posttoday

เมืองกรุงมลพิษสะสม บั่นทอนระบบหายใจ

12 กุมภาพันธ์ 2561

"กรุงเทพมหานคร" กำลังเผชิญกับสภาพอากาศเป็นมลพิษสะสมในเมืองเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังเผชิญกับสภาพอากาศเป็นมลพิษสะสมในเมืองเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยมีสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอันก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพ มีปริมาณที่สูงผิดปกติ

ขณะเดียวกัน จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2561 พบว่า แหล่งกำเนิดหลักจากการเผาไหม้ของรถเครื่องยนต์ดีเซล การเผาในที่โล่ง มีการส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย เนื่องจากฝุ่นละอองสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนลึกสุดได้ และจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและอักเสบในระบบทางเดินหายใจ

ร.ท.วารินทร์ เดชเจริญ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่มีมลพิษสะสม ทำให้ประชาชนกำลังเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี สะท้อนได้จากข้อมูลศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. พบว่าพื้นที่ กทม.มีผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจกว่า 2.3 แสนคน เพราะต้องดำรงชีวิตอยู่กับสภาพการจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน

สำหรับพื้นที่ กทม.ที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ ได้แก่ เขตดินแดง ลาดพร้าว ป้อมปราบศัตรูพ่าย พญาไท และปทุมวัน ส่วนใหญ่เกิดจากการจราจรที่หนาแน่น ขณะที่พื้นที่รอบนอกกทม.มลพิษเกิดขึ้นเป็นบางช่วงและเกิดจากการเผาวัสดุทางการเกษตรในที่โล่ง

 

เมืองกรุงมลพิษสะสม บั่นทอนระบบหายใจ

ทั้งนี้ ข้อเสนอของสภา กทม.ในการแก้ปัญหาคือ การให้สำนักสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการแก้ไขมลพิษทางอากาศโดยด่วนและเป็นขั้นตอน ดังนี้ 1.ล้างถนนและบริเวณทางเท้า 2.ควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง 3.กำหนดให้รถบรรทุก รถยนต์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ต้องมีล้างล้อรถให้สะอาด เพื่อป้องกันการนำฝุ่นหรือดินบนท้องถนน

 

4.ควบคุมวัสดุก่อสร้างและสิ่งอื่นบนทางเท้า 5.ร่วมกับตำรวจจราจรในการตั้งด่านตรวจรถควันดำไม่ให้เข้าพื้นที่ 6.ป้องกันการเผาในพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะบริเวณชานเมืองมักเกิดเหตุไฟไหม้หญ้าเป็นประจำ

และ 7.หามาตรการป้องกันผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า แต่ปีที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้ดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือสั่งการไปยังสำนักงานเขตให้ดำเนินการเกี่ยวกับการลดภาวะฝุ่นละออง

สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัด กทม. กล่าวว่า กทม.ได้กำชับให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เร่งดำเนินมาตรการในการควบคุมปัญหาฝุ่นละออง เช่น โครงการตรวจเข้มรถยนต์ควันดำพื้นที่ กทม.โครงการนำร่องถนนอากาศสะอาด โดยเข้มงวดดำเนินมาตรการ เช่น เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ การควบคุมมลพิษที่แหล่งกำเนิด (ยานพาหนะ สถานที่ก่อสร้าง) การล้าง ทำความสะอาดถนน ปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการจราจร รวมไปถึงประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกในการรักษาคุณภาพอากาศ และติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคาร ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมฝุ่นละออง

โดยสำนักสิ่งแวดล้อม เตรียมกำหนดพื้นที่นำร่องโครงการเขตอากาศสะอาดในพื้นที่ กทม.ชั้นใน เริ่มที่เขตปทุมวัน ซึ่งมีปัญหาการจราจรมาก ตั้งแต่บริเวณแยกสามย่าน-ปทุมวัน  ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ใช้ 6 มาตรการ ที่ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 2.เฝ้าระวังควบคุมคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จากแหล่งกำเนิด อาทิ ยานพาหนะ สถานที่ก่อสร้าง

3.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ได้มาตรฐานและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ 4.สร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด 5.เพิ่มรอบความถี่ในการทำความสะอาดถนนให้มากขึ้น และ 6.การจัดการจราจร

“สิ่งสำคัญที่กำลังทำอยู่ตอนนี้คือ รณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดระยะเวลาในการเดินทาง ส่งผลต่อการช่วยลดการระบายมลพิษจากยานพาหนะดังนั้นหากทำอย่างต่อเนื่องจะทำให้ในรอบระยะเวลา 10 ปี คุณภาพอากาศทั่วไปปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ค่ามาตรฐานลดลงเฉลี่ยรายปี 2550 อยู่ที่ 62 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยในปี 2559 ลดลงอยู่ที่ 49 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานรายปี 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม.” สุวรรณา กล่าว

 

เมืองกรุงมลพิษสะสม บั่นทอนระบบหายใจ

รองปลัด กทม. กล่าวอีกว่า ถึงกระนั้นยังคงต้องตรวจพบฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคระบบทางหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ภายนอกอาคารบริเวณถนนที่มีมลพิษสูงเป็นเวลานาน ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเข้าไปในเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัด

 

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศ ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่อย่างแท้จริง จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ใช้รถจักรยานหรือเดินเพิ่มขึ้น เพื่อลดปริมาณรถยนต์ในท้องถนน ลดการใช้น้ำมันส่งผลถึงการลดปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะยกระดับคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น