posttoday

"ศิริราช"ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาสำเร็จครั้งแรก

04 มิถุนายน 2562

รพ.ศิริราชปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาสำเร็จครั้งแรกในไทย เตรียมถอดความรู้ให้หมอตาทั่วประเทศ ด้านผู้ป่วยดีใจได้ชีวิตใหม่ หลังมองไม่เห็นมากว่า 20 ปี

รพ.ศิริราชปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาสำเร็จครั้งแรกในไทย เตรียมถอดความรู้ให้หมอตาทั่วประเทศ ด้านผู้ป่วยดีใจได้ชีวิตใหม่ หลังมองไม่เห็นมากว่า 20 ปี

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงถึงความสำเร็จของศิริราชในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาเป็นครั้งแรกของไทยว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ทีมจักษุแพทย์ศิริราช ได้ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัส CLET (Cultivated limbal epithelial transplantation) ต่อมา พ.ศ. 2551 พัฒนาการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเยื่อบุปาก COMET (Cultivated oral mucosal epithelial transplantation)

"ศิริราช"ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาสำเร็จครั้งแรก

ทั้งนี้ พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ใช้วิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัส โดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยง SLET (Simple limbal epithelial transplantation) สำเร็จเป็นครั้งแรก และแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะนำมาช่วยผู้ป่วยตามความเหมาะสม โดยผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้สามารถมารับบริการที่รพ.ศิริราชได้ โดยเป็นโครงการวิจัย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

พญ.งามแข เรืองวรเวทย์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา กล่าวว่า สเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา หรือลิมบัสทำหน้าที่สร้างเซลล์ผิวกระจกตาทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไปตลอดเวลา และป้องกันไม่ให้เส้นเลือดจากเยื่อตารุกเข้ามาในกระจกตาได้ หากสเต็มเซลล์นี้เสียหายก็ทำให้มีปัญหากระจกตา ขุ่นมัว เสียการมองเห็นได้

สำหรับ สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีปัญหาคือ กระจกตาติดเชื้อ อุบัติเหตุกับดวงตา มีการผ่าตัดหลายครั้ง รวมถึงผู้ป่วยแพ้ยารุนแรง หรือสตีเว่นจอนสันซินโดรม ตา โรคสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่องแต่กำเนิด โรคเนื้องอก หรือ ต้อเนื้อขั้นรุนแรง เป็นต้น การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาตามวิธีมาตรฐาน ไม่สามารถรักษาภาวะสเต็มเซลล์บกพร่องได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา

"ศิริราช"ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาสำเร็จครั้งแรก

พญ.ภิญนิตา ตันธุวนิตย์ หัวหน้าสาขากระจกตา ภาควิชาจักษุวิทยา และหัวหน้าทีมปลูกถ่ายฯ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีสเต็มเซลล์บกพร่องอย่างรุนแรง ต้องรักษาโดยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ผิวกระจกตา ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัสหรือเยื่อบุปาก สามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1.การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัส และ 2.การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยการเพาะเลี้ยงเยื่อบุปาก

" หากมีผู้ป่วยที่มีภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่อง รพ.ศิริราชจะเลือกใช้วิธี SLET โดยใช้เซลล์ของผู้ป่วยหรือญาติสายตรงมาปลูกถ่ายเป็นวิธีแรก แต่หากสภาวะของผู้ป่วยไม่เหมาะสมกับวิธี SLET จะพิจารณาทำการปลูกถ่ายด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแทน ปัจจุบันการรักษาภาวะสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาบกพร่อง ทั้ง 3 วิธีของศิริราชได้ทำการผ่าตัดทั้งสิ้น 86 ตา ในผู้ป่วย 75 ราย จากวิธี CLET 24 ตา COMET 27 ตา ประสบผลสำเร็จประมาณ 70% ในขณะวิธี SLET ผ่าตัดแล้ว 35 ตา ประสบผลสำเร็จ 83% นับเป็นนวัตกรรมที่สำคัญรวมทั้งส่งเสริมการผ่าตัดวิธีนี้ให้แพร่หลายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ไม่มีห้องปฏิบัติการ ซึ่งศิริราชพร้อมถ่ายทอดโดยจะมีการให้ความรู้จักษุแพทย์ทั่วประเทศในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนระยะเวลาในการพักฟื้นนั้นอยู่ที่ประมาณ 1เดือน"พญ.ภิญนิตา

"ศิริราช"ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาสำเร็จครั้งแรก

ด้าน นายประกอบ ขจรฤทธิ์ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตา กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณทีมแพทย์ที่ให้การรักษา และรู้สึกดีใจที่ได้กลับมามองเห็นอีกครั้งจากที่ตาเคยมีปัญหามากว่า 20 ปีเหมือนได้ชีวิตใหม่ทั้งตัวเองและครอบครัว