posttoday

ยธ.เล็งขยายพักโทษเป็น5ปี พร้อมคุมผ่านเครื่องติดตามตัวแก้คุกล้น

19 สิงหาคม 2562

กระทรวงยุติธรรม เล็งขยายกรอบการพักโทษเป็น 5 ปี พร้อมคุมเข้มนักโทษที่ถูกปล่อยตัวระหว่างพักโทษผ่านกำไลอิเล็กทรอนิกส์ แก้ปัญหาคุกล้น

กระทรวงยุติธรรม เล็งขยายกรอบการพักโทษเป็น 5 ปี พร้อมคุมเข้มนักโทษที่ถูกปล่อยตัวระหว่างพักโทษผ่านกำไลอิเล็กทรอนิกส์ แก้ปัญหาคุกล้น

เมื่อวันที่ 19 ส.ค.62 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวระหว่างมอบนโยบายผู้บัญชาการเรือนจำ ผ่านการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปยังผบ.เรือนจำ และทัณฑสถานทั่วประเทศ ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในหลายเรือนจำ พบว่างานเรือนจำมีระบบการให้บริการที่ดีมาก ถึงแม้จะมีผู้ต้องข้งเข้ามาใช้บริการเกือบ 4 แสนคน ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมพยายามจะออกแบบวิธีการให้เกิดคงสมดุลระหว่างจำนวนนักโทษที่เข้าและออก เพื่อที่จะไม่ต้องสร้างเรือนจำใหม่ใหม่พื้นที่เพียงพอในการคุมขัง ทางออกอาจจะเป็นเครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือ "กำไลอีเอ็ม" ซึ่งจะต้องทำภายใต้กรอบของกฎหมาย นอกจากนี้จะเร่งผลักดันโครงการคืนคนดีสู่สังคม สร้างเขตอุตสาหกรรมในเรือนจำ และการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการเกษตร เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยื่นให้กับผู้พ้นโทษ พร้อมกันนี้ยังได้เร่งรัดมาตรการจูงใจทางภาษี ด้วยการลดหย่อนภาษีให้นายจ้างและผู้ประกอบการ ที่จ้างงานผู้พ้นโทษ

“สำหรับงบประมาณที่เป็นอาหารเลี้ยงนักโทษ ขอฝากให้เรือนจำพิจารณาถึงหลักโภชนาการ แม้การประมูลในค่าอาหารราคาต่ำ จำนวน 23 บาทต่อคน ต่อวัน ซึ่งข้อดีทำให้ประหยัดงบประมาณของรัฐ แต่หากถูกตั้งคำถามเรื่องหลักโภชนาการ ว่าอาหารของเรือนจำ มีคุณค่าทางโภชนาการหรือไม่ เราอาจตอบคำถามนี้ไม่ได้ เพราะอาหารมื้อเดียวในโรงเรียน มีราคาถึง22 บาท “นายสมศักดิ์กล่าว

ด้านนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในแต่ละปีผู้ต้องขังเข้าสู่เรือนจำ สูงกว่าจำนวนที่ปล่อยออกปีละ 6 หมื่นคน จนกลายเป็นตัวเลขสะสม ดังนั้นจึงต้องเร่งรัดให้มีการพิจารณาพักโทษ ผู้ต้องขังที่กระทำผิดครั้งแรก แต่เป็นการปล่อยโดยมีการติดตามเป็นรายบุคคล และใช้กำไลอีเอ็มตรวจสอบ เพื่อให้สังคมมั่นใจ

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะขยายกรอบปรับการพักการลงโทษจาก 3 ปีเป็น 5 ปี หากสามารถลดการกระทำความผิดซ้ำจาก 35% เหลือไม่เกิน 15 % การพักโทษจะมีประโยชน์มากกว่า เก็บนักโทษไว้ในเรือนจำ

ด้านพ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์กำลังเผชิญกับปัญหาพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม ทั้งปัญหาคนล้นคุก โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขัง จำนวนกว่า 370,000 คน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่มีจำนวนเจ้าหน้าที่และสถานที่คุมขังไม่เพียงพอ อันเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมของไทยได้ถูกออกแบบมาให้มีโทษทางอาญาถึงขั้นจำคุกมากเกินไป นอกจากนี้ยังปัญหาสุขภาวะในเรือนจำ อันเป็นผลมาจากปัญหาคนล้นคุกทำให้การกินอยู่หลับนอน การรักษาพยาบาล และกิจกรรมต่างๆในเรือนจำไม่เป็นสุขภาวะเป็นผลทำให้การฝึกอบรมแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยมีประสิทธิภาพลดลง