posttoday

กสศ.เดินหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นผลิตครูป้อนโรงเรียนชนบท

13 พฤษภาคม 2563

กสศ.สานต่อโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 2 ให้ทุนเด็กเรียนครูป้อนโรงเรียนของชุมชน 301 อัตรา กำหนดลงพื้นที่ค้นหาคัดกรองเด็ก ก.ย.นี้ หวังให้เป็นการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำผ่านกระบวนการผลิตครู พร้อมปรับแผนรับมือโรคระบาดโควิด-19

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผอ.สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหาร กสศ.เห็นชอบแผนการทำงานโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 2 ขณะนี้ได้ประกาศเชิญชวนสถาบันอุดมศึกษาที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ สำหรับโครงการรุ่นที่ 2 นี้ ทางสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งว่ามีอัตราครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลที่จะสามารถบรรจุเป็นครูได้รวม 301 อัตรา ในเครือข่ายพื้นที่การทำงาน 45 จังหวัด ใกล้เคียงกับรุ่นที่ 1ซึ่งจะยังคงเน้นผลิตบุคลากรครูในสาขาปฐมวัยและประถมศึกษาเหมือนเดิม

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทาง กสศ.ได้ปรับแนวทางการทำงานทั้งการรับข้อเสนอจากสถาบันการศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการตามประกาศ โดยจะมีการเวิร์คช็อปออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM ร่วมกับสถานศึกษาครั้งแรกในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จากนั้นจะพิจารณาและคัดเลือกสถาบันเข้าร่วมโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. ก่อนเริ่มจะคัดเลือกเด็กในช่วง ก.ย.-ธ.ค. ซึ่งแต่ละสถาบันการศึกษาจะลงพื้นที่ค้นหา คัดกรอง และออกแบบกระบวนการคัดเลือกเพื่อให้ได้รายชื่อเด็กที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดในเดือน ม.ค. 2564

กสศ.เดินหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นผลิตครูป้อนโรงเรียนชนบท

ดร.อุดม กล่าวว่า หนึ่งในแนวคิดหลักของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คือการสร้างบัณฑิตครูคุณภาพพร้อมให้เขากลับไปสอนรุ่นน้องและพัฒนาชุมชนบ้านเกิด ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล (Protected School หรือ Standalone) ดังนั้นนอกจากการสอนหนังสือแล้ว จึงจะเน้นการแก้ปัญหาชุมชนด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น หากในพื้นที่เป็นทำการเกษตรเขาก็จะต้องรู้จักวิธีทำการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องรู้จักบริบทของพื้นที่เพื่อออกแบบการสอนให้สอดรับกับความต้องการ เมื่อจบมาแล้วไปเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เพราะหากต้องยุบโรงเรียนเหล่านี้ไปเด็กๆ อีกหลายคนในชุมชนก็อาจจะเสียโอกาสการเข้าถึงการศึกษา

?“ทาง กสศ. คาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การผลิตครู ที่มหาวิทยาลัยจะไม่สอนตามหลักสูตรในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป แนวทางที่ดำเนินการอยู่จะทำให้มหาวิทยาลัยได้ทบทวนและศึกษากระบวนการผลิตครูของตัวเองไปด้วยว่าการสร้างบัณฑิตครูคุณภาพที่สอดรับกับความต้องการของโรงเรียนนั้นควรเป็นอย่างไร ตามมาตรฐานนักศึกษาประมาณ 30 คนต่อชั้นเรียน ดังนั้น เราจึงคาดหวังว่าสถาบันที่เข้าร่วมโครงการจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด จึงถือเป็นต้นน้ำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและทำให้ระบบการศึกษาไทยมีครูดีที่จะใส่เข้าไปในระบบ” ดร.อุดม กล่าว

ดร.อุดม กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีเกณฑ์คัดเลือกที่ใกล้เคียงกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 แต่จะมีการขยายขอบเขตของการเปิดรับสมัครสถาบันอุดมศึกษาที่สนใจเข้าร่วมเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการให้กว้างขึ้น เพื่อประโยชน์กับผู้เรียนที่ ไม่ต้องเดินทางไกลจากภูมิลำเนาของตนเองมากนัก โดยพิจารณาคัดเลือกสถาบันที่อยู่ในภูมิภาคที่มีอัตราบรรจุแต่งตั้งครู ปี 2568 สำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ที่ สพฐ.จัดสรรให้กับโครงการ ดังนั้น ในปีนี้จึงจะมีสถาบันที่สามารถสมัครเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กสศ.มีกระบวนการคัดเลือกสถาบันที่จะเข้าร่วมโครงการอย่างเข้มข้นตามเกณฑ์คุณภาพ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะร่วมกันพิจารณาข้อเสนอโครงการ และลงพื้นที่ดูความพร้อมในสภาพจริง รวมถึงแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้บริหารของสถาบัน เพื่อประเมินความพร้อมทั้งทางกายภาพ และฐานคิดที่สอดคล้องกับเป้าหมายโครงการด้วย ทั้งนี้สถาบันที่เข้าร่วมโครงการจะเริ่มปฏิบัติการผลิตครูตั้งแต่ต้นทาง คือ มีกระบวนการค้นหา คัดกรอง และคัดเลือก ให้ได้ผู้มีจิตใจรักอยากเป็นครู มีจิตสาธารณะที่พร้อมจะกลับไปพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน และได้ครูที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สำหรับสถาบันที่สนใจเข้าร่วมสามารถลงทะเบียนได้ตามลิงค์ https://forms.gle/WWrk6W7uJr5qi7sn9 หรือ Scan QR Code ( 1 มหาวิทยาลัยลงทะเบียนได้สถาบันละ 2 ท่าน) ทาง กสศ. จะจัดส่งลิงค์เข้าร่วมการประชุมไปทาง e-mail ของท่านต่อไป