posttoday

ไพบูลย์จี้มส.ทำตามพระลิขิตให้ "ธัมมชโย" ต้องอาบัติปาราชิก

08 กุมภาพันธ์ 2559

"ไพบูลย์" แถลงเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมดำเนินการตามพระลิขิต สมเด็จพระสังฆราช ให้ "ธัมมชโย" ต้องอาบัติปาราชิก

"ไพบูลย์" แถลงเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมดำเนินการตามพระลิขิต สมเด็จพระสังฆราช ให้ "ธัมมชโย" ต้องอาบัติปาราชิก

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการ (กมธ.) ปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายมโน เลาหวณิช อดีตกรรมการปฏิรูปงฯ แถลงว่า ขอฝากไปถึงสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรุปุญฺโญ) ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)  ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 10 ก.พ. นี้ เพื่อพิจารณาหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ดำเนินการให้พระธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิก ตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชที่มีมติของมส.รับรองแล้ว

ทั้งนี้ พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ทรงใช้อำนาจในฐานะสกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีอำนาจบัญชาพระสงฆ์ตามผหมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยพระลิขิตลงวันที่ 10 พ.ค. 2542 ซึ่งมีเนื้อหาเป็นที่เข้าใจว่า พระธัมมชโยเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัพระธรรมกายไปแล้ว  และมส.ก็ได้มีมติสนองพระดำริมาโดยตลอด ให้ชอบด้วยกฎหมายพระธรรมวินัยและกฎของมส. และยังส่งเรื่องให้ฝ่ายสังฆการดำเนินการตามมติมส. ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระบัญชาและพระประสงฆ์ให้ดำเนินตามกฎของมส. ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2538) ว่าด้วยให้พระภิกษุสละสมณเพศข้อ 4 ซึ่งบัญญัติว่า “มส.มีอำนาจวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้ ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ไม่ว่าในชั้นใดๆ” และข้อ 5 ยังระบุว่า “คำวินิจฉัยให้พระภิกษุสละสมณเพศตามข้อ 3 หรือข้อ 4 ให้เป็นอันถึงที่สุด”

"ดังนั้นเมื่อมีพระลิขิตที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงใช้อำนาจในฐานะสกลมหาปริณายกและประธานกรรมการมส. และได้นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมมส.และได้มีมติเห็นชอบแล้ว จึงมีผลตามกฎของมส. ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2538) มาตรา 4 วรรคท้าย ให้อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องสละสมณเพศ และตามข้อ 5 คำวินิจฉัยตามข้อ 3 หรือข้อ 4 ให้เป็นอันถึงที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎมส. สมเด็จช่วงในฐานะประธานมส และกรรมการมส. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จะต้องติดตามดำเนินการให้พระธัมมชโยต้องสละสมณเพศตามกฎมส.ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2538) เช่นเดียวกับกรณีของพระยันตระ อมโร ซึ่งมส.เคยใช้อำนาจวินิจฉัยให้ต้องอาบัติปาราชิกไปแล้ว หากมส.และสำนักพระพุทธศาสนาไม่ดำเนินการหรือมีการบ่ายเบี่ยงในฐานะหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจจะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอาจถูกข้อครหาว่าเป็นการช่วยเหลือให้การสนับสนุนคุ้มครองพระธัมมชโยไม่ให้ต้องปาราชิกพ้นจากความเป็นภิกษุตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช"นายไพบูลย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามพระลิขิตแก่พระธัมมชโยที่ต้องอาบัติปาราชิก ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎของมส. ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม เนื่องจากตามพระวินัยปิฏก เพราะการกระทำนิคหกรรมเป็นการลงโทษแก่ภิกษุผู้ประพฤติผิดตามธรรมวินัย แต่ไม่รวมอาบัติปาราชิก ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎของมส. ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2538)  ซึ่งที่ผ่านมาเราพูดเพียงแค่กฎของมส. ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ซึ่งไม่ใช่แล้ว ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ทำตามกฎหมายที่บัญญัติ โดยจากนี้ไปตนจะติดตามว่ามีการปฏิบัติตามหรือไม่ ไม่เช่นนั้นตนจะเป็นผู้กล่าวหาเอง