posttoday

มรภ.สวนสุนันทาจัดปลูกป่าคำะโนดที่วังนาคินทร์

05 ตุลาคม 2560

สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทาร่วมกับชาวบ้านช่วยกันปลูกป่าที่วังนาคินทร์คำชะโนดใกล้ต้นมะเดือยักษ์ที่ประชาชนไปขอโชคลาภ

สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทาร่วมกับชาวบ้านช่วยกันปลูกป่าที่วังนาคินทร์คำชะโนดใกล้ต้นมะเดือยักษ์ที่ประชาชนไปขอโชคลาภ

เมื่อวันที่4ต.ค.60 เวลา 17.00น. นายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาร่วมกับชาวอ.บ้านดุง จ.อุดรธานีประกอบพิธีบวงสรวง“เจ้าปู่ศรีสุทโธ” เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนลงมือปลูกต้นชะโนด ภายในเกาะป่าคำชะโนด วังนาคินทร์คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ทดแทนต้นชะโนดเดิมที่สิ้นอายุไข โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา ร่วมกับชาวบ้านดุงจัดทำขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยร่วมกันปลูก “ต้นชะโนด” อายุกล้า 3 ปีเศษ สูง 1 เมตร จำนวน 134 ต้น บริเวณทิศตะวันออกของ “ต้นมะเดื่อยักษ์” ที่ประชาชนไปขอโชคลาภ

นายสมหวัง พ่วงบางโพ รอง ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ป่าพลุคำชะโนดได้รับผลกระทบ จากการพัฒนาที่ขาดการดูแลที่ถูกต้อง ทำให้ประชากรต้นชะโนดลดลง อุดรธานีได้ขอให้กรมป่าไม้ ส่งนักวิชาการมาศึกษาเบื้องต้น พบว่า มีต้นชะโนดใหญ่ 1,275 ต้น และต้นชะโนดเล็ก 669 ต้น ยังไม่รวมกล้าต้นชะโนด และกำลังศึกษาเพิ่มเติม ให้คงสภาพของป่าคำชะโนด ให้อยู่คู่วังนาคินทร์คำชะโนดตลอดไป การปลูกต้นชะโนดเคยทำมา 2 ครั้ง และครั้งนี้นักวิชาการป่าไม้ เป็นผู้กำหนดสถานที่ปลูกชัดเจน

ผศ.ภูสิทธิ์ ภูคำชะโนด รอง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา เปิดเผยว่า เกิดและโตที่ชุมชนป่าคำชะโนด เมื่อได้เข้าไปทำงานที่สถาบันวิจัยฯ ได้นำเสนองานของ “ป่าคำชะโนด”เริ่มเพาะกล้าต้นชะโนด 1 ชุด ประมาณ 500 ต้น ในปี 57 ได้นำไปปลูกในป่าคำชะโนด 109 ต้น ต่อมาในปี 59 ได้นำไปปลูกอีก 250 ต้น และพบว่าโอกาสการรอดสูงมาก ในปีนี้จึงนำต้นกล้าชุดสุดท้าย 134 ต้น มาปลูกในจุดที่นักวิชาการกรมป่าไม้กำหนด

“การเพาะกล้า-ปลูก-ดูแล ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันทำ เริ่มจากขออนุญาตจากเจ้าปู่ฯ ก่อนเริ่มเก็บเมล็ดต้นชะโนดในปี 56 ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. เลือกเมล็ดที่ตกลงพื้น เป็นเมล็ดสมบูรณ์สีน้ำตาลไหม้ เอามาเพาะในแปลงลึก 1 ข้อนิ้ว ประมาณ มี.ค. เมล็ดจะงอกโผล่ขึ้นมาให้เห็น ก็แยกเอามาอนุบาลในกระถาง ด้วยดินผสมขึ้นมาเฉพาะ รวมแล้วประมาณ 500 ต้น ช่วงปลายฝนปี 57 ก็เอามาทดลองปลูกครั้งแรก ที่เหลือก็ดูแลไว้ต่อเนื่อง แล้วเอามาปลูกรอบที่ 2 และ 3 ในปีนี้จะเก็บเมล็ดและเพาะอีกครั้ง ”ผศ.ภูสิทธิ์ กล่าว