posttoday

แผงลอยวงจรเศรษฐกิจคู่คนเมือง ขายได้ต้องไม่ละเมิดสิทธิ

22 พฤศจิกายน 2561

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนส่วนใหญ่ พบว่า ได้รับความเดือดร้อนจากร้านค้ากีดขวางทางเท้า

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ปัญหาร้านค้าหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า เป็นเรื่องที่ถูกนำมาถกเถียงจากคนในสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองความเห็นว่าแผงลอยเหล่านี้จำเป็นต้องมีหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่มีระบบการจัดการให้เป็นระเบียบ ทั้งยังมีจำนวนมากเกินพอดี นำมาสู่ปัญหาร้านค้ากีดขวางทางเท้า ปัญหาขยะ ไม่มีสุขอนามัย ไปจนถึงขบวนการมาเฟียเก็บค่าเช่าแผงในพื้นที่

ขณะที่ความเห็นจากฝั่งนักวิชาการ สะท้อนว่าเรื่องของร้านค้าหาบเร่แผงลอยควรต้องอยู่กับคนเมือง หากแต่ต้องมีระบบการจัดการโดยหน่วยงานรัฐ อย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ซึ่งควรมีจุดกึ่งกลางระหว่างร้านค้าหาบเร่แผงลอยกับวิถีชีวิตของคนในสังคมยุคปัจจุบันอย่างลงตัว

นฤมล นิราทร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถนนและทางเท้าถือได้ว่าเป็นพื้นที่สร้างโอกาสของการประกอบอาชีพ เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนไทยชอบความสะดวก สบาย หาซื้ออาหาร เสื้อผ้าได้ง่ายเป็นเช่นนี้มานานแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องมักง่าย ซึ่งร้านค้าขายของข้างทาง สามารถ ตอบโจทย์ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ชีวิตถูกจำกัดด้วยเวลา ต้องตอกบัตรเข้า-ออกที่ทำงาน ทำให้เหลือเวลาพักผ่อนไม่มากนัก

ปัจจัยถัดมา คือ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้กระบวนทัศน์การจ้างงานในระบบน้อยลง เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับ กระแสโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยี ทำให้เกิดการจ้างงานที่ไม่จำเป็นต้องเข้าระบบ จึงเห็นภาพโรงงานห้องแถว หรือทำงานอยู่บ้าน อีกทั้งยังมีเรื่องของรสนิยมคนรุ่นใหม่ที่ยินดีกับการทำงานเป็นนาย ตัวเอง มีอาชีพอิสระอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ร้านค้าแผงลอยทำให้เกิดอาชีพต่อเนื่อง คือ อาชีพรับจ้างเก็บแผง คนส่งของในตลาด ต่อมาคือกลุ่มคนเกี่ยวข้องกับระบบขนส่ง เช่น รถตุ๊กตุ๊ก จักรยานยนต์รับจ้าง มีรายได้ตามไปด้วย ฉะนั้นผลการสำรวจวิจัยจึงสะท้อนได้ว่า แผงลอยนั้นเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจระดับล่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้

อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ กล่าวว่า หากมองในแง่จำนวนร้านค้าแผงลอยที่มากเกินไปนั้น สะท้อนกลับมาที่ระบบควบคุมจัดการโดยรัฐที่ทำเหมือนจัดการแต่ไม่จัดการ กล่าวคือทุกยุคทุกสมัยมีการไล่ รื้อ และผ่อนผันบางจุด ยิ่งทำให้การกำกับดูแลซับซ้อนมากขึ้นอีก ทั้งยังมีเรื่องของนักการเมืองท้องถิ่นที่เข้ามามีบทบาท จึงแสดงให้เห็นว่าระบบการจัดการมีปัญหา ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนส่วนใหญ่ พบว่า ได้รับความเดือดร้อนจากร้านค้ากีดขวางทางเท้า แต่เมื่อถามว่าต้องการเดินบนทางเท้าแบบใด ระหว่างมีร้านค้าแผงลอยกับไม่มีสิ่งใดเลย คำตอบที่ได้คือ ต้องการเดินบนทางเท้าที่มีร้านค้าแผงลอย เพราะรู้สึกปลอดภัยมากกว่า แม้จะเป็นความเห็นย้อนแย้งอยู่ในตัวเอง แต่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะบางพื้นที่ให้ตั้งร้านไม่ได้จริงๆ บางพื้นที่ตั้งร้านได้แต่ต้องมีระบบการจัดการที่ดี เข้มงวดกวดขันวินัย เนื่องจากสังคมมีความหลากหลายซ่อนอยู่

กระนั้นแม้จะเข้าใจว่า กทม.ได้พยายามเต็มที่ในการจัดระเบียบร้านค้าแผงลอย โดยหา สถานที่รองรับแห่งใหม่ แต่ปรากฏว่าผู้ค้าขายสินค้าไม่ได้เพราะจะขายสินค้าได้ต้องมีคนเดิน ดังนั้นหากเป็นพื้นที่ใต้ทางด่วนไม่มีคนเดิน ผู้ค้าก็ไม่ยอมย้ายไป ไม่สามารถเทียบเคียงกับเมื่อครั้งย้ายแผงลอยจากท้องสนามหลวงมายังสวนจตุจักรได้ เพราะขณะนั้นถือเป็นการย้ายที่เป็นระบบ แตกต่างจากปัจจุบันที่ย้ายแบบกระจัดกระจายไปบริเวณต่างๆ

นฤมล กล่าวอีกว่า เรื่องที่มีการ ถกเถียงระหว่างภาครัฐกับประชาชน คือ เรื่องภาษี ที่ผ่านมารัฐเองที่ไม่ได้เก็บ ซึ่งการใช้พื้นที่สาธารณะต้องจ่ายค่าเช่า และไม่จำเป็นที่ค่าเช่าต้องเท่ากันทุกเขต เกิดจากรายได้แตกต่างกัน อีกทั้งรายได้ของผู้ประกอบการบางส่วนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ซึ่งต้องมีระบบประเมินรายได้ของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ทุกวันนี้มีเพียงเก็บค่าทำความสะอาดเท่านั้น ทั้งที่ควรมีการเก็บภาษีและต้องทำด้วย เพราะต้องยอมรับว่ามีผู้ค้าจำนวนไม่น้อยมีรายได้สูงพอสมควรเช่นกัน

สำหรับปัญหาเรื่องของมาเฟีย เกิดจากหน่วยงานรัฐไม่ทำงานอย่างเต็มที่ จึงมีมือที่มองไม่เห็นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐต้องนำกลุ่มที่ทำเรื่องภาษี ผังเมือง สังคม การศึกษา เข้ามาหารือกันว่าจะจัดการแก้ปัญหาในภาพใหญ่นี้กันอย่างไร ต้องมีเจตจำนงที่มุ่งมั่นว่าอยากให้เมืองเป็นแบบใด ทำอย่างไรให้เป็นเมืองที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่คิดแต่ว่าแผงลอยต้องออกไปเท่านั้น และไม่จำเป็นที่ทุกเขตจะต้องปฏิบัติเหมือนกัน เพราะมีความแตกต่างของพื้นที่ เช่น เขตปทุมวัน มีแหล่ง การค้า อย่าง สยามเซ็นเตอร์ หรือสยามพารากอน แต่ที่ย่านถนนบรรทัดทอง กลายเป็นคนละเรื่องทั้งที่อยู่ในเขตเดียวกัน ฉะนั้นต้องมีการจัดการที่หลากหลาย

"สิ่งสำคัญที่สุด คือ ประชาชนต้องยึดหลักกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้มีใครมากีดขวางฝ่าฝืนทางเท้า อีกทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายต้องทำงานที่เข้มงวด และสังคมต้องยอมรับร่วมกันด้วย เช่น ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ไม่ได้มีกฎหมายลงโทษรุนแรงอะไร แต่คนในสังคมยึดถือว่าต้องไม่ละเมิดกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น" นฤมล กล่าว