posttoday

2องค์กรวิศวะเสนอแนวทางแก้น้ำท่วม เพิ่มพื้นที่แก้มลิง-ระบบท่อใต้ดิน

20 กันยายน 2562

สภาวิศวกรและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม จัดหาพื้นที่แก้มลิงเพิ่ม-สร้างระบบท่อใต้ดิน

สภาวิศวกรและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม จัดหาพื้นที่แก้มลิงเพิ่ม-สร้างระบบท่อใต้ดิน

สภาวิศวกรและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.)เสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการจัดหาพื้นที่ทำแก้มลิงเพิ่มพร้อมสร้างระบบท่อใต้ดินเชื่อมโยงเพื่อกักเก็บและระบายน้ำยามหน้าฝน

พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีด้านการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำและฉับไว ที่สำคัญคือระบบการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงล่วงหน้าอย่างรวดเร็วเพื่อลดผลกระทบ เพราะเหตุการณ์ที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นการยืนยันชัดเจนว่า ขาดการแจ้งเตือนทั้งที่รู้ล่วงหน้าว่าพายุเข้าแน่

ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า อยากถอดบทเรียนเหตุการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อจะได้มีการเตรียมการรับมือที่ดี เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เกิดครั้งแรก เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง

โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำ จึงอยากเสนอแนวทางแก้ไขที่ประเทศต่างๆที่มีพื้นที่อยู่ต่ำกว่าน้ำ อย่าง เนเธอร์แลนด์ ดำเนินการมาหลายสิบปีต่อภาครัฐ เพื่อจะได้ลดผลกระทบต่อประชาชนในอนาคต

“ด้วยการทำคันดินริมสองฝั่งแม่น้ำให้สูงกว่าระดับน้ำ 2-3 ม.เพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่งเข้าพื้นที่ริมน้ำ ตามด้วยทำตามแนวทางที่ในหลวงร.9ที่ได้ทรงพระราชทานแนวทางไว้คือ การปรับพื้นที่แอ่ง บึง ทะเลสาบขนาดเล็ก ให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำเมื่อฝนตกหนักหรือที่เรียกว่าแก้มลิง”

“แต่สำหรับในพื้นที่ในเมืองที่อัดแน่นด้วยสิ่งปลูกสร้างและที่อยู่อาศัยจำกัดด้วยพื้นที่ทำแก้มลิง ก็ให้จัดทำเป็นระบบท่อใต้ดินตามพื้นที่สาธารณะที่ไม่ต้องเวนคืน อย่าง ใต้ถนน สวนสาธารณะ ฯลฯ เพื่อระบายน้ำไปยังแหล่งรับน้ำ”

“ทั้งยังสามารถนำน้ำไปกักเก็บเพื่อไว้ไปช่วยเรื่องชลประทานในพื้นที่เกษตรที่อยู่ใกล้เคียงเมื่อยามหน้าแล้งได้ด้วย ซึ่งระบบท่อใต้ดินดังกล่าวนี้ทำได้ง่าย เพราะไม่ได้ใช้พื้นที่ด้านบน และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากด้วย”ศ.สุชัชวีร์ ว่า

ศ.สุวัฒนา จิตตลดากร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ สภาวิศวกร กล่าวว่า ภาครัฐต้องยอมรับว่าเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานีแสดงให้เห็นว่า ขาดระบบการแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ดีพอ

ทั้งที่ก่อนหน้าไม่นานก็รับทราบข้อมูลว่า จะมีพายุโซนร้อน 2 ลูกคือ โพดุล กับ คาจิกิ เข้ามาแน่นอน มีฝนตกลักษณะกระจุกตัว อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำมูลก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าหากมีการเตือนภัยล่วงหน้าที่ดีแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะน้อยกว่านี้มาก

“ปัจจุบันเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศในโลกนี้พัฒนาไปมากแล้ว ซี่งหากประเทศไทยเรานำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมกับระบบบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิดประตูน้ำ ระบบเตือนภัยยามปริมาณน้ำสูงขึ้นแบบที่ต่างประเทศใช้คือระบบเซนเซ่อร์อัตโนมัติ ไม่ต้องใช้คนคอยดู”

“บวกกับระบบแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอย่างรวดเร็วมีการจัดการที่ดี เพราะเชื่อว่าที่ผ่านมา ระบบข้อมูลเรื่องน้ำของไทยเรานั้นไม่เป็นเอกภาพ ข้อมูลอยู่หลายหน่วยงาน อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน หรืออย่าง สทนช.(สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) เป็นต้น จึงควรเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพ และแจ้งเตือนในพื้นที่โดยเร็ว ด้วยเทคโนโลยีอย่าง แอพพลิเคชั่น ฯลฯ”ศ.สุวัฒนา กล่าว

ขณะที่ รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษาวิศวกรรมสถานฯ กล่าวว่า ความเดือดร้อนของประชาชนที่สำคัญอีกช่วงเวลาหนึ่งก็คือ ช่วงหลังน้ำท่วมที่ต้องมีการฟื้นฟูพื้นที่และให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

โดยทางวิศวกรรมสถานฯและสภาวิศวกรมีข้อตกลงที่จะส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรทั้งระดับสูง ระดับปฏิบัติงาน รวมทั้งระดมวิศวกรอาสา ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่คาดว่าน้ำน่าจะลดลงเกือบหมดแล้ว เพื่อตรวจดูโครงสร้างบ้านเรือนประชาชน อาคารของรัฐ และถนน สะพานฯลฯ ว่าได้รับผลกระทบแค่ไหน และควรจะปรับปรุงซ่อมแซมให้ถูกหลักวิศวกรรมอย่างไร

รวมทั้งลงพื้นที่ตามบ้านประชาชนให้ความรู้และช่วยเหลือว่า โครงสร้างบ้านตรงไหนที่ไม่ควรกลับเข้าไปอยู่โดยทันที ระบบไฟฟ้าในบ้านปลอดภัยหรือไม่ ฯลฯ โดยจะพยามระดมเจ้าหน้าที่ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้ทั่วจังหวัดอุบลฯ