posttoday

เรือนจำสุขภาวะสร้างเสริมพลังบวกผู้ต้องขัง24ชม.

17 ธันวาคม 2561

 เส้นทางเรือนจำสุขภาวะสร้างเสริมพลังบวกผู้ต้องขัง24ชม.เน้นพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานและระบบสุขภาพบูรณาการ

 เส้นทางเรือนจำสุขภาวะสร้างเสริมพลังบวกผู้ต้องขัง24ชม.เน้นพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานและระบบสุขภาพบูรณาการ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวในงานประชุมวิชาการเชิงนโยบายเรื่อง “การเดินทางของเรือนจำสุขภาวะ” ว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิด “เรือนจำสุขภาวะ” ในสังคมไทย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม แนวคิดเรือนจำสุขภาวะมาจากการหลอมรวมความรู้ที่ได้จากการวิจัยเชิงนโยบายและการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น คือนวัตกรรมที่ก่อให้เกิด “ความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ” โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตลอด 7 ปี แสดงให้เห็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นพื้นที่ซึ่งผู้ต้องขังสามารถมีประสบการณ์ในทางบวก ทั้งในส่วนของการดูแลสภาวะแวดล้อมและดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ที่ปรึกษาของโครงการขับเคลื่อนเรือนจำสุขภาวะ กล่าวเสริมว่าหลักการสำคัญของเรือนจำสุขภาวะคือ กระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขังควรบูรณาการเข้าไปในวิถีการดำรงชีวิตตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงในเรือนจำ ซึ่งหมายความว่าสภาวะแวดล้อมทั้งทางกายภาพ วิถีการดำรงชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขัง ความสัมพันธ์กับโลกภายนอก ต้องให้ความสำคัญกับการทำให้ชีวิตในเรือนจำแตกต่างจากชีวิตในสังคมทั่วไปให้น้อยที่สุด เพื่อว่าเมื่อเวลาของการลงโทษสิ้นสุดลง ผู้พ้นโทษไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการคืนกลับสู่สังคมอีกครั้ง โดยเรือนจำสุขภาวะมีองค์ประกอบอย่างน้อย 7 ด้าน ได้แก่ (1) เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง (2) ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ (3) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ (4) ผู้ต้องขังมีพลังชีวิต คิดบวก และมีกำลังใจ (5) ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร (6) สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ ลูก และ/หรือสมาชิกในครอบครัว และ (7) มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม

ในส่วนของนโยบายของการดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง นางสาวกุลภา วจนสาระ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการและส่งเสริมสุขภาพในเรือนจำกล่าวว่า ข้อค้นพบสำคัญของงานวิจัยนี้คือ พื้นฐานส่วนบุคคลและเงื่อนไขต่าง ๆ ในชีวิตก่อนเข้าเรือนจำ รวมทั้งองค์ประกอบเชิงโครงสร้างและสภาพแวดล้อมภายใต้การควบคุมของเรือนจำ ต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่กำหนดสุขภาพของผู้ต้องขัง ดังนั้นการให้บริการสุขภาพในเรือนจำนั้น จึงควรใช้สายตาที่ละเอียดอ่อนมองให้เห็นเงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆ ที่กำหนดสุขภาพของผู้ต้องขัง และดำเนินตามแนวทางระบบสุขภาพแบบบูรณาการในเรือนจำ สำหรับผู้ต้องขังทุกกลุ่ม ทั้งชายและหญิง

ทั้งนี้ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม ให้ข้อเสนอแนะว่าควรนำ “สาธารณสุขมูลฐาน (สมฐ)” มาประยุกต์ใช้ในเรือนจำ เพราะฐานคิดของสมฐ.คือการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระดับชุมชน ดังนั้นการพัฒนาระบบสมฐ.ในเรือนจำซึ่งเป็นชุมชนปิด จึงเป็นทั้งจุดเริ่มต้น และแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนไปสู่สุขภาวะของผู้ต้องขัง ที่เหมาะสมกับการทำงานเชิงชุมชนแบบองค์รวม เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการประสานงานข้ามหน่วยงาน การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการส่งเสริมสุขภาพดีไม่ใช่ซ่อมสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดเป็นรากฐานสำคัญของการขับเคลื่อนสู่เรือนจำสุขภาวะ