posttoday

คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าพุ่ง 1.5 ล้านคน

08 มีนาคม 2556

สธ. คาด มีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว ยันมียารักษาให้หายได้

สธ. คาด มีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว ยันมียารักษาให้หายได้

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งวิถีชีวิตของประชาชน ผลการศึกษาในหลายประเทศพบว่า โรคนี้มีโอกาสเกิดในช่วงชีวิตหนึ่งของคนระหว่าง 0.9-13% ในส่วนของไทยคาดว่าประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 1.5 ล้านคน เป็นหญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว พบใน กทม.มากที่สุด อัตราป่วย 5% ขณะที่ต่างจังหวัดมีประมาณ 2.3-2.7% ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการฆ่าตัวตาย

สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบบริการผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยกระจายการรักษาด้วยยาและการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตครอบคลุมถึงโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และมีระบบเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และในคลินิกโรคเรื้อรังทั้งในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งได้อบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านช่วยประเมินปัญหาด้านสุขภาพจิต หากพบว่ามีความเสี่ยงจะส่งเข้ารับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล ตั้งเป้าจะให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการให้ได้ทุกคน ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงได้

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคซึมเศร้ามียารักษาหายขาดได้ แต่ปัญหาหลักและเป็นปัญหาใหญ่ของไทยขณะนี้คือ ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาน้อยเพียง 29% ของผู้ป่วยทั้งหมด เนื่องจากประชาชนที่มีอาการ แต่ไม่รู้ตัวว่าป่วย หรือไม่คิดว่าตัวเองป่วย และยังมีอคติ ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ เพราะกลัวคนรังเกียจว่าบ้า ทั้งๆ ที่โรคนี้ไม่ใช่โรคที่น่าอับอาย การรักษาไม่ยุ่งยาก ใช้วิธีทานยาเพียงวันละ 1 เม็ด อาการจะดีขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ แล้วทานต่อเนื่อง 6 เดือนก็จะเป็นปกติ และป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ ซึ่งพบอาการกลับซ้ำได้ประมาณ 20-30%