posttoday

นักวิชาการชี้สถานการณ์มลพิษฝุ่นลากยาวถึง เม.ย.

20 กุมภาพันธ์ 2561

สถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น จะคงอยู่ไปจนถึงช่วงกลางเม.ย. ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมฝุ่นละออง

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

แม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)เริ่มคลี่คลายจากปัญหา ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5 )เกินค่ามาตรฐาน แต่ปัญหานี้ ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมเรื่อง“ภัยร้าย “ฝุ่น” กลางเมือง” เพื่อพูดคุยในเรื่องนี้ โดย ระดมนักวิชาการด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เพื่อหาทางออก และแนวทางการรับมือ

สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ระบุว่า ปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนเกินมาตรฐานค่าเฉลี่ยรายวัน ซึ่งเกิดขึ้นในเขตกทม. ตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นเหตุการณ์ปกติ ที่เกิดขึ้นในช่วงก.พ.-เม.ย.ของทุกปี ซึ่งเมื่อเทียบจากข้อมูลสถิติปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 รายวัน ในอากาศบริเวณกรุงเทพฯ ในหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่า สถานการณ์ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมาจนถึงปี 2561 นี้ อยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงไปกว่าในปีก่อน ๆ

ทั้งนี้ สถิติข้อมูลย้อนหลังไป 7 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในกทม. พบว่าค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM2.5 ในกทม.มีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยในปี 2560 ค่าเฉลี่ยรายปี อยู่ที่ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลดลงถึง 25 % เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่สูงถึง 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ.กล่าวว่าสาเหตุที่ลดลง เกิดจาก การนำน้ำมันและรถยนต์มาตรฐาน Euro 4 มาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 ส่งผลให้มีการลดการระบายมลพิษ จากรถยนต์ทั้งรถเก่าและรถใหม่ และ คพ. กำลังกำลังพิจารณาที่จะเสนอให้นำมาตรฐานน้ำมันและรถยนต์ ระดับ Euro 5 มาใช้ ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศโดยรวมในกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยลดลงได้อีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม คาดว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น จะคงอยู่ไปจนถึงช่วงกลางเม.ย. ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมฝุ่นละอองที่กำลังดำเนินการและสภาพภูมิอากาศด้วย

"ประชาชนทุกคนต่างมีส่วนในการทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 จากการใช้ยานพาหนะ การเผา โดยเฉพาะการเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง และการประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภาคประชาชนจึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลด  โดยเฉพาะในช่วง กพ.-เม.ย. สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัว และมีตึกสูงบังทิศทางลม ทำให้เกิดปัญหามลพิษในอากาศสะสมอยู่ในเขตเมือง จึงได้เสนอมาตรการเฉพาะกิจระยะเวลา 90 วัน ช่วง กพ.-เม.ย. ให้ดำเนินการ ลดแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศด้วยการขยายเขตพื้นที่การจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าในเขตกทม. เพิ่มจากเขตรอยต่อกับจังหวัดปริมณฑลออกไปถึงวงแหวนรอบนอก

นอกจากนี้ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ควรจำกัดเวลารถบรรทุกขนาดเล็ก หรือป้ายทะเบียนสีเขียว เข้าในเขตกรุงเทพฯ ในชั่วโมงเร่งด่วน และหากยังไม่คลี่คลาย ควรจำกัดรถส่วนบุคคลเข้าในเขตกทม. ทะเบียนรถเลขคู่ในวันคู่และทะเบียนรถเลขคี่ในวันคี่ รวมถึงออกประกาศจังหวัด ห้ามเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด 90 วัน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล " อดีตอธิบดีคพ. กล่าว

นักวิชาการชี้สถานการณ์มลพิษฝุ่นลากยาวถึง เม.ย.

นันทวรรณ วิจิตรวาทการ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่น และผลกระทบ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มธ. กล่าวว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ มีการกำหนดกำหนดมาตรฐานสำหรับ PM2.5 คือค่าเฉลี่ยรายปี เท่ากับ 15 มคก./ลบ.ม และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 35 มคก./ลบ.ม  และองค์การอนามัยโลก  ได้กำหนดค่าเฉลี่ยรายปี เท่ากับ 10 มคก./ลบ.ม  และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ  25 มคก./ลบ.ม   

ขณะที่ประเทศไทย ได้กำหนดค่ามาตรฐานสำหรับ PM2.5 คือค่าเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 25 มคก./ลบ.ม และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 50 มคก./ลบ.ม ซึ่งสูงกว่าค่ามารฐานขององค์การอนามัยโลก

ด้าน ศ.แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงก่อสถานการณ์ฝุ่นเกินมาตรฐาน และต้องดูแลรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ ซึ่งปริมาณของกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในเขตกรุงเทพฯ มีสูงถึงกว่า 2.3 แสนคน และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่อการมีอาการ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมกลางแจ้งในบริเวณทีมีฝุ่นมาก สวมผ้าปิดจมูกหรือหน้ากากอนามัย ชนิด N95 ขณะออกจากบ้าน และ เมื่อเกิดอาการควรใช้ยาพ่นป้องกันหอบ ยาพ่นจมูกหรือรับประทานยาแก้แพ้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรลดยาเอง ส่วนผู้ป่วยที่เป็นหอบหืดควรพกยาพ่นฉุกเฉินที่เป็นยาขยายหลอดลมติดตัวไว้เสมอ รวมถึงพกน้ำตาเทียมหยอดตา หรือน้ำเกลือ สำหรับแก้อาการระคายเคืองตา

นักวิชาการชี้สถานการณ์มลพิษฝุ่นลากยาวถึง เม.ย.