posttoday

มรสุมชีวิต!?!..โรคร้ายรุมเร้า หนีปัญหาฆ่าตัวตายวันละ 10 คน

01 ธันวาคม 2553

ช่วงอายุของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุดอยู่ระหว่าง 30-39 ปี โดยเพศชายปลิดชีวิตตัวเองได้มากกว่าเพศหญิง 4 เท่า แม้ว่าเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะคิดฆ่าตัวตายได้ง่ายและมีจำนวนมากกว่าเพศชาย

ช่วงอายุของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุดอยู่ระหว่าง 30-39 ปี โดยเพศชายปลิดชีวิตตัวเองได้มากกว่าเพศหญิง 4 เท่า แม้ว่าเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะคิดฆ่าตัวตายได้ง่ายและมีจำนวนมากกว่าเพศชาย

โดย...ธนก บังผล

อกหักรักคุดอาจทำให้หัวใจผู้พ่ายรักต้องซมจนทนพิษบาดแผลไม่ไหว หลายคนจมความเศร้ามองไม่เห็นอนาคต ตัดสินใจหนีปัญหาตัดช่องน้อยแต่พอตัวก่อเหตุอัตวินิบาตกรรมด้วยวิธีสารพัดพิลึก

แค่คนที่เรารักเขาไม่รักเรา ทำไมหนอจึงไม่รักชีวิตตัวเอง

ว่ากันว่า สาเหตุที่จะทำให้คนเราฆ่าตัวตายนั้นมีอยู่เพียง 3 กรณีหลักๆเท่านั้น 1.ซึมเศร้าอย่างรุนแรง เช่น อกหัก ผิดหวังจากผลการศึกษา มีปัญหาเรื่องหนี้สิน สุญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก 2.ขาดความเชื่อมั่นในคุณค่าของตนเอง อาทิ น้อยใจที่ครอบครัวไม่ดูแลเอาใจใส่ ถูกทอดทิ้งตามยถากรรม ปะทะกับมรสุมชีวิตขาดคนให้กำลังใจปรึกษา เป็นต้น

และ 3.โรคร้ายรุมเร้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย หรือเอดส์ โดยเฉพาะคนในยุคนี้ที่การดำเนินชีวิตประจำวันต้องพาร่างกายเข้าไปรับมลพิษ สารพิษ จากการบริโภคและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

มรสุมชีวิต!?!..โรคร้ายรุมเร้า หนีปัญหาฆ่าตัวตายวันละ 10 คน

แต่ไม่ว่าสาเหตุใดๆก็ตามที่ทำให้คนๆหนึ่งปลิดชีวิตของตน มักเกี่ยวพันกับ “กำลังใจ” น้อยบ้างมากบ้างตามระดับภูมิคุ้มกันพื้นฐานทางใจที่ไม่เหมือนกัน บ้างก็ฆ่าตัวตายตามศิลปินในดวงใจจนกลายแฟชั่น บ้างก็ฆ่าตัวตายหนีความผิด

ซึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆคือ การฆ่าตัวตายเพราะโรครุมเร้า อย่างกรณี น.ส.ดวงใจ จันทะนันท์ อายุเพียง 24 ปี ก็เป็นคนหนึ่ง ที่แม้ว่าจะมีใจสู้กับความเจ็บปวดจากอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมานานกว่า 2 ปี สุดท้ายเธอก็ถอดในยอมแพ้ ด้วยการกระโดดจากชานชาลาชั้น 3 สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สนามเป้า

สอบถาม น.ส.สมใจ พิมพ์ทอง ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาสาวของ น.ส.ดวงใจ ให้การว่าหลานสาวพักอยู่บ้านกับญาติ ๆ และไม่ได้ทำงานอะไร เนื่องจากมีอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม โดยก่อนหน้านี้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถีจนอาการเริ่มค่อยๆดีขึ้น แต่ต้องกินยาต่อเนื่อง ซึ่งน.ส.ดวงใจ เคยบ่นให้ฟังว่าไม่ไหวแล้ว แต่จะสู้

เช่นเดียวกับนายนันทภพ จันทะนันท์ อายุ 27 ปี พี่ชาย ที่บอกว่าก่อนหน้านี้น้องสาวเป็นคนที่ร่าเริง แต่ช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาน้องสาวไปตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย ทำให้เธอเกิดความเครียดและเก็บตัวเงียบไม่พูดจากับใคร

โดยก่อนที่น้องสาวจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย 1 วัน ได้ไปทำคีโมเข็มที่ 4 เมื่อกลับมาก็สังเกตเห็นว่าสีหน้าไม่ค่อยดีและบ่นว่าเจ็บปวดมาก แต่เธอไม่ได้ระบายอะไรออกมา

ด้านพลทหารพีท จันทรัตน์ ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยอยู่ด้านล่างของสถานี บังเอิญเห็นผู้หญิงคนหนึ่งลักษณะศีรษะโล้นกำลังนั่งห้อยขาลงมา ก่อนจะตะโกนขึ้นไปบอกว่า "อย่ากระโดด ใจเย็น ๆ"

น.ส.ดวงใจ อาจจะไม่ได้ยิน หรือถึงแม้ว่าได้ยิน ความเศร้าความเจ็บปวดก็อาจเกาะกุมจิตใจของเธอจนล้น สิ้นเสียงพลทหารพีท เธอทิ้งตัวลงมาสู่พื้นด้านล่างทันที ศรีษะแตกฉกรรจ์ หายใจรวยรินจมกองเลือด แม้ว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะเร่งส่งโรงพยาบาลราชวิถีแต่เธอก็สิ้นใจก่อน

อีกคดีหนึ่งเกิดที่ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งต้องเรียกว่าใช้ความพยายามในการฆ่าตัวตายอย่างมาก โดยจุดเกิดเหตุเป็นเพิงปลูกสร้างด้วยไม้ไผ่ ทำเป็นแคร่สำหรับอาศัยนอน มุงด้วยหญ้าคาติดอยู่กับข้างตัวบ้าน

พิลึกพิลั่นตรงที่พบศพชาย 3 คน นอนเรียงอยู่ด้วยกัน ทั้งหมดมีน้ำลายล้นฟูมออกมาเต็มปาก โดยไม่มีร่องรอยการต่อสู้

ผู้ตายทั้ง 3 คน คือ นายสัมฤทธิ์ พรหมแดง อายุ 54 ปี ,นายหนุ่ม พรหมแดง อายุ 33 ปี และ นายอุไร นันนวล อายุ 60 ปี เจ้าของบ้าน

บริเวณที่เกิดเหตุตำรวจเจอขวดยาพลาสติกบรรจุสารกำจัดแมลง ยี่ห้อ แลนเนท-แอล ชนิดน้ำ ซึ่งภายในขวดยังมีน้ำยากำจัดแมลงเหลืออยู่ โดยนางคำพลอย พรหมแดง อายุ 61 ปี ภรรยานายอุไร ให้การที่สร้างความอึ้งแก่ตำรวจว่า 

นายอุไร สามีของเธอเป็นโรคอัมพฤกษ์ครึ่งซีกเดินเหินไปไหนไม่สะดวก ส่วนนายหนุ่ม เป็นลูกชายติดสามีเก่า ป่วยเป็นโรคประสาทรักษามาหลายโรงพยาบาลแล้วก็ไม่หาย และนายสัมฤทธิ์ เป็นน้องชายของนายอุไร ตาบอดทั้ง 2 ข้าง

นายสัมฤทธิ์ พอได้ยินว่านายอุไร พี่ชายนอนป่วยอีกซ้ำยังเป็นเบาหวานเลยเดินทางมาจากบ้าน จ.ลพบุรี เพื่อเอายามาให้ โดยได้ขอร้องให้เพื่อนบ้านขี่จักรยานยนต์มาส่ง

“พอนายสัมฤทธิ์มาถึง นายหนุ่มก็เอารถจักรยานยนต์ออกไปซื้อของนานเกือบ 1 ชั่วโมง โดยมีถุงสีขาวติดมือกลับมาด้วย ซึ่งน่าจะเป็นเหล้าเถื่อน ส่วนถุงพลาสติคอีกถุงหนึ่งน่าจะยาฆ่าแมลง”

หลังจากนั้นคนป่วยทั้ง 3 ก็นั่งตั้งวงกินเหล้ากันตั้งแต่บ่าย 3 โมง ลากยาวไปกลางดึกก็ยังตั้งวงกินกันอยู่ เธอจึงเข้านอนก่อน จนกระทั่งตื่นมาตอนเช้าก็พบว่าทั้ง 3 คนกลายเป็นศพแล้ว สภาพมีน้ำลายฟูมปาก ขวดเหล้าขาวตกอยู่ 2 ขวด และพบว่าที่หัวนอนมียาฆ่าแมลงวางอยู่

นางคำพลอย ให้การเพิ่มเติมว่า นายหนุ่ม ลูกชายติดสามีเก่าที่ป่วยเป็นโรคประสาทเคยคิดฆ่าตัวตายมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ส่งให้หมอช่วยเหลือล้างท้องได้ทันทุกครั้ง เมื่อเห็นว่าพ่อเลี้ยง เป็นอัมพฤกษ์และอาสัมฤทธิ์ ก็ป่วยตาบอดทั้ง 2 ข้าง

3 คน 3 โรครักษาไม่หาย นายหนุ่มอาจจะไปหาซื้อยาฆ่าแมลงมาผสมเหล้าดื่ม ซึ่งเหล้าเถื่อนมีกลิ่นแรงสามารถกลบกลิ่นยาฆ่าแมลงได้ จากนั้นระหว่างดวดเหล้าก็เลยนำผสมกันแล้วแจกให้ดื่มกินทุกคนรวมทั้งตัวเองด้วย เพื่อให้พ้นจากการป่วยเป็นโรคร้าย

หรือไม่ทั้ง 3 คนก็อาจจะสนทนาถึงปัญหาอาการเจ็บป่วย พอเมาได้ที่ก็เลยตัดสินใจกินยาฆ่าแมลง

มีคำกล่าวที่ว่า “การฆ่าตัวตายสำเร็จของคน 1 คน จะมีผลกระทบต่อคนอื่นอีกอย่างน้อย 5 คน ได้แก่ พ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท คนรัก” หมายความว่าถ้ามีการฆ่าตัวตายสำเร็จปีละประมาณ 4,000 คน ก็จะมีผู้ที่ต้องรับผลกระทบรับทุกข์จากการสูญเสีย ปีละไม่น้อยกว่า 20,000 คน

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต รวบรวมสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทย ปี 2552 ระบุว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 3,634 ราย คิดเป็น ร้อยละ 5.72 ต่อ 1 แสนคน หรือเฉลี่ยวันละ 10 คน

ตัวเลขที่น่าตกใจนี้หากนำมาแบ่งตามกลุ่มอายุและเพศแล้วก็จะพบว่า ช่วงอายุของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุดอยู่ระหว่าง 30-39 ปี โดยเพศชายปลิดชีวิตตัวเองได้มากกว่าเพศหญิง 4 เท่า แม้ว่าเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะคิดฆ่าตัวตายได้ง่ายและมีจำนวนมากกว่าเพศชายก็ตาม

ซึ่งการฆ่าตัวตายในบ้านเรา ส่วนใหญ่ใช้วิธีการแขวนคอ, ใช้ปืนยิง, กินยาฆ่าแมลง หรือยาฆ่าหญ้า โดยภาคเหนือมีจำนวนคนฆ่าตัวตายนำโด่งกว่าทุกพื้นที่ ส่วน จ.นราธิวาส มีสถิติการฆ่าตัวตายน้อยที่สุดในประเทศ

ทั้งๆที่รู้ว่ากว่าพ่อแม่จะทำให้เราเกิดมาจนโตเป็นคนได้นั้น ยากเย็นแสนเข็ญกันเพียงไหน ทำไมจึงยังมีคนไม่เห็นคุณค่าในชีวิตของตัวเอง

เมื่อไหร่ที่เราจะกล้าเผชิญกับความจริง เผชิญกับปัญหาที่แก้ง่ายกว่าการเกิดมาเป็นคนไม่รู้กี่ร้อยเท่า

**********************

พญ.ศุภรัตน์ เอกอัศวิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต ให้ความรู้ว่า โรคร้ายในแต่ละคนจะมีการรับรู้และเปลี่ยนแปลงสภาวะจิตใจคล้ายๆกัน

“บางช่วงเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย จะเป็นช่วงแรกที่คนไข้เพิ่งรู้ ถ้าเป็นเราเราก็มักจะตกใจ หมดหวังและเศร้า แต่พอผ่านไปก็จะเริ่มคิดว่าเราน่าจะยังมีความหวัง เราจะเริ่มยอมรับได้ ทั้งๆที่อาการไม่ได้ดีขึ้น ธรรมดาจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หรือ 2 ปีในบางคน ซึ่งจะมีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายแค่ช่วงแรกๆที่รู้ว่าเป็นโรคร้าย หากดูแลไม่ดีพอก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตายได้”

โดยผู้ที่จะมาดูแลผู้ป่วยโรคร้ายแรงนี้ต้องผ่านการฝึก ที่ต้องเป็นแพทย์หรือพยาบาลที่มีความรู้ในการบอก ต้องมีเทคนิคในการบอกข่าวร้าย และต้องถูกฝึกอบรม

“อย่างเช่นผู้ป่วยโรคเอดส์ แพทย์พยาบาลที่ผานมาฝึกอบรมมาแล้วจะมีเทคนิคในการบอกข่าวร้ายกับคนไข้ หรือการเป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายเป็นต้น”

พ.ญ.ศุภรัตน์ บอกอีกว่า เมื่อผู้ป่วยผ่านขั้นตอนการรับรู้ข่าวร้ายในขั้นแรกแล้ว คนไข้ก็จะมีการปรับตัว ส่วนผู้ที่ยังมีภาวะอยากฆ่าตัวตายนั้น สิ่งที่สำคัญในช่วงนี้คือระบบเกื้อหนุน คือมีงานทำหรือไม่ มีเงินใช้ไหม การเข้าถึงระบบบริการ ช่วงนี้ต้องถูกดูแลให้ดี

“ครอบครัวต้องรู้ความต้องการ ให้ความหวังและให้ผู้ป่วยเห็นว่ามีคุณค่า หมอคิดว่าขั้นตอนนี้ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดต้องแสดงออกให้ชัดเจน”

แต่ถึงกระนั้นแม้ว่าจะผ่านช่วงนี้ไปได้แล้ว ก็ควรหมั่นสังเกตสัญญาณที่ผู้ป่วยสื่อออกมา

“สัญญาณดังกล่าวก็อย่างเช่น การพูดถึงความตาย การหนีเพื่อหมดทุกข์ หรือแม้แต่การเตรียมเครื่องมือ รวมถึงการบริโภคข่าวการฆ่าตัวตายมากขึ้น ตรงนี้ญาติพี่น้องต้องอยู่ใกล้ชิดดูแลให้ดี”

อย่างไรก็ตาม ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต ให้ความเห็นว่า การฆ่าตัวตายของคนไทยในปัจจุบันนี้เป็นปัญหาหนักใจทางการแพทย์ เมื่อคนหนึ่งจบชีวิตโดยไม่สมควร ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่

“อัตราค่าเฉลี่ยในการห่าตัวตายของคนไทย จะอยู่ที่ 5-6 คน ต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน หมายความว่า ใน 1 แสนคน หากมีผู้ประสบกับโรคร้ายก็จะมีคนที่คิดฆ่าตัวตายประมาณ 5-6 คน อาจบอกได้ว่าเป็นตัวเลขที่ปกติก็ได้ เพราะจะไปบอกว่าไม่มีเลยก็เป็นไปไม่ได้ แต่อาจจะมีบ้างที่บางจังหวัดมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงถึง 18-20 ราย และบางประเทศก็สูงมากถึง 30 คนต่อ 1 แสนคน สำหรับประเทศไทยหมอคิดว่าปัญหาการฆ่าตัวตายในขณะนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเร่งด่วน”