posttoday

"เสพติดมือถือ"แรงเหมือนติดยา!! ผู้เชี่ยวชาญเด็กชี้3สัญญาณเสี่ยง-ทางแก้ก่อนจะสายไป

03 ธันวาคม 2561

ผู้เชี่ยวชาญเด็กและวัยรุ่นชี้ 3 สัญญาณโรคเสพติดมือถือที่มีรูปแบบเดียวกับการติดยา พร้อมแนะนำวิธีสังเกตและรักษาเยียวยา

ผู้เชี่ยวชาญเด็กและวัยรุ่นชี้ 3 สัญญาณโรคเสพติดมือถือที่มีรูปแบบเดียวกับการติดยา พร้อมแนะนำวิธีสังเกตและรักษาเยียวยา

กลายเป็นกระแสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างล้นหลามในโลกโซเชียล กรณีสาวน้อยวัย 11 ปี เขียนจดหมายตำหนิแม่แท้ๆ ด้วยถ้อยคำหยาบคายและรุนแรง โดยสาเหตุเกิดจากการที่ถูกบังคับห้ามเล่นมือถือก่อนนอน จนแม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากชาวเน็ตผู้มีประสบการณ์ในกลุ่มเพจเฟซบุ๊กคุณพ่อคุณแม่ ว่า “ขออนุญาตปรึกษาหน่อยค่ะ ที่บ้านมีลูกสาวคนโตอายุ 11 ปี ติดมือถือมาก พูดดีๆ ก็แล้ว เตือนอะไรต่างๆ ก็แล้ว แต่ก็ไม่เคยฟัง กลางคืน 4-5 ทุ่ม ปิดไฟแล้วยังแอบเล่นมือถืออยู่ พอแม่จะเก็บมือถือไม่ให้เล่นก็ อาละวาด ตะโกนใส่แม่ และพอแม่ตีก็มาเขียนใส่กระดาษแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้่ควรทำไงดีคะขอบคุณล่วงหน้าด้วยค่ะ”

ในเรื่องนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า องค์กรอนามัยโลกได้ประกาศลงในคู่มืออ้างอิงโรคฉบับใหม่ในหมวดหมู่ความผิดปกติทางจิต โดยที่การติดเกมไม่ใช่แค่พฤติกรรมการติดเกม ติดมือถือ ติดอินเตอร์เน็ต หากแต่เป็นโรค ซึ่งมี 3 สัญญาณอาการ

1.ติดมือถือเล่นเกมจนทำให้วิถีชีวิตประจำวันเสีย ไม่กิน ไม่นอน ไม่อาบน้ำ เล่นแบบหลุดโลก

2.มีความต้องการเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ

3.หากไม่ได้เล่นแล้วเกิดอาการน็อตหลุด คือควบคุมตัวเองไม่ได้ จนถึงขั้นทำร้ายบิดามารดาผู้ปกครองด้วยกริยาวาจาและการกระทำ

ถ้าเข้าข่าย 3 สัญญาณอาการนี้ทางการแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงโรคเสพติดเกม ซึ่งจัดเป็นโรครูปแบบเดียวกับผู้เสพติดยาเสพติด

“จากกรณีเคสนี้มีการใช้มากจนวิถีชีวิตประจำวันเขาเสีย มีความต้องการใช้จำนวนเยอะขึ้นบวกกับที่ใช้ความรุนแรงต่อมารดาเขาเอง ครบทั้งหมดของสัญญาณเข้าค่ายอยู่ในความเสี่ยงที่ต้องได้รับการเยียวยาโดยจิตแพทย์อย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟู เนื่องจากถ้าไม่รักษาเยียวยา ปริมาณการเล่นจะมากขึ้นเรี่อยๆ ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวทำให้ขาดการพูดคุยสื่อสารการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน

“ที่สำคัญเมื่อจำนวนที่เล่นไม่ลดลงจะทำให้มีบุคลิกติดตัว คือ 1.เป็นคนแรงมา-แรงไป 2.มีความหวาดระแวงไม่ไว้ใจสังคม มองโลกในแง่ร้าย 3.ไร้มนุษย์ธรรมความมีเมตตา ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะนำไปสู่การทำร้ายตัวเองและผู้อื่น”

"เสพติดมือถือ"แรงเหมือนติดยา!! ผู้เชี่ยวชาญเด็กชี้3สัญญาณเสี่ยง-ทางแก้ก่อนจะสายไป

กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเด็กและวัยรุ่น แนะนำว่า การป้องกันแก้ไขต้องเบี่ยงเบนความสนใจเด็กให้ออกมาจากการเล่นอินเตอร์เน็ต เกม หรือกิจกรรมในโลกอินเตอร์เน็ต และปลี่ยนไปให้ทำกิจกรรมอื่นที่สร้างสันทดแทน ซึ่งการจะให้บุตรหลานเข้าร่วมปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ คนในครอบครัวต้องพูดคุยสื่อสารกันและนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมร่วมกัน

ทั้งนี้ การออกแบบกิจกรรมร่วมไม่ต้องเน้นวิชาเรียน แต่ต้องเป็นวิชาชีวิต และการส่งเสริมทักษะความชอบของเด็กๆ ทั้งในและนอกบ้าน ยกตัวอย่างเช่น เด็กชอบศิลปะหรือดนตรีก็ส่งเสริม เพราะนอกจากสร้างความผ่อนคลายแล้วยังสามารถต่อยอดนำไปสู่การทำกิจกรรมจิตอาสาให้กับคนอื่น และทำให้เกิดความสัมพันธ์กับผู้อื่น

หลังจากนั้นค่อยกำหนดกฎเกณฑ์กติกาการใช้อินเตอร์เน็ต ไปพร้อมกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างเด็กกับพ่อแม่ โดยใช้ถ้อยคำในลักษณะชื่นชมเพื่อเพิ่มพลังด้านบวก ทั้งนี้เมื่อสามารถทำกิจกรรมได้อย่างที่กล่าวมา จะทำให้เด็กมีพลังบวกและทำให้เกิดพลังความคิดสร้างสันและกำลังใจ

ภาพปก : Suriyadeo Tripathi