posttoday

แก้ไขปัญหาสังคมด้วยงานดีไซน์ 'D4D'

29 พฤศจิกายน 2557

การแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ จะต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ โดยลากเส้นความถนัดของเราไปหาคนที่มีความถนัดต่างกัน

การแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ จะต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ โดยลากเส้นความถนัดของเราไปหาคนที่มีความถนัดต่างกัน และสร้างเป็นเครือข่ายเดียวกันในที่สุด เหมือนกลุ่มศิลปินกลุ่มหนึ่งที่กำลังนำสิ่งที่พวกเขาถนัดมาช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่างในสังคม ในชื่อ D4D หรือ Design For Disasters

ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ เล่าว่า กลุ่มเครือข่ายอิสระ D4D ที่ประกอบด้วยนักออกแบบ ศิลปิน นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป ที่รวมตัวกัน มีจุดประสงค์เพื่อใช้งานดีไซน์ในการแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งงานที่ผ่านมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยครั้งใหญ่ในปี 2554 คือการออกแบบบ้านสะเทินน้ำสะเทินบก เป็นต้น และล่าสุดกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย

“หลังเกิดเหตุการณ์เราพบว่าอาคารเรียนบริเวณเชิงเขาเสียหาย กลุ่มเราร่วมกับสมาคมสถาปนิก สภาวิศวกรรม สรุปโครงการที่จะทำการช่วยเหลือออกเป็น 2 โปรเจกต์ หนึ่งคือโครงการโรงเรียนพอดี พอดี โดยการสร้างอาคารเรียนชั่วคราว 9 แห่ง และโรงเรียนดอยช้างก็เป็นโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่และได้รับผลกระทบมากที่สุดในบรรดา 9 โรงเรียน คืออาคารเรียนหลังใหญ่ถล่มมาทั้งหลัง ต้องสร้างใหม่ทั้งหมด อีกหนึ่งโครงการคือ สร้างบ้านพอดี พอดีสร้างบ้านให้กับคนในพื้นที่ 9 หลัง โดยใช้สถาปนิก 9 คน ณ ปัจจุบันโครงการได้รับการตอบรับดี มีหลายหน่วยงานที่ตอบรับจะให้ความช่วยเหลือจำนวนมากทั้งในด้านโครงสร้าง อุปกรณ์การก่อสร้าง”

แก้ไขปัญหาสังคมด้วยงานดีไซน์ 'D4D'

 

ชุตยาเวศ บอกเพิ่มเติมว่าเพื่อระดมทุนเพิ่มเติมจึงจับมือกับโตเกียวไบค์ ประเทศไทย (Tokyo Bike) ซึ่งมีอายุครบ 1 ปี ในเดือน พ.ย.นี้โดยจะนำจักรยาน 2 คันมาออกแบบตกแต่ง โดยเชิญ 2 นักออกแบบคือ วิก ธีร์รัฐว่องวัฒนะสิน ดีไซเนอร์ห้องเสื้อ Vick’s และจิรายุ คูอมรพัฒนะ (Jirayu Koo) กราฟฟิกดีไซเนอร์ มาร่วมรังสรรค์ลวดลายบนจักรยานในสไตล์ของตัวเอง ซึ่งจักรยานทั้งสองคันนี้จะนำไปประมูล รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่าย จะนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนดอยช้าง

“กลุ่มเรามีคนหลากหลาย มีทั้งกลุ่มคนที่เป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์โปรดักต์ดีไซน์ สถาปนิก หรือแม้กระทั่งแฟชั่นดีไซเนอร์ เรามีอยู่ในทุกพื้นที่เกือบ 8,000 คน แอ็กทีฟประมาณ 800 คน ซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายค่อนข้างใหญ่ เราจะค่อยๆ มองปัญหาสังคมและหาทางแก้ไขไปทีละจุด โดยใช้ความถนัดของเราเป็นหลัก ซึ่งนอกเหนือจากงานเหล่านี้ เราก็ร่วมมือกับ TCDC สอนเวิร์กช็อปต่างๆ อยู่เป็นระยะ”

ด้าน ธีร์รัฐ ดีไซเนอร์ผู้ร่วมออกแบบจักรยานโตเกียวไบค์ เล่าว่า “รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการนี้ อีกอย่างหนึ่งมองว่าการออกแบบจักรยานเป็นงานที่ท้าทาย อีกทั้งการออกแบบเสื้อผ้าเพื่อปั่นจักรยานก็ต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายในการสวมใส่ด้วย”

แก้ไขปัญหาสังคมด้วยงานดีไซน์ 'D4D'

 

จิรายุ กราฟฟิกดีไซเนอร์ ทำหน้าที่ออกแบบลวดลายเฟรมจักรยานของผู้หญิงซึ่งเธอบอกว่า “ก่อนทำการออกแบบก็ต้องทดลองขี่จักรยานก่อน แล้วจับความรู้สึกขณะปั่นจนกลายเป็นลวดลายที่ออกมาสะท้อนถึงความสุขและความสดใส จิมองว่างานดีไซน์ที่ทำก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมได้ ซึ่งต้องขอขอบคุณโตเกียวไบค์ที่ชวนมาร่วมกิจกรรมนี้”

ขณะที่ วรัญญา สุขวารี หนึ่งในสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารเรียนโรงเรียนดอยช้าง บอกว่า เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน แต่เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม D4D มา1 ปีแล้ว ซึ่งการเข้าร่วมออกแบบอาคารเรียนครั้งนี้ ก็ยังได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เรียนรู้เรื่องสถาปัตยกรรมไม้ไผ่เพิ่มเติม

“ได้ทำงานออกแบบที่ท้าทายขึ้น เพราะพื้นที่ที่เราทำงานเป็นพื้นที่ที่เคยประสบภัยพิบัติ เป็นพื้นที่เชิงเขา มีข้อจำกัดมากมาย ซึ่งตรงนี้ทำให้เราได้วิชาจากอาจารย์ในวงการสถาปนิกหลายท่านให้คำแนะนำ โครงการนี้เราไม่ได้เป็นผู้ให้ฝ่ายเดียว แต่เราก็ได้รับหลายอย่างกลับมาเหมือนกัน

แก้ไขปัญหาสังคมด้วยงานดีไซน์ 'D4D'

 

“เราไปปรึกษาอาจารย์เดชา เตียงเกตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ได้รับความรู้ด้านนี้มา และถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในพื้นที่ ว่าทำอย่างไรไม้ไผ่ที่นำมาสร้างที่พักอาศัยนั้นจะอยู่ได้ทนทานเป็น 20 ปี ซึ่งการสร้างโรงเรียนนี้ก็เป็นเหมือนกับเวิร์กช็อปให้กับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย” วรัญญา กล่าว

คนที่สนใจกิจกรรมของกลุ่ม D4D ติดตามข่าวสารต่างๆ ได้จากเฟซบุ๊ก : DesignFor Disasters

แก้ไขปัญหาสังคมด้วยงานดีไซน์ 'D4D'