posttoday

7 มุมมอง อ.เดชรัต นักเศรษฐศาสตร์ หลังดูบุพเพสันนิวาสตอนล่าสุด

22 มีนาคม 2561

เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ เผยละคร บุพเพสันนิวาส ตอนล่าสุด มีหลายอย่างใช้เป็นข้อถกเถียงในห้องเรียนได้

เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ เผยละคร บุพเพสันนิวาส ตอนล่าสุด มีหลายอย่างใช้เป็นข้อถกเถียงในห้องเรียนได้

เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Decharut Sukkumnoed เผยมุมมองหลังรับชมละครดังบุพเพสันนิวาส ตอนล่าสุด ว่า ได้เห็นอะไรหลายอย่างมากเลยทีเดียว สามารถใช้เป็นข้อถกเถียงในห้องเรียนได้มาก

1. การรับ “สินน้ำใจ” จากล็อบบี้ยิสต์ (กรมเมือง) มาพูดเรื่องที่ตนต้องการจะพูดอยู่แล้ว คงไม่ผิด(คิดแบบออกญาโกษาธิบดี-เหล็ก) แต่การรับสินบนแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้ความบริสุทธิ์ใจในคำพูดหมดลง หรืออย่างน้อยก็นำไปสู่ความคลางแคลงใจ (คิดแบบขุนหลวงนารายณ์) เรียกว่า มีความทับซ้อนของผลประโยชน์

2. ในระบบการเมืองยุคนั้น สิ่งที่ขุนหลวงนารายณ์ต้องการคือ ความไว้วางใจจากขุนนางใกล้ชิด (เน้นตามเนื้อเรื่องในละคร ส่วนเรื่องในประวัติศาสตร์ขอวิเคราะห์วันหลัง) ยิ่งขุนเหล็ก ซึ่งเป็นขุนนางอันดับ 2 คุมการเงินของแผ่นดิน ปฏิเสธข้อเท็จจริง ขุนหลวงนารายณ์ยิ่งผิดหวัง จึงลงโทษหนัก

3. วิธีคิดแบบออกญาโกษาธิบดียังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน เช่น ข้าราชการไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจและบริษัทของรัฐ โดยรับเงินมากกว่าเงินเดือนตนเองเสียอีก แล้วมากำหนดนโยบายในฐานะรัฐบาลและคณะกรรมการต่างๆ หรือนักวิชาการอย่างพวกผม รับทำวิจัยและทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เจ้าของโครงการ

4. เรื่องนโยบายเมกะโปรเจ็กสร้างป้อมปราการ ในยุคนั้น ไม่ได้มีกระบวนการถกแถลงกันก่อน แต่มีรับสั่งให้สร้างไปเลย อีกทั้งไม่ได้มีการจำลองสถานการณ์การรบที่ใช้ป้อมปราการเหล่านั้นด้วย การถกเถียงจึงยากที่จะได้ข้อยุติ

5. (ข้อนี้สำคัญที่สุด) ในภาษาโลก เราอาจมองว่า ใครเป็นคนดีหรือคนเลว แต่ในภาษาธรรม หน่วยของการวิเคราะห์ (หรือ unit of analysis) ไม่ใช่คน แต่เป็น “การกระทำ” แต่ละการกระทำนั้นเอง การดำเนินชีวิตจึงต้องมีสติระมัดระวังตลอดเวลา อย่าไปเอาความรู้สึกว่า เราเป็นคนดีหรือเป็นคนเลวมาปะปน ไม่ว่าเราจะเป็นคนเช่นไร เราพร้อมจะทำผิดได้ตลอดเวลาถ้าประมาท และบางครั้งผลของการกระทำนั้นไม่สามารถเอาความดี/ความเลวในอดีตมาหักลบกลบหนี้หรือวิเคราะห์ส่วนเพิ่มได้แบบที่นักบัญชีหรือนักเศรษฐศาสตร์ชอบทำ

6. ความไม่พอใจของออกญาเทพราชาในกรณีนี้ (ตามเนื้อหาในละคร) ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความถูก/ผิดทางจริยธรรม ในการกระทำของออกญาโกษาธิบดี แต่อยู่ที่ขุนหลวงนารายณ์ทรงเชื่อฝ่ายใดมากกว่ากัน และการตอบโต้ของพระเพทราชาก็ตั้งอยู่บนฐานคิดนี้ เช่นเดียวกับการใช้อำนาจรัฐหลายๆ ครั้ง ในยุคปัจจุบัน

(แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรจัดการการโกงของออกพระฤทธิ์กำแหงอย่างที่ขุนศรีวิสารวาจากำลังพยายามทำ)

7. แม้ว่า แม่หญิงการะเกดจะงุนงงและต้องใช้เวลาเรียนรู้ในภาษาและวัฒนธรรมของยุคนั้นพอสมควร แต่พอถึงมิติการแย่งชิงอำนาจรัฐ แม่หญิงหางงไม่ แปลว่า หนทางการแย่งชิงอำนาจรัฐแทบไม่ต่างกันเลย ระหว่างอยุธยากับกรุงเทพฯ แม้ว่าจะผ่านมากว่า 300 ปีแล้วก็ตาม

ทั้งหมดเป็นเพียงมุมมองของคนดูแบบเพลินๆ ไม่คิดมาก คนหนึ่งเท่านั้นเอง