posttoday

ถึงบางอ้อ! ก.ยุติธรรม อธิบายเหตุถอด"ข้าวหมาก"ออกจากพรบ.สุรา

16 สิงหาคม 2561

รอง.ยุติธรรม อธิบายเหตุการถอดส่วนประกอบข้าวหมากออกจาก พรบ.สุรา จึงทำให้จำหน่ายได้

รอง.ยุติธรรม อธิบายเหตุการถอดส่วนประกอบข้าวหมากออกจาก พรบ.สุรา จึงทำให้จำหน่ายได้

เมื่อวันที่ 16 ส.ค.  จากสังคมออนไลน์วิพากาษ์วิจารณ์กรณีเจ้าหน้าที่สรรพสามิต จับกุมหญิงสูงอายุวัย 60 ที่ขายข้าวหมากบริเวณตลาดนัดแห่งหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์ แต่สุดท้ายทางสรรพสามิต ชี้แจงว่าสาเหตุแท้จริงที่ดำเนินการจับกุม เพราะชายสุราแช่ ไม่ใช่ข้าวหมาก

แต่ในประเด็นดังกล่าว นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ข้อมูล ว่า ข้าวหมักหรือข้าวหมาก ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีส่วนผสมสำคัญจาก ลูกแป้งข้าวหมาก ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่ผิดกฎหมายแล้ว เพราะกฎหมายได้มีการแยกลูกแป้งข้าวหมากออกจาก พรบ.สุรา แล้วและส่วนผสมก็มีไม่มาก

ทั้งนี้ ลูกแป้งข้าวหมักหรือข้าวหมาก จะมีเชื้อราสกุล Mucor sp., Amylomyces rouxii , Rhizopus oryae ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ ไม่ใช่เชื้อราที่เป็นโทษ โดยเชื้อราตัวนี้ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์อมิเลสออกมาย่อยแป้งในข้าวเหนียวให้เป็นน้ำตาลในช่วง 2-3 วัน หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของยีสต์ที่หมักน้ำตาลในข้าวหมากกลายเป็นแอลกอฮอล์ แต่ก็ไม่มาก ดังนั้นลูกแป้งทำข้าวหมาก จะให้ความหวานมากกว่าแอลกอฮอล์ไม่เหมือนกับลูกแป้งเหล้า จะให้แอลกอฮอล์มากกว่าความหวาน

จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติถอดแป้งข้าวหมาก ออกจาก พ.ร.บ.สุราฯ เนื่องจากคำว่าเชื้อสุรา ตามนิยามของความหมายในมาตรา 4 พ.ร.บ.สุรา ระบุให้หมายความว่า แป้งเชื้อสุรา แป้งหมักหรือเชื้อใดๆ ซึ่งเมื่อหมักกับวัตถุ ของเหลวอื่นแล้ว สามารถทำให้เกิดแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำสุราได้ก็ตาม แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า แป้งข้าวหมักมีลักษณะที่ไม่ใช่เชื้อสุราในตัวเอง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น อาหาร ยา

และหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าว การผลิตและจำหน่ายแป้งข้าวหมัก ก็สามารถจำหน่ายนอกพื้นที่ที่ยื่นขออนุญาตได้ ส่วนเรื่องที่เกรงว่าจะนำไปผลิตสุราเถื่อนนั้น ไม่ต้องห่วงเนื่องจากการผลิตสุราเถื่อนไม่นิยมนำแป้งข้าวหมักมาใช้ในการผลิตเพราะดูแลยาก อีกทั้งตัวแป้งข้าวหมัก จะต้องคอยควบคุมอุณหภูมิและไม่คุ้มต้นทุน และสุราที่ได้จะมีแรงแอลกอฮอล์เพียง 5 ดีกรี จึงมักนิยมใช้ส่าเหล้ามาผลิต