนที่ 5) , นายเสรี เพศประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา (คนที่ 6)

กับเห็นชอบแต่งตั้ง นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นายทวีศักดิ์ ทองภักดี ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นประธานแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา , นายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา , นายจักษ์ชัย เยพิทักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา , นายแรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา, นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา , นายวรงค์พร จิระภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา , นายพันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา , นายพิศิฏฐ์ สุดลาภา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา , นายลาชิต ไชยอนงค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา , นายไมตรี สุเทพากุล ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เป็นประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา

นอกจากนี้ ที่ประชุม ก.ต. ยังได้พิจารณาเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการในตำแหน่งอื่น ๆ รวมทั้งผู้พิพากษาอาวุโสด้วย ทั้งนี้การแต่งตั้ง โยกย้ายดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาคนที่ 45 ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่โดยเกษียณตำแหน่งในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เนื่องจากอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ที่ประชุม ก.ต.เห็นชอบ ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาตลอดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานายสังเกตได้จัดทำหลายโครงการเพื่อยกระดับคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้ต้องหา/จำเลย และการสร้างช่องทางบริการเพื่อให้ความสะดวกแก่คู่ความ/ทนายความ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้จัดทำ 4 โครงการสำคัญประกอบด้วย 1.การงดหรือลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ของคู่ความในการดำเนินคดี 2.การพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยออนไลน์ในศาลยุติธรรม 3.การกำหนดวงเงินประกันผู้ต้องหาหรือจำเลย กรณีปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกันให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 4.การพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนด้านแรงงาน ที่มุ่งให้บริการประชาชนในเชิงรุกเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายแรงงานนอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการยกระดับคุ้มครองสิทธิ ของผู้ต้องหาจำเลยในการขอปล่อยชั่วคราวด้วยคำร้องใบเดียว ซึ่งได้มีการแต่งตั้ง นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา ที่วันนี้ ก.ต.เห็นชอบให้ขึ้นประธานศาลฎีกา ลำดับที่ 46 นั้น เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกา พ.ศ. 2562 – 2563 เรื่อง “การยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลย

สำหรับประวัตินางเมทินี ว่าที่ประธานศาลฎีกาหญิงคนแรก เกิดวันที่ 3 ธ.ค.2498 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา โดยศึกษาต่อระดับปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ และได้สอบบรรจุเข้าเป็นผู้พิพากษามื่อวันที่ 1 ต.ค.24 ซึ่งตลอดเวลาการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษา ได้รับความก้าวหน้าในการดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับชั้น

กระทั่งปี 2559 ได้รับการแต่งตั้ง เป็นประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษคนแรก ก่อน จะขึ้นสู่ตำแหน่งประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา ซึ่งตำแหน่งประธานแผนกชั้นดำรงตำแหน่งเทียบเท่าระดับรองประธานศาลฎีกา จากนั้นก็ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานศาลฎีกาในปี 2562 กระทั่งล่าสุดที่ประชุม ก.ต.เห็นชอบ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา.