posttoday

3 ปีรถไฟฟ้าเสร็จ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแก้ฝุ่น

21 มกราคม 2562

การสร้างรถไฟฟ้าเสร็จใน 3 ปี ข้างหน้าไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง หากยังไม่สามารถแก้เรื่องปริมาณยานพาหนะบนท้องถนนได้

การสร้างรถไฟฟ้าเสร็จใน 3 ปี ข้างหน้าไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง หากยังไม่สามารถแก้เรื่องปริมาณยานพาหนะบนท้องถนนได้

มาตรการระยะสั้นที่กรุงเทพมหานคร ตลอดจนกระทรวงต่างๆ ได้นำมาแก้ปัญหาฝุ่นละอองกันหลากหลาย ไม่ว่าเพิ่มความถี่ในการกวาดล้างทำความสะอาดถนน เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะทั้งขสมก.และขนส่ง ให้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี20 เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการเกิดฝุ่นละออง

อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ปัญหาระยะยาวคือ ลดจำนวนรถยนต์ในกรุงเทพฯ ลงให้ได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง มลพิษแล้ว ยังแก้ปัญหาจราจรเมืองหลวงเช่นกัน

ตามแผนภายใน 3 ปีจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ จะสร้างเสร็จ และคาดหมายกันว่าจะทำให้จำนวนรถยนต์ในกรุงเทพฯ ลดลง เพราประชาชนจะมีทางเลือกมาใช้ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมไปทุกเส้นทาง แม้แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ก็ยืนยันเช่นกันว่า อีก 3 ปี ฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ จะลดลงแน่นอน

ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การแก้ปัญหาระยะยาวต้องลดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงและคุณภาพรถยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร5 และยูโร6 2.ผลักดันให้ใช้รถโดยสารที่ใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 3.การพิจารณาปรับลดอายุการตรวจสภาพรถยนต์ใช้งาน 4.การพิจารณาจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น 5.การเร่งรัดสร้างรถไฟฟ้า

มาตรการระยะยาวเหล่านี้จะดำเนินการทั้งในช่วงก่อนและหลังที่เครือข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าจะแล้วเสร็จ

3 ปีรถไฟฟ้าเสร็จ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแก้ฝุ่น

พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หากมองถึงการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในอนาคต จะพบว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายเสร็จสิ้นในอีก 2-3 ปี จะสามารถลดปัญหาฝุ่นละอองได้จริง แต่อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการจัดการให้ปัญหานี้คลี่คลายลงหรือไม่อยู่ในระดับวิกฤต เพราะเมื่อมองไปถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาจะพบว่าไม่ได้มาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซลเท่านั้น แต่ยังมาจากสภาพอากาศและการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมในภาพรวมอีกด้วย

อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ อธิบายว่า ในอนาคต กทม.และปริมณฑลอาจจะยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาฝุ่นต่อไป หากยังไม่สามารถแก้เรื่องปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน ยังมีปัญหารถติด เพราะที่จอดนิ่งอยู่กับที่หรือเคลื่อนตัวด้วยความเร็วที่ต่ำยิ่งปล่อยฝุ่นละออง PM2.5 รวมถึงต้องแก้ปัญหาเชื้อเพลิงของรถยนต์ ปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานเครื่องยนต์ใหม่และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้สูงขึ้น ส่งเสริมให้ใช้น้ำมัน บี20 แทนน้ำมันดีเซล ส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้าและรถไฮบริดที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนการจัดการมลพิษและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองให้มากยิ่งขึ้น

พิสุทธิ์ กล่าวว่า ประเทศที่ประสบปัญหาเดียวกันนี้ทั่วโลก ต่างตระหนักดีว่าการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้หายไปในระยะเวลาสั้นๆ เป็นเรื่องที่ยากมาก บทเรียนการจัดการปัญหานี้สามารถศึกษาได้จากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเคยมีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีคุณภาพอากาศของเกาหลี (Air Korea) ในหลายพื้นที่ของกรุงโซล ค่ามลพิษสูงถึง 169 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ส่วนค่าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 102 มคก./ลบ.ม. จนพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้มีค่ามลพิษระดับแย่มาก หรือสูงกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกของสหประชาชาติสูงกว่า 4 เท่า

พิสุทธิ์ กล่าวว่า ในระยะสั้นเกาหลีใต้เคยประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินแก้ปัญหามลพิษในกรุงโซล ถึงกับจัดให้บริการขนส่งมวลชนฟรีในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จัดการกับโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิด ก็ยังเลี่ยงปัญหาฝุ่นได้ยาก เพราะต้องเจอกับปัจจัยอื่น อย่างการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ปรากฏการณ์เอลนินโญ

ขณะเดียวกัน แม้จะแก้ปัญหาด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่ดีมาก เช่น ควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งต่างๆ มีพื้นที่สีเขียวมากจนเกือบจะตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่ว่า 9 ตารางเมตร (ตร.ม.)/คน ขณะที่ปัจจุบัน กทม.มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนไม่ถึง 2 ตร.ม. จึงเห็นได้ว่า หากจะแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้ได้ผลอย่างยั่งยืน ก็ยังมีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง