posttoday

ประกาศผลสุดยอดหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17

23 กรกฎาคม 2563

ซีพี ออลล์ ประกาศผลสุดยอดหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17 “จันทรา รัศมีทอง” คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 17 ปีของการดำเนินโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ได้คัดสรรหนังสือดีมีคุณภาพทั้ง 7 ประเภทสู่สังคม ประกอบด้วย กวีนิพนธ์, นวนิยาย, การ์ตูน, รวมเรื่องสั้น, วรรณกรรมสำหรับเยาวชน, สารคดี (ทั่วไป) และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อยกย่องเชิดชูนักเขียนคุณภาพ สนับสนุนผลงานที่มีเนื้อหาจรรโลงสังคม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาตนเองด้านการอ่าน ในปีนี้มีผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้นจำนวน 25 รางวัล และ 6 หนังสือแนะนำ จาก 256 ผลงาน โดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ มีเพียง 2 ประเภท คือ วรรณกรรมสำหรับเยาวชน และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ สำหรับผลการตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17 ประจำปี 2563 มีดังนี้

ทั้งนี้ ประเภทกวีนิพนธ์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 2 รางวัลได้แก่ เรื่อง สองฝั่งแม่น้ำเก่า โดย ลอง จ้องรวี สำนักพิมพ์โรงนาบ้านไร่ และเรื่อง Hi! So-Cial ไฮโซ...เชียล โดย ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย สำนักพิมพ์ Hi-So-Cial Publishing, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป โดย สุธีร์ พุ่มกุมาร สำนักพิมพ์สมุดไทย และเรื่อง บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน โดย นิตา มาศิริ จัดพิมพ์โดย ราตรี มาศิริ ประเภทการ์ตูน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง JUICE : ARRIVALS โดย Art Jeeno สำนักพิมพ์แซลมอน, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง PRESENTS FROM THE PRESENT โดย คัจฉกุล แก้วเกต สำนักพิมพ์บัน (BUNBOOKS) และเรื่อง Say hi until goodbye โดย Tum Ulit สำนักพิมพ์

ประเภทนวนิยาย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง ไต้ก๋ง โดย ประชาคม ลุนาชัย สำนักพิมพ์ ดินแดนบุ๊ค และเรื่อง เลือดข้นคนจาง โดย ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ สำนักพิมพ์มติชน, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง The Boy Who Never Grows เด็กไม่รู้จักโดย เจนมานะ สำนักพิมพ์บัน (BUNBOOK) ประเภทรวมเรื่องสั้น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติอื่น ๆ ประพันธ์และจัดพิมพ์โดย กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ และเรื่อง 24 ชั่วโมง โดย แพรพลอย วนัช สำนักพิมพ์นาคร, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง ไร้สัญชาติ และตัวละครอื่น ๆ โดยบัญชา อ่อนดี สำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำ ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน รางวัลชนะเลิศ เรื่อง ลูกไม้กลายพันธุ์ โดย จันทรา รัศมีทอง สำนักพิมพ์บรรณกิจ 1991, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง โลกของมดแดงกับแตงกวา (เอยด้วย!) ตอน ความลับใต้ผืนทราย โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง เรื่องเล่าของพลอยดาว โดย อัชฌาฐิณี สำนักพิมพ์อาเธน่า

สำหรับ ประเภทสารคดี (ทั่วไป) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง หญิงร้าย โดย วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล สำนักพิมพ์ยิปซี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง มันนิซาไก คนป่าแห่งเขาบรรทัด โดย บุหลัน รันตี สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ และ เรื่อง My Chefs โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ สำนักพิมพ์แซลมอน ขณะที่ หนังสือแนะนำและหนังสือแนะนำพิเศษในปีนี้ มี 6 เล่ม ได้แก่ เรื่อง หมอยาน้อย ประพันธ์และจัดพิมพ์โดย กิติศักดิ์ ศรีแก้วบวร, เรื่อง อโศก...ฟ้าพลิกดิน โดย ประพีร์พรรณ ภาณวะวัฒน์ สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช, เรื่อง ฮัก ฮีต ฮอย ลูกชาวนาอีสาน โดย กฤษฎา ปักกาโต สำนักพิมพ์กระท่อมปณิธาน, เรื่อง จะไม่ทิ้งใครไว้บนเตียง ประพันธ์และจัดพิมพ์โดย ปกาศิต แมนไทยสงค์ และเรื่อง ให้ความหวังนำทางเรา โดย แพน พงศ์พนรัตน์ สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ และหนังสือแนะนำพิเศษ เรื่อง มรณเวชกรรม โดย นายแพทย์ภิญโญ ศรีวีระชัย และคณะ จัดพิมพ์โดย ศูนย์บริรักษ์ ศิริราช

ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน โดย กิตติ อัมพรมหา, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง ต้นไม้ทุกต้นแคยเป็นต้นกล้า โดย ณรงค์ชัย แสงอัคคี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต โดย นนทพัทธ์ หิรัญเรือง และรางวัลเสริมสร้างกำลังใจ เรื่อง ดวงตาหิ่งห้อย โดย ด.ญ.ศุภาพิชญ์ พรอำนวยผล สำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็ก ๆ ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนวนิยายขนาดสั้น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง คล้ายว่าน่าน เพิ่งพ้นผ่านไม่นานนัก โดย ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง และเรื่อง รองเท้าโลหะ โดย จิระพนธ์ ขันชารี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง หน้ากากยิ้มของสิงโต โดย กนกศักดิ์ เรือนทอง

นายก่อศักดิ์ กล่าวว่า รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเขียน และนักอ่านเสมอมา จนสามารถก้าวสู่ปีที่ 17 ด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งส่งเสริมการอ่าน การเขียน และการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหนทางของการพัฒนาคน นำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติ สอดคล้องกับนโยบายของ ซีพี ออลล์ ที่มุ่งส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชนอย่างจริงจังต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม สำหรับผู้ชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊คอวอร์ด" ทั้ง 6 ประเภท จะได้รับรางวัลเงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ส่วนประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ รวม 4 หมวด คือ นวนิยายขนาดสั้น รวมเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูน ผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเงินสด 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร เพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์งานเขียนต่อไปสำหรับ พิธีมอบโล่และรางวัลต่างๆ ในโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล "เซเว่นบุ๊คอวอร์ด" ครั้งที่ 17 ประจำปี 2563 จะจัดในวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม ศกนี้ ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย กรรมการกิตติมศักดิ์โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เป็นประธานในพิธี

ทั้งนี้ การพิจารณาตัดสินรางวัลในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านงานเขียนระดับชั้นนำของประเทศร่วมคัดเลือกผลงานอย่างเข้มข้น ประกอบด้วย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทกวีนิพนธ์ และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวด "กวีนิพนธ์" , นายศักดา แซ่เอียว ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทการ์ตูน และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวด "การ์ตูน" ,ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทนวนิยาย, นายนิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทรวมเรื่องสั้น, นายวินัย รอดจ่าย ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทวรรรณกรรมสำหรับเยาวชน และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวด "นวนิยายขนาดสั้น" และ "รวมเรื่องสั้น" , ศ.กีรติ บุญเจือ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทสารคดี