posttoday

ฝุ่นพิษถล่มเหนือผวาท่องเที่ยววูบล้มป่วยพุ่ง100%

15 มีนาคม 2562

เอกชนหวั่นวิกฤตฝุ่นพิษนักท่องเที่ยวหนี ทำเทศกาลสาดน้ำสงกรานต์ล้านนาซบเซา

เอกชนหวั่นวิกฤตฝุ่นพิษนักท่องเที่ยวหนี ทำเทศกาลสาดน้ำสงกรานต์ล้านนาซบเซา

กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมและภาคธุรกิจท่องเที่ยวต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวตามไปด้วย หากวิกฤตฝุ่นพิษยังแก้ไม่หายยาวไปถึงเดือน เม.ย.นี้ จะส่งผลกระทบต่อเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ล้านนา อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เช่น จ.เชียงใหม่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติหนีไปเล่นสาดน้ำสงกรานต์ภาคอื่นแทน

นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัญหามลพิษจากฝุ่นควันที่มีความรุนแรงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ทั้งนี้ นับจากสถานการณ์ ฝุ่นควันพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.จนถึงขณะนี้ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 30% และคาดว่าในช่วงระยะ 3-5 เดือนของสถานการณ์ฝุ่นควันพิษจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวเพิ่มขึ้นถึง 100%

นพ.ชายชาญ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยทำการศึกษาวิจัยผล กระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาฝุ่นควันพิษ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว และด้านสุขภาพ พบว่าได้ส่งผล กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ มีมูลค่าความเสียหายต่อปีประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นควันพิษในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จะเกิดขึ้นในระยะเพียง 1-2 เดือน แต่ปัจจุบันได้กินเวลายาวนานขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5 เดือน

"ผลกระทบปัญหาฝุ่นละอองของ จ.เชียงใหม่ ที่รุนแรงต่อเนื่อง มาหลายวันโดยผลกระทบต่อสุขภาพ ในระยะสั้นจะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยรายวันจากโรคระบบทางเดินหายใจหัวใจและหลอดเลือดสมองสูงขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนผลกระทบในระยะยาวที่ร้ายแรงคืออายุขัยเฉลี่ยสั้นลงตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 โดยพบว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัมที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมีอายุสั้นลง 1 ปี" นพ. ชายชาญ กล่าว

สำหรับ จ.เชียงใหม่ ครองแชมป์อันดับ 1 ในด้านมีคุณภาพอากาศที่เป็นมลพิษสูงอันดับ 1 ของโลกติดต่อกัน 4 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11-14 มี.ค. 2562 ซึ่งสถิติข้อมูลการเปิดไฟป่าในพื้นที่จ.เชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 มี.ค. พบการเกิดจุดความร้อนสะสมทั้งหมด 622 จุด ซึ่งในปี 2561 เกิดเพียง 344 จุด ปีนี้เกิดความร้อนสะสมมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 278 จุด โดยพื้นที่เกิด ไฟป่ามากที่สุดยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ รองลงมาเป็นป่าอนุรักษ์ เขต ส.ป.ก. เขตชุมชนและอื่นๆ และพื้นที่การเกษตรตามลำดับ