posttoday

ศาลฎีกาไ่ม่รับคำฎีกาอัยการรับเคลียร์คดี จำคุกทันที10ปีตามคำตัดสินชั้นอุทธรณ์

17 เมษายน 2563

ศาลฎีกา สั่งไม่รับคำฎีกาของอดีตอัยการจำเลยเรียกรับเงินเคลียร์คดีผู้ต้องหาสุดท้ายต้องรับโทษตามคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์จำคุก 10 ปี

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี วันที่ 17 เม.ย.63 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ศาลนัดฟังคำสั่งศาลฎีกา กรณีที่ นายฐิติวัชร์ ศิริพร อัยการจังหวัดประจํากรม สํานักงานอัยการจังหวัดยโสธร ช่วยราชการสำนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี จำเลย ยื่นฎีกา คดีหมายเลขดำ อท.89/2560 ที่อัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายฐิติวัชร์ อัยการจังหวัดประจำกรม เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด , ฐานผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,201

กรณีที่ถูกกล่าวหาว่า ได้เรียก รับ หรือยอมจะรับเงินจำนวน 30,000 บาทสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการใช้อำนาจและหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานอัยการโดยทุจริต ช่วยเหลือบุคคลทั้งสี่ที่ตกเป็นผู้ต้องหา ไม่ให้ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาล ซึ่งกรณีดังกล่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายฐิติวัชร์ เมื่อปี 2558 ขณะกำลังดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีแพ่ง กรุงเทพใต้ 4 (พระโขนง) ว่าเมื่อครั้งนายฐิติวัชร์ ดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรง และความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , 201 กรณีเรียกรับเงินจากผู้ต้องหาและภรรยาผู้ต้องหา เพื่อช่วยเหลือในการสั่งคดี รวม 2 คดี

คดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.60 ว่า นายฐิติวัชร์ อัยการจังหวัดประจำกรม จําเลย มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 201 ซึ่งการกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ป.อ.มาตรา 91 ให้จําคุก 2 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจําคุก 10 ปี

ต่อมานายฐิติวัชร์ อัยการจังหวัดประจำกรม จําเลย ยื่นอุทธรณ์ โดยมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อปี 2561 ซึ่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จําคุก 2 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจําคุก 10 ปี

ขณะที่ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด มีความเห็นพ้องกันเมื่อปี 2562 ไม่ฎีกาคำพิพากษา แต่ในส่วนนายฐิติวัชร์ อัยการจังหวัดประจำกรม จําเลย ได้ยื่นฎีกาขั้นตอนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ) มาตรา 221 บัญญัติว่า คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกนั้นไม่เกิน 5 ปี หากจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องมีผู้พิพากษาในสำนวน หรือที่ทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดเซ็นรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย

วันนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาว่าจะอนุญาตให้จำเลยฎีกาตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา ให้ยกคำร้อง และไม่รับฎีกาของจำเลย คดีจึงยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้จำคุกจำเลย 2 กระทงๆ ละ 10 ปีโดยไม่มีการรอลงอาญาต้องรับโทษตามคำพิพากษาทันทีตั้งแต่วันนี้