posttoday

ศาลอาญาคดีทุจริตฯเลื่อนสอบคำให้การ"บรรยิน"คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา

19 พฤษภาคม 2563

ศาลเลื่อนสอบคำให้การ "บรรยิน"กับพวก 6 คน” คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ไป 22 พ.ค. เหตุจำเลยที่ 3 ยังไม่มีทนายความ และยกคำร้องทนายความบรรยิน ที่ขอให้ความผิดฐานฆ่าคนตายไปฟ้องในศาลอื่นได้

เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา หมายเลขดำอท 69/2563 ที่ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 56 ปี อดีต รมช.พาณิชย์, นายมานัส ทับทิม, นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์, นายชาติชาย มณฑ์กุล, นายประชาวิทย์ ศรีทองสุข และ ด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.อ็อด วจีสัจจะ จำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐาน 1. ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิด 2. ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งคาไถ่เป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไปถึงแก่ความตาย 3. ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 4. ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป 5. เป็นซ่องโจรโดยสมคบกันเพื่อกระทำผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต 6. ร่วมกันพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป 7. ร่วมกันซ่อนเร้น ทำลายศพเพื่อปิดบังการตายและสาเหตุการตาย 8. ร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นเพื่ออำพรางคดี 9. ร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน และเฉพาะ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเพิ่มเติมในความผิดฐาน สวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน เพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิและแต่งเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิเพื่อกระทำผิดอาญาอีกด้วย

คำฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 7 ม.ค. - 5 ก.พ.2563 จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันสมคบคิด วางแผน แบ่งหน้าที่กันทำ ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย เอาตัวนายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ พี่ชายของ น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ ผู้เสียหาย ไปหน่วงเหนี่ยวกักขัง และใช้ความปลอดภัยในชีวิตของนายวีรชัยต่อรองเรียกค่าไถ่ ข่มขืนใจ น.ส.พนิดา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามที่จำเลยทั้งหกต้องการ คือให้ผู้เสียหายมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวก ในคดีอาญาหมายเลขดำ 305/2561 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่ง น.ส.พนิดา เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมกับให้มีคำสั่งคืนเงินหุ้นทั้งหมดในคดีแก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจะฆ่านายวีรชัยแล้วทำลายศพ โดยใช้ไฟเผาด้วยยางรถยนต์ ราดด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง อันเป็นการสมคบกันกระทำผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดความผิดของตน หลีกเลี่ยงให้พ้นอาญา และความผิดอื่นรวม 9 ข้อหา อันเป็นความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

จำเลยทั้งหกวางแผนโดยใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่มีการนำป้ายทะเบียนคันอื่นมาติดป้ายทะเบียน โดยใช้โทรศัพท์หมายเลขที่เปิดใหม่ ใช้ชื่อบุคคลอื่นในการเปิดหมายเลข เป็นยานพาหนะและเครื่องมือติดต่อสื่อสารติดตามความเคลื่อนไหวของนายวีรชัยหลายครั้ง จนทราบว่าผู้ตายจะโดยสารรถสาธารณะจากบ้านพักมาส่งผู้เสียหายเพื่อทำงานตอนเช้าที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และตอนเย็นก็จะมารับผู้เสียหายกลับบ้านพักเป็นประจำทุกวัน โดยวันที่ 4 ก.พ. 2563 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้บังอาจสวมเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้นายวีรชัยและบุคคลอื่นเชื่อว่าจำเลยเป็นตำรวจ เพื่อความสะดวกในการจับตัวนายวีรชัยไปกักขังเรียกค่าไถ่ ข่มขืนใจ น.ส.พนิดา และนำตัวไปฆ่าเผาทำลายศพ โดยจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 5 ร่วมกันแสดงเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ขอตรวจบัตรประชาชนนายวีรชัย แล้วร่วมกันล็อกคอฉุดลากบังคับผู้ตายไปกักขังในรถโตโยต้าสปอร์ตไรเดอร์ สีดำ ซึ่งได้นำมาจอดริมถนนหน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมานายวีรชัยได้ถึงแก่ความตายจากการถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังดังกล่าว

การกระทำของจำเลยทั้งหก จึงเป็นการร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังนายวีรชัย จนเป็นเหตุถึงแก่ความตาย โดยระหว่างที่ร่วมกันนำตัวนายวีรชัยมากักขังหน่วงเหนี่ยวในรถ ได้เดินทางมุ่งหน้าไป จ.นครสวรรค์ ยังได้ร่วมกันข่มขืนใจ น.ส.พนิดา ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในคดีอาญาหมายเลขดำ 305/2561 ให้ยกฟ้องและคืนเงินกับหุ้นที่ถูกอายัดไว้ โดยพูดกับผู้เสียหาย อาทิ “ถ้าไม่ยอมยกฟ้องเนี่ย คืนเงินกับหุ้นเนี่ยทั้งหมดให้เขา เขาให้กูเอาผัวมึงไปทิ้งได้เลย” “ถ้ามึงยอมนะ เอาเก็บไว้ในค่ายก่อน รอจนกว่ามึงตัดสินคดีเสร็จอะ ถ้ายกฟ้องต้องยกให้หมดเลย” “ให้ยกฟ้องทุกคน และคืนเงินหุ้นทั้งหมด” “ถ้ามึงบอกทำไม่ได้ วันนี้กูก็จะจัดการผัวมึงเลย รับรองหาซากไม่เจอ” “ถ้าไม่ยกฟ้อง หรือไม่มีตุกติก ผัวมึงจำหน่ายทันที” โดยจำเลยทั้งหกเข้าใจว่านายวีรชัยเป็นสามีของผู้เสียหาย

หลังจากนั้นจำเลยทั้งหกได้ปิดโทรศัพท์มือถือของนายวีรชัย แต่ น.ส.พนิดา ผู้เสียหายไม่สามารถกระทำการตามที่จำเลยทั้งหกข่มขืนใจดังกล่าวได้ ต่อมาจำเลยจึงได้ร่วมกันฆ่านายวีรชัยจนถึงแก่ความตาย โดยภายหลังจากที่จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันกระทำความผิดแล้ว จำเลยที่ 1-5 มีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามแผนการที่จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันวางแผนไว้ ได้นำยางรถยนต์สวมใส่ศพ นำน้ำมันเบนซินจุดไฟเผา แล้วร่วมกันเก็บชิ้นส่วนที่เหลือจากการเผาใส่ถุงพลาสติกหลายถุงทิ้งริมถนนสายนิคม-ห้วยดุก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ และทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหมู่บ้านกลางแดด จ.นครสวรรค์ พร้อมนำทรัพย์สินของผู้ตาย เครื่องมือในการกระทำผิดทิ้งลงแม่น้ำปิง บริเวณหน้าวัดไทรใต้ เพื่อทำลายหลักฐาน เหตุเกิดที่แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ, อ.บางบัวทอง จ.สุพรรณบุรี, อ.ตาคลี อ.เมืองนครสวรรค์ เกี่ยวพันกัน

ท้ายคำฟ้องระบุว่า หากจำเลยทั้งหมดยื่นขอปล่อยชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากคดีอัตราโทษสูง หากปล่อยชั่วคราวน่าจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ก่อเหตุอันตรายประการอื่น และหลบหนี หากจำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ โจทก์ประสงค์ขอสืบพยานรับสารภาพของจำเลย โดยการกระทำของจำเลยทั้งหกในคดีนี้เป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง อุกอาจ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือเป็นความมั่นคงของประเทศ จึงขอศาลลงโทษจำเลยทั้งหกสถานหนักด้วย

โดยนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยทั้งหกและกำหนดวันนัดพิจารณาวันนี้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ได้เบิกตัวจำเลยทั้ง 6 คน แต่ศาลใช้วิธีอ่านกระบวนพิจารณาโดยถ่ายทอดภาพและเสียง ลักษณะการประชุมผ่านจอภาพ ไปยังเรือนจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่โจทก์ นายสนิท พรมศร ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาศาล รวมทั้งนางวราภรณ์ ตั้งภากรณ์ ภรรยา พ.ต.ท.บรรยิน ก็เดินทางมาศาลด้วย

เมื่อถึงเวลานัด ศาลได้สอบถามนายณรงค์ศักดิ์ , นายชาติชาย , นายประชาวิทย์ และ ด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.อ็อด จำเลยที่ 3-6 แล้ว นายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 3 แถลงว่ายังไม่มีทนายความ ประสงค์จะให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้ ส่วน นายชาติชาย , นายประชาวิทย์ และ ด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.อ็อด จำเลยที่ 4-6 แถลงว่าได้ติดต่อทนายความไว้แล้วโดยจำเลยที่ 4 และ 5 จะแต่งนายสรพงษ์ วิทิตธัญปรีดา เป็นทนายความ จำเลยที่ 6 จะแต่งตั้งนายสมนึก โพธิ์ทะเล เป็นทนายความ ซึ่งนายสมพงษ์ และนายสมนึก เดินทางมาศาลในวันนี้ด้วย ซึ่งศาลได้สอบถามบุคคลทั้งสอง แถลงรับว่าได้รับเป็นทนายความของจำเลยที่ 4-6 จริง โดยจะให้จำเลยที่ 4 -6 ลงชื่อในใบแต่งทนายความแล้วจะเสนอศาล ภายในวันที่ 22 พ.ค. 2563 นี้

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อในวันนี้จำเลยที่ 3-6 ยังไม่ได้แต่ตั้งทนายความเข้ามาจึงไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาอ่าน อธิบายฟ้องให้จำเลยทั้งหกฟังได้ ให้แต่งตั้งทนายความขอแรงให้กับนายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 3 โดยให้ทนายความไปพบจำเลยที่ 3 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อลงสายมือชื่อในใบแต่งทนายความนำเข้ารวมในสำนวน

จึงให้เลื่อนไปนัดอ่านอธิบายฟ้อง และสอบคำให้การจำเลยทั้งหกในวันที่ 22 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น. โดยทนายความจำเลยที่ 1 และ 2 แถลงขออนุญาตคัดถ่ายเอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาล รวมทั้งเอกสารในสำนวนคดี ส่วนทนายความจำเลยที่ 1 และ 2 ขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานภายในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ศาลพิจารณาแล้วอนุญาต

ขณะที่ทนายความจำเลยที่ 1 และ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีการกระทำ อันเป็นความผิดคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้ ส่วนความผิดกรรมอื่น

ขอให้ศาลไม่รับรอง โดยให้โจทก์นำไปฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจตามคำร้องฉบับ ลงวันที่ 7 พ.ค.นี้ ซึ่งตามคำร้องดังกล่าว ศาลได้มีคำสั่งให้รวมไว้ในสำนวนคดี จึงขอให้ศาลวินิจฉัยตามคำร้องอีกครั้ง ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา139,140,145,146,199,210,213,289,309,310 และ มาตรา 313

ซึ่งคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 และมาตรา 140 เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้ ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ มาตรา 3 (3) แต่เมื่อความผิดฐานอื่นเป็นความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันกับความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้ ศาลได้พิจารณารับฟ้องของโจทก์ไว้แล้ว เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา จึงเป็นกรณีที่ศาลได้รับคดีของโจทก์ทุกข้อหา ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันและเกี่ยวเนื่องกันไว้พิจารณา โดยคำนึงถึงความสะดวกและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามคำแถลงของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันนี้อีก