posttoday

"หนังสือเตือนของนายจ้าง"ต้องชอบด้วยกฎหมาย

09 สิงหาคม 2561

เปิดคำพิพากษาน่าสนใจที่ศาลฎีกาเคยตัดสินเกี่ยวกับหนังสือเตือนของนายจ้างที่มีต่อลูกจ้าง ที่สำคัญคือหัวหน้างานไม่มีอำนาจออกใบเตือนถ้าไม่ได้รับการมอบอำนาจจากนายจ้าง

เปิดคำพิพากษาน่าสนใจที่ศาลฎีกาเคยตัดสินเกี่ยวกับหนังสือเตือนของนายจ้างที่มีต่อลูกจ้าง ที่สำคัญคือหัวหน้างานไม่มีอำนาจออกใบเตือนถ้าไม่ได้รับการมอบอำนาจจากนายจ้าง

************************

โดย...เดชา กิตติวิทยานันท์

ปัจจุบันลูกจ้างที่ไม่มีระเบียบวินัย เช่น มาสาย ลากิจบ่อย ฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างที่ไม่ร้ายแรง ทำความผิดเล็กน้อย จะไล่ออกทันทีไม่ได้ ตามกฎหมายแรงงานต้องทำเป็นหนังสือตักเตือนหนึ่งครั้งก่อน และหากลูกจ้างทำผิดซ้ำคำเตือนอีก จึงจะไล่ออกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

นอกจากนี้ผู้ที่จะออกหนังสือเตือนจะต้องเป็นนายจ้างหรือตัวแทนที่มีอำนาจว่าจ้างหรือเลิกจ้างเท่านั้น หัวหน้างานไม่มีอำนาจเลิกจ้าง เพราะไม่ใช่ตัวแทนนายจ้าง ตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาเคยตัดสินเกี่ยวกับหนังสือเตือนของนายจ้าง

คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1543/2526

การตักเตือนเป็นหนังสือตามกฎหมายเป็นอำนาจของนายจ้าง การที่หัวหน้าแผนกของนายจ้างออกใบเตือนแก่ลูกจ้างโดยไม่ปรากฏว่าผู้มีอำนาจว่าจ้างหรือเลิกจ้างของนายจ้างมอบหมายอำนาจในการออกใบเตือนให้ จะถือว่าหัวหน้าแผนกเป็นตัวแทนของนายจ้างในการออกใบเตือนด้วยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2542

ศ.เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์ เมื่อโจทก์ประพฤติตนบกพร่อง มาทำงานสายประจำอันอาจก่อให้เกิด ความเสียหายแก่จำเลย ศ.ย่อมมีอำนาจว่ากล่าวตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือได้ และในหนังสือตักเตือนก็ไม่จำต้องให้กรรมการจำเลยสองคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยเพราะมิใช่เป็นการกระทำนิติกรรมแทนจำเลยตัวบทกฎหมายอ้างอิง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6910/2546

การที่โจทก์เคยถูกจำเลยตักเตือนเป็นหนังสือเนื่องจากฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในการลากิจมาแล้วนั้น ต่อมาโจทก์ลาป่วย ไม่ว่าการลาป่วยจะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่ก็ตามก็เป็นคนละเรื่องกับกรณีที่โจทก์เคยถูกจำเลยตักเตือน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2548

วันที่ 2 เมษายน นายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างจากสำนักงานสาขาในกรุงเทพมหานครไปทำงานที่สำนักงานใหญ่จังหวัดนครนายกลูกจ้างไม่ไป นายจ้างออกหนังสือเตือน ต่อมาวันที่ 21 เดือนเดียวกัน นายจ้างมีคำสั่งย้ายลูกจ้างอีกครั้ง ลูกจ้างไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งอีก เป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนภายในเวลา 1 ปี นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2548

ลูกจ้างมาสาย ถูกตักเตือนด้วยวาจา ลูกจ้างมาสายอีก ถูกตักเตือนด้วยวาจาอีก ต่อมาลูกจ้างมาสายอีก ถูกตักเตือนเป็นหนังสือและตัดค่าจ้าง 160 บาท ลูกจ้างมาสายอีกครั้ง ถูกตักเตือนด้วยวาจา ลูกจ้างก้าวร้าวผู้บังคับบัญชาถูกตักเตือนเป็นหนังสือ ต่อมาลูกจ้างนำโทรศัพท์ส่วนกลางไปใช้ส่วนตัว การกระทำผิดในเรื่องก้าวร้าวและเรื่องใช้โทรศัพท์ มิใช่กระทำผิดซ้ำคำเตือน นายจ้างไม่สามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9033/2550

การย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ใกล้เคียงตำแหน่งเดิม โดยจ่ายค่าจ้างให้ในอัตราเท่าเดิมโดยมิได้กลั่นแกล้ง เมื่อโจทก์ไม่ไปปฏิบัติงานตามคำสั่ง จึงถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ แต่ปรากฏตามหนังสือการลงโทษทางวินัย เอกสารหมาย จล.3 ถึง จล.5 ว่าในวันที่ 22 ก.พ. 2548 เวลา 09.15 นาฬิกา หัวหน้าฝ่ายบริหารสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่บริเวณโรงเก็บขยะโจทก์ปฏิเสธที่จะทำ จึงได้มีหนังสือเตือนฉบับที่ 1

ต่อมาในวันเดียวกันเวลา 11.30 นาฬิกา หัวหน้าฝ่ายบริหารสั่งให้โจทก์ไปทำงานแต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจึงมีหนังสือเตือน ฉบับที่ 2 จนกระทั่งเวลา 14.30 นาฬิกา ของวันดังกล่าวโจทก์ยังคงไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เอกสารท้ายฟ้องข้อ 11.3 กำหนดให้การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรตาม (7) ให้กระทำได้เมื่อลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ขาดงานไป 1 ถึง 2 วัน สำหรับครั้งแรก ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือเตือนฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ตามหนังสือการลงโทษทางวินัยตามเอกสารหมาย จล.3 และ จล.4 โดยที่โจทก์ยังมิได้ละทิ้งหน้าที่ขาดงานไป 1 ถึง 2 วัน ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว จึงเป็นการตักเตือนโดยไม่ชอบ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1978/2557

การที่ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 9 และวันที่ 10 มกราคมนั้น สืบเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม กรณีจึงถือไม่ได้ว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ตามข้อบังคับฯ ของนายจ้าง นายจ้างจึงลงโทษลูกจ้างด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือหาได้ไม่ เมื่อการตักเตือนเป็นหนังสือดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ การลงโทษลูกจ้างอีกครั้งเพราะเหตุละทิ้งหน้าที่ในวันที่ 23 มกราคม จึงไม่เป็นการกระทำความผิดซ้ำคำเตือน

การทำงานร่วมกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริตและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

***************************

ภาพ เอเอฟพี