posttoday

ผู้เชี่ยวชาญไขคำตอบ"ดำน้ำในถ้ำ"ยากกว่าดำน้ำปกติอย่างไร?

04 กรกฎาคม 2561

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำลึกอธิบายถึงหลักการท่องโลกใต้น้ำ รวมถึงประเมินวิธีที่จะพาทั้ง 13 ชีวิตออกมาอย่างปลอดภัย

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำลึกอธิบายความแตกต่างระหว่างการดำน้ำในถ้ำกับการดำน้ำในแหล่งน้ำทั่วไป รวมทั้งประเมินวิธีในการนำทีมหมูป่า 13 ชีวิตออกมา

**************************

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดีของคนไทยในปีนี้ หลังเจ้าหน้าที่ใช้เวลา 10 วัน ค้นหาเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 คนได้สำเร็จ หลังเข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2561

ขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังเร่งหาวิธีนำทั้ง 13 คนออกมา โดยแผนหลักคือการเร่งสูบน้ำเพื่อให้ระดับน้ำลดลงจะสามารถเคลื่อนย้ายออกมาได้อย่างสะดวก ขณะที่แผนรองที่กำลังดำเนินการคู่กันไปคือการหาโพรงเหนือถ้ำเพื่อเจาะเข้าไปภายในและโรยตัว

ที่ผ่านมาภาพในคลิปสจากหน่วยซีลเผยให้เห็นสภาพความยากลำบากของการดำน้ำภายในถ้ำอออกมาให้เห็นไปบ้างแล้ว โดยวันนี้โพสต์ทูเดย์ได้พูดคุยกับ ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำลึกและการท่องเที่ยวทางทะเล ที่จะมาอธิบายว่า การดำน้ำในโลกมีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไร รวมถึงร่วมประเมินว่า ควรทำอย่างไรในการพาทั้ง 13 ชีวิตออกมาได้อย่างปลอดภัยที่สุด 

เจาะลึกโจทย์ง่าย-ยาก ของนักดำ

สภาพพื้นที่การดำน้ำมีหลักๆ 5 แบบ คือ 1.ทะเล 2.ทะเลสาบ 3.ใต้น้ำแข็ง 4.คลอง 5.ถ้ำ แต่ในถ้ำจะแบ่งย่อย อาทิ ถ้ำแสงสว่างเข้าถึง แสงสว่างเข้าไม่ถึงแต่พื้นที่ภายในเป็นโถงใหญ่ แสงสว่างเข้าไม่ถึงและภายในถูกแบ่งเป็นห้องเล็กๆ ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากสุดของนักดำน้ำ

ดร.กุลเดช อธิบายว่าการดำน้ำหลักๆ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.เพื่อกิจกรรมนันทนาการความสนุกสนานทั่วไป โดยจะใช้ระยะเวลาการฝึกประมาณ 2-4 วันก็สามารถดำน้ำได้ 2.ดำแบบทางเทคนิค ประเภทนี้ดำเพื่อการสำรวจหรือกู้ภัย และผู้ดำต้องเป็นผู้เชี่ยชาญที่ผ่านการฝึกพิเศษตามหลักสูตร 1-6 เดือน มีใบอนุญาต และต้องมีสุขภาพแข็งแรง เพราะจะต้องสามารถปลดหรือลากอุปกรณ์ใต้น้ำ ลอดตัวผ่านช่องแคบๆเมื่อเจอเหตุการณ์คับขันได้

สำหรับอุปกรณ์ดำน้ำทั่วไปจะใช้ถังอากาศเพียง 1 ใบ อยู่ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าดำในพื้นที่เข้าถึงยาก เช่น ถ้ำที่สลับซับซ้อนต้องมีอุปกรณ์ อาทิ ถังอากาศแบบพิเศษอยู่ได้ 2-3 ชั่วโมง , อุปกรณ์ช่วยหายใจแบบพิเศษ ซึ่งไม่ทำให้เกิดฟองอากาศจนน้ำขุ่น และสามารถหมุนเวียนอากาศกลับมาใช้ใหม่ได้ , หน้ากากคลุมทั่วใบหน้า , ไฟฉายใต้น้ำมากกว่า 3 ตัว , เชือกโรยตัวและเชือกกำหนดระยะ ซึ่งมีคุณสมบัติทั้งแบบลอยน้ำ ลอยระหว่างน้ำ และจมน้ำ

ผู้เชี่ยวชาญไขคำตอบ"ดำน้ำในถ้ำ"ยากกว่าดำน้ำปกติอย่างไร? การฝึกซ้อมและดำน้ำในพื้นที่จริง

ปัญหาและอุปสรรคนักดำน้ำ

ผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำ บอกว่าอุปสรรคปัญหาในการดำน้ำ หากแบบปกติทั่วไปขอเพียงมีอุปกรณ์และร่างกายพร้อม แต่ถ้าดำแบบที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษ ต้องวางแผนสำรวจภูมิประเทศ ประเมินการนำถังอากาศเข้าไปให้พอที่จะกลับออกมาอย่างปลอดภัย และข้อสำคัญห้ามเข้าไปคนเดียว

ข้อระวังหากดำน้ำในถ้ำต้องพยายามทรงตัวนิ่ง เพราะน้ำในถ้ำขึ้นลงตลอด นอกจากนี้ต้องประเมิณสถานการณ์เรื่อยๆ เพราะพื้นที่ข้างหน้าไม่สามารถคาดเดาได้บางจุดอาจเป็นช่องหิน หินงอก หินย้อย หรือน้ำอาจขุ่น

ฉะนั้นหัวใจสำคัญการดำน้ำ คือความปลอดภัย เมื่อรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยหรือสบายตัวก็ไม่ควรดำต่อไปอีก

ผู้เชี่ยวชาญไขคำตอบ"ดำน้ำในถ้ำ"ยากกว่าดำน้ำปกติอย่างไร?

รอน้ำลดค่อยเดินเท้า 13 ชีวิตปลอดภัยสุด

สำหรับการช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตภายในถ้ำหลวง ดร.กุลเดช บอกว่าสังคมนักดำน้ำเคยมีการคุยกันก่อนหน้านี้ว่า สิ่งที่กังวลที่สุดไม่ใช่เรื่องการค้นหา แต่ทำอย่างไรจะพาทั้ง 13 ชีวิตออกมาอย่างไรอย่างปลอดภัย เพราะการสอนเด็กที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องดำน้ำแบบขั้นสูงและใช้เวลาไม่กี่วันเป็นเรื่องยาก อีกทั้งหลายคนร่างกายยังไม่พร้อม จึงเป็นสิ่งที่ต้องกังวลและประเมินให้รอบคอบ เพราะการพาดำน้ำออกมาอาจส่งผลต่อระบบในร่างกายและชีวิตของทั้ง 13 คน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ แนะนำว่าวิธีที่ดีสุดต้องภาวนาขอให้ฝนในพื้นที่ไม่ตก หรือหยุดทางน้ำไหลเข้าไปเติมในถ้ำ  จากนั้นเร่งสูบน้ำออกพอให้เดินเท้ากลับออกมา ซึ่งเป็นวิธีปลอดภัยที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญไขคำตอบ"ดำน้ำในถ้ำ"ยากกว่าดำน้ำปกติอย่างไร? เจ้าหน้าที่กำลังดำน้ำเข้าไปช่วย 13 ชีวิตในถ้ำหลวง

ผู้เชี่ยวชาญไขคำตอบ"ดำน้ำในถ้ำ"ยากกว่าดำน้ำปกติอย่างไร? ดร.กุลเดช สินธวณรงค์