posttoday

"เทียนทยา" พืชชนิดใหม่ของโลก อาจารย์ ม.มหิดล ร่วมค้นพบ

29 กรกฎาคม 2562

อ.ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทย์ ม.มหิดล ร่วมค้นพบ "เทียนทยา" พืชชนิดใหม่ของโลก

อ.ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทย์ ม.มหิดล ร่วมค้นพบ "เทียนทยา" พืชชนิดใหม่ของโลก

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งในทางธรรมชาติ ยิ่งเรามีความหลากหลายมากเท่าไหร่ จะทำให้ระบบสิ่งแวดล้อมมีความเสถียรมากขึ้น

ล่าสุด อ.ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน นักพฤกษศาสตร์ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.เชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์เทียนของไทย ค้นพบ "เทียนทยา" Impatiens jenjittikuliae Ruchis. & Suksathan พืชวงศ์เทียน BNalsaminaceae ชนิดใหม่ของโลก โดยปัจจุบันพบได้เฉพาะในเขตจังหวัดตากเท่านั้น ตีพิมพ์ในวารสาร Phytokeys ฉบับที่ 124 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

"เทียนทยา" พืชชนิดใหม่ของโลก อาจารย์ ม.มหิดล ร่วมค้นพบ ภาพโดยอ.ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล

อ.ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล เล่าว่า "เทียนทยา" เป็นพืชสกุลเทียน เป็นพืชล้มลุกสูง 30 ซม. ต้น ใบ และดอก มีขน ดอกสีม่วงอมชมพู ตนตั้งชื่อว่า "เทียนทยา" เพื่อเป็นเกียรติแก่ ผศ.ดร.ทยา เจนจิตติกุล นักพฤกษศาสตร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจุดประกายให้ตนสนใจที่จะศึกษาพืชกลุ่มนี้

โดยงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจพรรณไม้เพื่อจัดทำคู่มือ พรรณพฤกษชาติของไทย หรือ Flora of Thailand ซึ่งเป็นการจัดทำคู่มือพรรณไม้มีท่อลำเลียงทุกชนิดที่พบในประเทศไทย ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 และคาดว่าจะเสร็จสิ้นโครงการในปี พ.ศ.2567

ในส่วนของภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีอาจารย์หลายท่านที่มีส่วนร่วมในการเขียน Flora of Thailand โดยเรามีผู้เชี่ยวชาญทั้งในกลุ่มของพืชตระกูลวงศ์ขิง สกุลกระชายดำ สกุลชมพูกาหลง สกุลบุปผาบูโด วงศ์กล้วย วงศ์ผักบุ้ง วงศ์กล้วยไม้บางกลุ่ม แล้วก็มีพืชวงศ์เทียนที่ตนทำอยู่ โดยพร้อมให้บริการข้อมูลที่ถูกต้องแก่ทั้งนักวิชาการ และประชาชนทั่วไป

"เทียนทยา" พืชชนิดใหม่ของโลก อาจารย์ ม.มหิดล ร่วมค้นพบ

ภาพโดย อ.ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล

"ในประเทศไทยมีพรรณไม้หลากหลายมาก อาจกล่าวได้ว่าพรรณไม้ทุกชนิดมีประโยชน์หมด เพียงแต่ว่าเราจะหยิบมาใช้อย่างไร แม้ไม่ได้มีประโยชน์ทางตรง แต่ก็มีประโยชน์ทางอ้อม เราจึงควรอนุรักษ์ไว้ให้มากที่สุด ผมอยากให้เทียนเป็นพืชที่สามารถดึงผู้คนให้หันมาสนใจในเรื่องของธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพกันมากขึ้น จะได้เกิดความตระหนักกันมากขึ้น โดยหวังจะให้ส่งผลถึงในระดับเป็นนโยบายรัฐ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ในส่วนของพื้นที่ป่ามากขึ้น" อ.ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล กล่าวทิ้งท้าย