posttoday

หนีกรุง/หนีน้ำท่วม

25 พฤศจิกายน 2560

“ฝนตก กรุงเทพฯ ทำไมน้ำต้องท่วม”

โดย  วิรวินท์ ศรีโหมด

 “ฝนตก กรุงเทพฯ ทำไมน้ำต้องท่วม”

 “ทำไมคนกรุงเทพฯ ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมซ้ำๆ ซากๆ”

 “เปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม.ไม่รู้กี่คน ทำไมปัญหานี้ยังอยู่”

 “ทำไงดี ถึงจะหนีปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้”..?

 หลายคำถามวาบขึ้นมาในหัว ทุกครั้งที่นั่งรถไปในกรุงช่วงฝนตกหนัก น้ำนองถนน โดยเฉพาะแถวลาดพร้าวหรือรัชดาฯ เส้นทางสัญจรที่ใช้อยู่ประจำ

 แต่แล้วสิ่งคาใจเหล่านี้ก็ถูกไขคำตอบออกมา หลังจากได้พูดคุยกับบุคคล 2 ท่าน คนหนึ่งเป็นผู้บริหาร กทม. ทำงานด้านนี้โดยตรง และอีกคนเป็นนักวิชาการด้านน้ำ

ผู้บริหาร กทม. ยอมรับแบบเปิดอกคุยกันว่า ท่อระบายน้ำตลอดความยาวของถนนทั่วกรุงเทพฯ 6,400 กิโลเมตร (ผมพยายามนึกภาพตามความยาวที่ท่านบอก) ท่อส่วนใหญ่ ทุกวันนี้ ตกอยู่ในสภาพ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหลังฝนตก เนื่องจากพื้นที่ย่านเมืองเก่า (เขตพระนคร หัวลำโพง ฯลฯ) ขนาดวงรอบของท่อระบายน้ำอยู่ประมาณ 30 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่เมืองใหม่ (มีนบุรี บางกะปิ บางแค ฯลฯ) ขนาดท่ออยู่ที่ 1.50 เมตร

 เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น หากนำขนาดของท่อมาเปรียบเทียบกับจำนวนของบ้าน คอนโดและสถานบริการต่างๆ ในพื้นที่ กทม. ท่อเหล่านี้อาจเปรียบเป็นเพียงเส้นเลือดฝอยที่เล็กมากกับมหานครใหญ่

 และที่สำคัญในท่อเหล่านี้เต็มไปด้วยเศษขยะสิ่งปฏิกูลฝีมือคนกรุงและขยะธรรมชาติ ฉะนั้นถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกรถขยะ กทม.เก็บไป หรือคนนำไปทำลายจัดการอย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ยังไงก็ต้องลงไปกองทับถมอยู่ในท่อระบายน้ำ จนกลายเป็นเหมือนเมืองที่เส้นเลือดอุดตันเป็นจุดๆ สุดท้ายน้ำก็ไม่ไหลไปไหน กลับมาอยู่บนท้องถนนและชุมชนนั่นเอง

 ขณะที่การแก้ปัญหาของ กทม. วิธีที่รวดเร็วและทำได้ทันทีมี 2 อย่าง คือ 1.ลอกท่อปีละครั้งหรือ 2 ครั้ง (ต่อจุด หากพื้นที่นั้นหนักมาก) ส่วนเหตุที่ทำได้เท่านี้เพราะ กทม.มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ และ 2.เร่งสูบน้ำรอระบายตามถนนไปลงยังคลอง เพื่อหวังให้น้ำไหลไปสู่แม่น้ำให้เร็วที่สุด แต่ด้วยปัญหาขยะที่มีอยู่เต็มท่อ จึงเป็นปัจจัยหลักทำให้น้ำระบายช้า หรือระบายไม่ได้เพราะไปอุดตัน สุดท้ายน้ำมันวนกลับมาที่ชุมชน

 ผู้บริหาร กทม. ยอมรับว่าหากจะทำการแก้ไขปรับปรุงท่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นไปได้ยาก เพราะติดเรื่องงบประมาณและระบบวิศวกรรมท่อสาธารณูปใต้ดินที่มียั้วเยี้ย ไม่เอื้อต่อการปรับปรุงแก้ไข ดังนั้น การจะทำเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องยากและไม่ใช่ความสามารถระดับ กทม. แต่ต้องเป็นระดับนโยบายรัฐบาล

 ขณะที่นักวิชาการด้านน้ำ เสนอว่าทางแก้ปัญหาระบบท่อ กทม. อาจทำยากแต่ต้องทำ ปล่อยไว้ไม่ได้แล้ว ไม่เช่นนั้นจะเกิดการสะสมปัญหาให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก ส่วนการแก้ไขควรให้แต่ละเขตเจ้าของพื้นที่ซึ่งทราบรายละเอียดปัญหาเป็นอย่างดี เป็นผู้ดำเนินการไม่ว่าจะใช้วิธีใด

 แต่คิดว่าทางที่ทำง่ายและใช้งบประมาณไม่มาก คือขุดหรือทะลวงท่อทั้งระบบ ก็จะช่วยทำให้น้ำไหลจากต้นถึงปลายทางได้สะดวก แต่ปัญหาที่ทุกวันนี้ยังคงติดอยู่ เพราะผู้บริหารมัวแต่สนใจเรื่องเพิ่มจำนวนเครื่องสูบน้ำ หรือหาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพิ่ม ซึ่งอาจช่วยระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมดเพราะ กทม.เป็นพื้นที่ต่ำ

ดังนั้น หากย้อนไปมองเรื่องขยะในท่อระบายน้ำ แม้เร่งสูบน้ำจากถนนไปลงคลองเท่าไหร่ น้ำส่วนใหญ่ก็ยังคงไหลกลับลงมาที่ถนนอีกอยู่ดี เพราะระดับน้ำในคลองที่สูง แต่พื้นที่ต่ำทำให้น้ำไหลไปไหนไม่ได้ ดังนั้นเครื่องสูบน้ำอย่างเดียว จึงไม่ใช่ทางแก้ไขที่ตอบโจทย์

แต่ถึงอย่างไร ท้ายที่สุดด้วยหลักการบริหารของหน่วยงานส่วนใหญ่ ก็พยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยโครงการเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ๆ แต่สุดท้ายมองข้ามลืมวิธีที่ง่ายและใช้เงินไม่เยอะไป นั่นคือการขุดและทะลวงท่อทั้งระบบ

เมื่อได้ยินทั้งหมด ก็ได้แต่ถอนหายใจ คิดเสียว่า ยังไงเราเป็นเพียงประชาชนตัวเล็กๆ ทำอะไรมากไม่ได้ ต้องปล่อยวางเรื่องนี้ และหวังว่าผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจจะหาทางแก้ไข เผื่อซักวันหนึ่งปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ อาจจะแก้ไขได้เสียที

 ป.ล. คิดอีกที หากทำใจไม่ได้ ก็คงต้องขยับขยายไปหาที่อยู่ใหม่ มุมไหนสักแห่งของกรุงเทพฯ หรือนอกเมืองที่ยังไม่มีชุมชนหนาแน่น จะได้ไม่ต้องผวาเรื่องนี้อีก