posttoday

"อัศวิน" ไม่เห็นด้วยศาลสั่งชดใช้เงิน "ป้าทุบรถ" เตรียมยื่นอุทธรณ์

16 พฤษภาคม 2561

ผู้ว่าฯ กทม. ยินดีรื้อตลาดภายในหมู่บ้านเสรีวิลล่าเสร็จใน 30 วันหลังศาลพิพากษา ชี้ไม่เห็นด้วยกรณีให้ชดใช้ พร้อมเตรียมยื่นอุทธรณ์

ผู้ว่าฯ กทม. ยินดีรื้อตลาดภายในหมู่บ้านเสรีวิลล่าเสร็จใน 30 วันหลังศาลพิพากษา ชี้ไม่เห็นด้วยกรณีให้ชดใช้ พร้อมเตรียมยื่นอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.  หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร สั่งรื้อ 5 ตลาดรอบบ้าน น.ส.บุญศรี และน.ส.รัตนฉัตร แสงหยกตระการ ภายในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ตรงสวนหลวง ร.9 ภายใน 60 วัน พร้อมสั่งให้ชดใช้ผู้เสียหายรายละ 368,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดรอบบ้านของผู้เสียหายถูกรื้อเกือบหมดแล้วเหลือเพียงโครงหลังคาตลาด 2 แห่งเท่านั้น ซึ่งหลังจากศาลมีคำสั่งจะเข้าไปรื้อให้เสร็จภายใน 30 วัน แต่กรณีที่ศาลสั่งให้ กทม.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องร้องคดีทั้ง 4 รายนั้น ถือเป็นเงินหลวงเป็นงบประมาณของ กทม. ซึ่งเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่กทม.ต้องจ่ายในส่วนดังกล่าว โดยในส่วนของการรื้อย้ายตลาด การแก้ปัญหาในพื้นที่โดบรอบบ้าน กทม.พร้อมดำเนินการตามคำสั่งศาล แต่ค่าสินไหมทดแทนนั้น จะต้องอุทธรณ์ผลการตัดสินต่อไป โดยให้สำนักงานกฎหมายและคดี ทำเรื่องอุทธรณ์ผลการพิจารณาต่อศาลเป็นเรื่องๆไปตามความเหมาะสม

ส่วนกรณีผลการตรวจสอบว่ามีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องตามที่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนระบุนั้น ขณะนี้ได้มีการรายงานให้ทางปลัดกรุงเทพมหานครรับทราบแล้วตามขั้นตอน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายโยธา 7 คน ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและรักษาความสะอาด 4 คน และผู้บริหารเขต ในตำแหน่ง ผอ.และผู้ช่วย 4 คน รวมทั้งหมด 15 คน ฐานบกพร่องต่อหน้าที่ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งโทษมีตั้งแต่ภาคทัณฑ์ ลดเงินเดือน ปลอดออก และไล่ออก

ด้านนายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัด กทม. เปิดเผยว่า เบื้องต้นคณะกรรมการดังกล่าวได้พิจารณาผลความผิดทางวินัยเสร็จสิ้นแล้ว โดยความผิดทางวินัยที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง

ทั้งนี้ตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่ ทั้ง 50 เขต ทำการสำรวจตลาดในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อดูแลตลาดให้ถูกต้องตามกฎหมายพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535  กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551 กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551 และ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ตลาด พ.ศ.2544 ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 34 กำหนดให้ผู้ที่ต้องการจัดตั้งตลาด ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน รวมทั้งผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้วจะเปลี่ยนแปลง ขยายหรือลดสถานที่ตลาดต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน จึงดำเนินการได้

ทั้งนี้ถ้าผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 34 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ขณะนี้ ในตลาดที่ไม่ถูกต้อง ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้เร่งให้สำนักงานเขตให้ข้อมูลเจ้าของตลาดเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องก่อนในเบื้องต้น เนื่องจากการประกอบกิจการตลาด ข้อมูลบางอย่างเจ้าของพื้นที่อาจไม่รับทราบถึงหลักเกณฑ์ตามกำหมายกำหนด ดังนั้น กทม.จึงต้องให้โอกาสผู้ค้า เจ้าของกิจการ เพื่อปรุงแก้ไข และมีใบอนุญาตถูกต้อง ภายในปลายปี 2561นี้

นอกจากนี้ การสำรวจตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯปัจจุบัน พบว่า มีตลาดที่มีใบอนุญาตจัดตั้งตลาด มีจำนวน 364 แห่ง  แบ่งออกเป็น 2 ประเภท  คือ ประเภทที่ 1 ตลาดที่มีโครงสร้างอาคารที่ทำด้วยวัสดุถาวร มั่นคงแข็งแรง จำนวน 144 แห่ง ประเภทที่ 2 ตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคารหรือเป็นโครงสร้างแบบชั่วคราว โครงเหล็กคลุมผ้าใบ เต็นท์ ร่ม จำนวน 220 แห่ง

สำหรับตลาดที่ได้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการจะมีการประเมินตามเกณฑ์ที่กทม.กำหนดเป็นประจำทุกปี ซึ่งจากการประเมินพบว่า ตลาดที่มีใบอนุญาต แต่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินมีจำนวนรวม 137 แห่ง ซึ่งเกณฑ์ประเมินคุณภาพตลาดนั้น จะมีการประเมินในด้านต่างๆได้แก่ สุขลักษณะ  อาหารไม่ปนเปื้อน การคุ้มครองผู้บริโภคในรูปแบบต่างๆ