posttoday

ทร.ร่ายยาวเหตุผลซื้อเรือดำน้ำ

30 กรกฎาคม 2558

กองทัพเรือ ร่ายยาว โครงการจัดหาเรือดำน้ำเผยแพร่ ย้ำความจำเป็นต้องมี ยันพิจารณารอบคอบคุ้มค่างบฯ 36,000 ล้าน ใช้งบฯ ผูกพันของ ทร. 7-10 ปี

กองทัพเรือ ร่ายยาว โครงการจัดหาเรือดำน้ำเผยแพร่ ย้ำความจำเป็นต้องมี ยันพิจารณารอบคอบคุ้มค่างบฯ 36,000 ล้าน ใช้งบฯ ผูกพันของ ทร. 7-10 ปี

วันที่ 30 ก.ค. กองทัพเรือ ออกเอกสาร 9 หน้า ชี้แจงความจำเป็นมีเรือดำน้ำ ตามคำสั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รมว.กลาโหม  ที่ต้องการให้กองทัพเรือสร้างการรับรู้ให้ประชาชน ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี โดยเอกสารนี้ จัดทำโดย พล.ร.อ. ณรงค์พล ณ บางช้าง ผช.ผบทร. ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณา จัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ  แต่ออกในนามกองทัพเรือแจกจ่ายต่อ สื่อมวลชน เพื่อนำเสนอยังประชาชน ให้รับทราบ ตามคำสั่ง รมว.กลาโหม ที่สั่งการผ่าน พล.ร.อ. ไกรสร จันทร์สุวานิชย์  ผบ.ทร.

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารที่กองทัพเรือชี้แจง คือ 1.ความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งทางกองทัพเรือเห็นความสำคัญของการมีเรือดำน้ำเข้าประจำการ ซึ่งจำเป็นต้องมีไว้รักษาความมั่นคงของประเทศทางทะเล โดยการมีเรือดำน้ำ นั้น อยู่ในแนวความคิดในการนำมาใช้กว่า 100 ปี มาแล้ว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของ จอมพลเรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงถวายบันทึกรายงานความเห็นเรื่อง เรือ “ส” (หมายถึงเรือดำน้ำ “ส” คือ Submarine) ต่อนายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาธิการทหารเรือ เมื่อ พ.ศ.2458 ว่าการมีเรือ “ส” ในประเทศไทยมีได้แน่และจะได้ประโยชน์ดังความตอนหนึ่งว่า “ถ้าเรามีเรือ ส แล้ว ข้าศึกจะต้องนึกถึงเรือ ส ของเราด้วยในเวลาที่เขาจะจัดกองทัพเข้ามาตีกรุงสยามสงครามคราวนี้ได้แสดงให้เห็นความสำคัญของเรือ ส เพราะฉะนั้นเพื่อจะหนีอันตรายเรื่องเรือ ส ข้าศึกคงไม่ส่งเรือใหญ่เข้ามาเพื่อให้เป็นเป้าแก่เรือ ส ได้” จนกระทั่งกองทัพเรือได้จัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 4 ลำ คือ ร.ล.มัจฉาณุ ร.ล.วิรุณ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2481 ซึ่งในอดีตเรือดำน้ำเคยช่วยทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกยึดครอง และ เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ในกรณีพิพาทไทย–อินโดจีนมาแล้ว และจากประวัติการรบกับฝรั่งเศสจนเกิดยุทธนาวี ที่เกาะช้างที่กองทัพเรือต้องเสีย ร.ล.ธนบุรี ร.ล.ชลบุรี และ ร.ล.สงขลาไปนั้น มีหลักฐานว่าฝรั่งเศสระแวงเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยอย่างมาก หลังจากต่อตีเรือของกองทัพเรือแล้ว จึงรีบถอนกำลังทางเรือกลับทันที ต่อมาเรือดำน้ำของกองทัพเรือได้ถูกปลดประจำการไปพร้อมกันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 จึงทำให้ประเทศไทยขาดรั้วที่สำคัญไปหนึ่งด้านมาเป็นเวลากว่า 64 ปี จึงถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางทะเล ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคปัจจุบัน

2.เรือดำน้ำกับความมั่นคงในสถานการณ์และภัยคุกคามปัจจุบัน โดยประเทศไทยมีผลประโยชน์ทางทะเลคิดเป็นมูลค่าประมาณ 24 ล้านล้านบาทต่อปี และนับวันจะทวีมูลค่ามากขึ้นในอนาคต ดังนั้น การปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยการเสริมสร้างกำลังทางเรือจึงเป็นความจำเป็น เพื่อให้มีกำลังทางเรือที่สมดุลทัดเทียมกันในภูมิภาค หรือ เพื่อให้มีศักยภาพในการรบที่ใกล้เคียงกันหรือเหนือกว่า ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้เสริมสร้างกำลังทางเรือเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกำลังเรือดำน้ำ ทำให้เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถของกำลังทางเรือแล้ว กองทัพเรือมีความเสียเปรียบอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการ เพราะการมีเรือดำน้ำเท่านั้น จึงจะรักษาดุลกำลังทางเรือในสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลในปัจจุบันได้เรือดำน้ำเป็นเรือรบที่มีศักยภาพสูงที่สุดในบรรดาเรือรบด้วยกัน เป็นอาวุธที่มองไม่เห็น ตรวจจับยาก ปฏิบัติการได้ไกล และมีอำนาจการทำลายรุนแรง สามารถสร้างความยำเกรงให้กับฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังทางเรือเหนือกว่าอย่างมากได้ เรือดำน้ำจึงเป็นตัวคูณกำลังหรือ Force Multiplier ซึ่งจะเข้ามาเสริมเติมเต็ม ให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถครบทุกมิติ คือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และ ในอากาศ ด้วยคุณสมบัติของเรือดำน้ำ ที่สามารถซ่อนพรางอยู่ใต้น้ำได้ ทำให้ไม่มีใครสามารถหาเจอหรือพิสูจน์ทราบได้ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามกังวลและยำเกรงอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมของกำลังรบ หากเกิดความขัดแย้งและสถานการณ์ที่อ่อนไหวระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่คาดไม่ถึง ดังนั้น การที่กองทัพเรือมีความพร้อมในการรบทุกๆ ด้าน จะทำให้ประเทศมีความมั่นใจในการรักษาอธิปไตยของชาติได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การจัดหาเรือดำน้ำมิได้ใช้เวลาแค่เพียงชั่วข้ามคืน เพราะการต่อเรือและการฝึกกำลังพลให้พร้อม ต้องใช้เวลานาน 7 ถึง 10 ปี กองทัพเรือจึงต้องเร่งขจัดความเสี่ยงต่อความล่อแหลมที่อาจจะเกิดขึ้นได้นี้ ด้วยการเริ่มโครงการจัดหาเรือดำน้ำตั้งแต่ปี 2558 นี้ เนื่องจากประเทศต่างๆ รอบบ้าน ล้วนมีเรือดำน้ำเข้าประจำการเป็นส่วนใหญ่แล้ว จึงมีขีดความสามารถที่เหนือกว่ากองทัพเรือไปล่วงหน้า 8 – 10 ปี ดูได้จากประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันมีเรือดำน้ำประจำการ 6 ลำ และกำลังต่อเพิ่มอีก 2 ลำ ประเทศเวียดนามสั่งต่อเรือดำน้ำจากรัสเซียจำนวน 6 ลำ ขณะนี้เข้าประจำการแล้ว 4 ลำ ประเทศอินโดนีเซียมีเรือดำน้ำประจำการ 2 ลำ กำลังต่อเพิ่มที่เกาหลีใต้อีก 3 ลำ และประเทศมาเลเซียมีเรือดำน้ำประจำการ 2 ลำ เป็นต้น

3.เรือดำน้ำกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยประเทศไทยมีการนำเข้า-ส่งออก สินค้าทางทะเลสูงถึง 95 % และ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานี้ถือว่าเป็นเส้นทางคมนาคมทางทะเลเชื่อมทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกาผ่านช่องแคบมะละกา จึงนับว่า มีความสำคัญระดับโลกทีเดียว ซึ่งหากเกิดปัญหาการปิดล้อมพื้นที่หรือข้อพิพาททางทะเลไม่ว่าที่ใด ย่อมส่ง ผลกระทบต่อการคมนาคมทางทะเลโดยตรง ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก เมื่อมองพื้นที่บริเวณอ่าวไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางคมนาคมสายหลักที่มีการนำเข้า–ส่งออกสินค้า เป็นจำนวนมาก มีเรือสินค้าผ่านเข้าออกปีละประมาณ 15,000 ลำ แต่ด้วยพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงทางด้านภูมิศาสตร์ในการที่จะถูกปิดอ่าวหรือขัดขวางการใช้เส้นทางเดินเรือ เนื่องจากปากอ่าวมีความกว้างประมาณ 200 ไมล์ทะเล หรือ 400 กิโลเมตร เท่านั้น หากเกิดกรณีพิพาทหรือความขัดแย้งกับต่างประเทศขึ้น การถูก ปิดอ่าวจะทำให้การขนส่งทางทะเลสายนี้หยุดชะงักทันที ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดความเสียหาย ดั่งเช่นที่เราเคยประสบมาแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อ่าวไทยถูกปิดทำให้เกิดความเดือดร้อนแสนสาหัส

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผลประโยชน์ทางทะเลคิดเป็นมูลค่าประมาณ 24 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การขนส่งทางทะเล อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการท่องเที่ยว ซึ่งเส้นทางเดินเรือ ที่ปลอดภัยจะส่งเสริมเศรษฐกิจเหล่านี้มีความมั่นคง การที่กองทัพเรือเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ ใช้งบประมาณ 36,000 ล้านบาท หากมองระยะยาวเมื่อนับอายุการใช้งานของเรือดำน้ำที่มีอย่างน้อย 30 ปีรวมกับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่อปีแล้ว คิดเป็นเพียง 0.006% ของผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การจัดซื้อเรือดำน้ำจึงมีความคุ้มค่าอย่างแน่นอนเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งเมื่อกองทัพเรือมีกำลังทางเรือ ที่แข็งแกร่ง ย่อมจะส่งผลถึงการคมนาคมขนส่งทางทะเลที่มีความมั่นคง ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจ ในด้านการลงทุนได้เป็นอย่างดี ถึงแม้กองทัพเรือจะมีเรือผิวน้ำและอากาศยาน ที่ทำหน้าที่ป้องกันสกัดการรุกรานทางทะเลอยู่แล้ว แต่การประกอบกำลังทางเรือที่สมบูรณ์จะต้องมีครบทั้ง 3 มิติ เพราะในมิติใต้น้ำ ต้องใช้เรือดำน้ำในการปราบเรือดำน้ำด้วยกัน สำหรับยามปกติ เรือดำน้ำจะทำหน้าที่ป้องปรามไม่ให้เรือใดๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามคิดเข้ามารุกรานประเทศไทย เปรียบเสมือนเป็นรั้วให้กับประเทศ เรือดำน้ำจึงเปรียบเสมือนกองกำลังใต้น้ำที่จะสร้างความน่าเกรงขามให้กับประเทศไทย จากสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายคนมองว่าคงจะไม่เกิดสงครามในระยะใกล้นี้ แต่ความขัดแย้งในทะเลยังคงมีอยู่และไม่มีใครยืนยันได้ว่าสถานการณ์จะไม่บานปลายไปถึงขั้นการใช้กำลัง ต่อกันเมื่อใด การมีเรือดำน้ำจึงเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้เกิดสงคราม ซึ่งการรักษาดุลกำลังทางเรือในภูมิภาคจึงมีความจำเป็น เพื่อให้มีการยับยั้งชั่งใจในการใช้กำลังทางเรือและนำไปสู่การเจรจาต่อรองที่มีความทัดเทียมกัน

4.เรือดำน้ำกับความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ โดยประเทศไทยมีแผ่นดินติดกับทะเล 2 ด้าน คือ ด้านตะวันตกเป็นทะเลอันดามันและช่องแคบมะละกาส่วนด้านตะวันออกเป็นอ่าวไทย มีพื้นที่ทางทะเลประมาณ 320,000 ตารางกิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ยที่ประมาณ 50 เมตร ความลึกที่สุดอยู่บริเวณกลางอ่าว ประมาณ 85 เมตร ความใสของน้ำสามารถเห็นได้ลึกสุดไม่เกิน 16 เมตร จากพื้นที่ที่มีบริเวณกว้างและสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการซ่อนพรางของเรือดำน้ำ ทำให้การค้นหาเรือดำน้ำด้วยสายตาจากบริเวณผิวน้ำ หรืออากาศยาน เป็นไปด้วยความยากลำบาก เรือดำน้ำจึงสามารถเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายที่จำเป็นต่อการพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งในอดีตช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรือดำน้ำ Sealion ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เคยเข้ามาจมเรือหลวง สมุย ขณะกำลังลำเลียงน้ำมันจากสิงคโปร์บริเวณอ่าวไทยตอนใต้ และในปัจจุบันเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของกองทัพเรือสหรัฐซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าในอดีตมาก ก็เข้ามาฝึกกับกองทัพเรือในอ่าวไทยเป็นประจำ ก็สามารถปฏิบัติการใต้น้ำในอ่าวไทยโดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เรือดำน้ำสมัยใหม่มีอุปกรณ์การเดินเรือที่ทันสมัยมาก มีระบบรักษาความลึกขณะดำน้ำโดยอัตโนมัติที่มีความเที่ยงตรงสูง ดังนั้นการปฏิบัติการในเขตน้ำตื้นถือเป็นเรื่องปกติของเรือดำน้ำ เพราะในบางภารกิจเรือดำน้ำจำเป็นต้องเข้าใกล้ฝั่งมาก ในอ่าวไทยมีน้ำลึกเฉลี่ย 50 เมตร จึงไม่ใช่อุปสรรคในการปฏิบัติการของเรือดำน้ำปัจจุบัน และการมองเห็นจากเครื่องบินเมื่อเรือดำน้ำดำลึกกว่า 20 เมตรก็ไม่สามารถมองเห็นได้

5.การพิจารณาคัดเลือกเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ทางกองทัพเรือได้พิจารณาจากความเหมาะสมในหลายๆ ด้านในการคัดเลือกแบบเรือดำน้ำ ตั้งแต่ด้านสมรรถนะและขีดความสามารถ ความปลอดภัย การบำรุงรักษา ส่วนสนับสนุนบนบก การฝึกกำลังพล และอื่นๆ ที่ประเทศผู้ผลิตจะเสนอภายในวงเงินที่กำหนด โดยกองทัพเรือได้พิจารณาข้อเสนอจากประเทศต่างๆ รวม 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส รัสเซีย สวีเดน และเยอรมนี ซึ่งแม้ว่าผู้ผลิตจากจีนเป็นรายเดียวที่เสนอเรือดำน้ำ จำนวน 3 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท ในขณะที่รายอื่นเสนอเพียงจำนวน 2 ลำ แต่ก็มิได้เป็นเหตุผลเดียว ที่นำมาตัดสิน หากแต่ได้มีการคำนึงถึงในทุกประเด็นที่กล่าวข้างต้น

เอกสารชี้แจงยังได้สรุปในด้านสมรรถนะและขีดความสามารถที่สำคัญนั้น เรือดำน้ำจีนมีระบบ AIP (Air Independent Propulsion) ทำให้สามารถปฏิบัติการใต้น้ำได้นาน โอกาสที่จะถูกตรวจจับจึงต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเรือดำน้ำประเทศอื่นที่อยู่ในน้ำได้อย่างมาก 4-5 วัน จึงต้องโผล่ขึ้นมาทำการชาร์จแบตเตอรี แต่เรือดำน้ำจีนสามารถอยู่ ใต้น้ำได้เป็นเวลานาน 21 วัน โดยไม่ต้องโผล่ ซึ่งหากในสถานการณ์รบที่ยืดเยื้อ หรือสถานการณ์คับขัน เรือดำน้ำ ที่อยู่ใต้น้ำได้นานโดยไม่ต้องขึ้นมาเปิดเผยตัวจะได้เปรียบทางการรบมากกว่า รวมทั้งเรือดำน้ำจีน มีการติดตั้งระบบอาวุธที่ครบถ้วนหลายชนิดมาพร้อมกับเรือ ได้แก่ อาวุธปล่อยนำวิถีที่สามารถยิงจากใต้น้ำสู่เป้าหมายเรือรบผิวน้ำ และยังสามารถยิงเป้าหมายบนฝั่งได้ รวมทั้งอาวุธตอร์ปิโด และทุ่นระเบิด จึงทำให้มีขีดความสามารถที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่นที่เสนอมา นอกจากนี้ อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับกำลังพลในการขึ้นสู่ผิวน้ำแบบฉุกเฉิน ก็ใช้อุปกรณ์ของยุโรป จึงมีความมั่นใจในความปลอดภัยของกำลังพลเช่นเดียวกันกับเรือดำน้ำของยุโรป สำหรับความปลอดภัยของตัวเรือนั้น เรือเป็นแบบตัวเรือ 2 ชั้น (Double Hull) มีกำลังลอยสำรองสูงกว่าแบบตัวเรือชั้นเดียว (Single Hull) มีการออกแบบผนังกันน้ำภายในเรือและช่องทางออกจากตัวเรือที่สมบูรณ์ และช่องทางออกของเรือดำน้ำสามารถเชื่อมต่อกับยานกู้ภัยใต้น้ำได้ตามมาตรฐานนาโต้ จึงนับว่ามีความปลอดภัยอยู่ในเกณท์ที่ดี

สำหรับในด้านการบำรุงรักษาเรือ ทางบริษัทผู้สร้างเรือจะรับประกันอุปกรณ์ทุกระบบเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งมากกว่าของประเทศอื่นๆ ที่รับประกันเพียง 1 ปี และสนับสนุนอะไหล่เป็นเวลาถึง 8 ปี แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพของอุปกรณ์ต่างๆ นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเรือ ดำน้ำ โดยเฉพาะการซ่อมบำรุงตัวเรือ และระบบต่างๆของเรือ รวมทั้งระบบอาวุธ ทำให้กองทัพเรือเข้าถึง องค์ความรู้ที่สามารถดำรงความพร้อมของเรือดำน้ำได้ตลอดอายุการใช้งาน ประกอบกับเรือดำน้ำที่จีนเสนอครั้งนี้ เป็นเรือดำน้ำแบบดีเซล-ไฟฟ้า รุ่นล่าสุดที่ผลิตสำหรับกองทัพเรือจีน ทำให้หมดปัญหาเรื่องการสนับสนุนอะไหล่ตลอดอายุใช้งาน และการส่งกำลังบำรุงที่เกี่ยวข้องทั้งปวง สำหรับการฝึกอบรมกำลังพลนั้น เนื่องจากเรือดำน้ำที่จีนเสนอเป็นแบบเดียวกับที่กองทัพเรือจีนใช้ราชการในปัจจุบัน ทางกองทัพเรือจีนจึงสามารถให้การสนับสนุนการฝึกได้อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการสร้างเรือโดยใช้เรือของกองทัพเรือจีนเป็นเรือฝึก เริ่มจากการใช้เรือปกติ ไปจนถึงขั้นการใช้เรือทางยุทธวิธี ซึ่งการฝึกกำลังพลจะใช้เวลาฝึกนานถึง 3 ปี นับว่าเป็นการฝึกที่สมบูรณ์อย่างมาก นอกจากนี้ก็ยังมีการส่งช่างเทคนิคไปทำการเรียนและฝึกอบรมที่อู่ต่อเรือและบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ด้วย ทำให้กำลังพลเรือดำน้ำและช่างของกองทัพเรือมีความพร้อมทันทีเมื่อได้รับมอบเรือ

ในเอกสารยังชี้แจงว่า ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัยด้านการทหารอย่างมาก ทำให้เทคโนโลยีทางทหารของจีนมีความก้าวหน้า โดดเด่น และมีมาตรฐานสูงขึ้นมาก จะเห็นได้จากการที่เรือดำน้ำของจีนสามารถเล็ดรอดการตรวจจับเข้าไปปรากฏตัวกลางกองเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในระยะใกล้ได้ จึงทำให้มั่นใจในขีดความสามารถของเรือดำน้ำรุ่นที่จีนเสนอนี้ได้ในประเด็นเรื่องงบประมาณ 36,000 ล้านบาท ที่จะนำมาจัดหาเรือดำน้ำนั้น กองทัพเรือใช้การผ่อนชำระในระยะยาว 7 – 10 ปี ไม่ใช่การจ่ายเงินก้อนเดียวทั้งหมด จึงตกปีละประมาณ 3,000- 5,000 ล้านบาทเท่านั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาผ่อน ในขณะที่กองทัพเรือจะได้รับมอบเรือมาใช้งานทั้ง 3 ลำ ภายในระยะเวลา 6 ปี จึงถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กองทัพเรือได้ประโยชน์มาก และงบประมาณส่วนนี้ก็มาจากงบประมาณที่กองทัพเรือได้รับจัดสรรประจำปีตามปกติ มิได้มาจากงบกลางหรืองบพิเศษของรัฐบาลแต่อย่างใด ซึ่งสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเล ในปัจจุบันและที่คาดการณ์ในอนาคต เป็นตัวกำหนดให้กองทัพเรือต้องเริ่มจัดหาเรือดำน้ำในปีนี้ โดยกองทัพเรือได้บริหารเงินงบประมาณของกองทัพเรือที่ได้รับ ให้สามารถเริ่มโครงการจัดหาเรือดำน้ำ และขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้กระทบกับการพัฒนากำลังรบในส่วนอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่อนุมัติโครงการจัดหาเรือดำน้ำในครั้งนี้ กองทัพเรือก็ต้องพัฒนากองทัพเรือด้วยงบประมาณก้อนนี้อยู่ดี แต่เปลี่ยนเป็นการจัดหายุทโธปกรณ์ประเภทอื่นแทน เช่น เรือฟริเกต หรืออากาศยานปราบเรือดำน้ำ แทน เป็นต้น ซึ่งก็ไม่สามารถทำให้กองทัพเรือบรรลุภารกิจที่สมบูรณ์ได้อยู่ดี เพราะไม่มียุทโธปกรณ์ใดสามารถมาทำงานแทนที่เรือดำน้ำได้ ดังนั้น โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือครั้งนี้ ถือว่าเป็นความจำเป็นจริง ๆ เพื่อผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงทางทะเลอย่างแท้จริงและคุ้มค่าเงินที่สุด จากเหตุผลความจำเป็นที่กล่าวมาทั้งหมด กองทัพเรือขอยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดหาเรือดำน้ำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ด้วยการเพิ่มศักยภาพของกำลังทางเรือของกองทัพเรือให้ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน และรักษาดุลกำลังทางเรือในภูมิภาคให้มีความสมดุล สำหรับแบบเรือดำน้ำนั้น กองทัพเรือพิจารณาที่จะจัดหาเรือดำน้ำรุ่น S26T จากประเทศจีน เพราะในวงเงิน 36,000 ล้านบาท ตาม Package ที่จีนเสนอนั้น สามารถทำให้กองทัพเรือบรรลุความต้องการในการมีกองเรือดำน้ำที่สมบูรณ์แบบ ตามความจำเป็นทางยุทธศาสตร์กองทัพเรือที่วางไว้ และการจัดซื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้ก็เป็นการจัดหาในลักษณะ รัฐบาล ต่อ รัฐบาล หรือ G-to-G จึงมีรัฐบาลจีนให้ความมั่นใจในด้านคุณภาพและการสนับสนุนอีกด้วย จึงขอเรียนอีกครั้งว่า โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือในครั้งนี้เป็นโครงการที่กองทัพเรือได้พิจารณาอย่างรอบคอบและมีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติทางทะเลทียั่งยืนตลอดไป

ภาพ เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam