posttoday

จุฬาฯเผยแผนพัฒนา-ทวงคืนที่ดิน

18 กุมภาพันธ์ 2556

จุฬาฯเปิดแผนพัฒนาที่ดิน แจงกรณีทวงคืนที่ดิน เผยที่ดินอุเทนถวายฯเจรจาทวงคืนมาตั้งแต่ปี 2518

จุฬาฯเปิดแผนพัฒนาที่ดิน แจงกรณีทวงคืนที่ดิน เผยที่ดินอุเทนถวายฯเจรจาทวงคืนมาตั้งแต่ปี 2518

นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การทวงคืนที่ดินของจุฬาฯ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และโรงเรียนปทุมวันว่า เริ่มจากกรณีอุเทนถวายฯ ที่ผ่านมาวิทยาเขตอุเทนถวายฯได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าวกับจุฬาฯ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2478-2546 เป็นเวลา 68 ปี ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมา จุฬาฯก็ได้เริ่มเจรจาขอคืนพื้นที่มาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 38 ปีแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากจุฬาฯมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ในการเสริมสร้างการแข่งขันของประเทศ รวมไปถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และที่ผ่านมาก็มีการเจรจาเพื่อหาทางขอคืนพื้นที่จากอุเทนถวายฯมาโดยตลอด

นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า ในการทวงพื้นที่คืนที่ผ่านมา ทางจุฬาฯพยายามหาทางช่วยเหลือ เพราะหากยังไม่มีสถานที่แห่งใหม่ อุเทนถวายฯก็ย้ายไปไม่ได้ จึงได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรมธนารักษ์ ขอความอนุเคราะห์จัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวายฯ โดยในปีพ.ศ.2545 กรมธนารักษ์ได้จัดหาพื้นที่ให้จำนวน 36 ไร่ ที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จัดสรรงบฯให้เพื่อการก่อสร้างและขนย้ายประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งอุเทนถวายฯได้ทำบันทึกข้อตกลงกับจุฬาฯ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2547 ว่าจะขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯภายในวันที่ 30 ก.ย.2548 หากจำเป็นก็จะผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น ต่อมาปีพ.ศ.2548 ก็ได้มีการทำบันทึกร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ จุฬาฯ, สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอุเทนถวาย ฯ ที่ตกลงกันว่าอุเทนถวายฯจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ภายในวันที่ 1 พ.ย.2548

แต่สุดท้ายการย้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่จุฬาฯได้ทำหนังสือขอให้อุเทนถวายฯขอคืนพื้นที่อีก 3 ครั้ง

นอกจากนี้ เมื่อ ปีพ.ศ. 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ กยพ. ซึ่งระหว่างนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา 2 ครั้ง และปีพ.ศ. 2552 กยพ.ก็มีมติชี้ขาดโดยให้อุเทนถวาย ขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ ส่วนผลการทูลเกล้าถวายฎีกานั้น สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ.

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจุฬาฯ ก็ไม่ได้ทวงเงินค่าเสียหายจากอุเทนถวายแต่อย่างใด 

ขณะที่กรณีโรงเรียนปทุมวันนั้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในแผนแม่บทที่จะปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับคนกรุงเทพฯ และขยายพื้นที่ถนนจุฬาฯซอย 5 ให้กว้างขึ้น เพื่อลดปัญหาจราจร ขณะเดียวกันมีแผนจะรวมศูนย์ราชการของ กทม.เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ได้แก่ สถานีตำรวจปทุมวัน สถานีดับเพลิงปทุมวัน สาธารณสุข กทม.

อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงเรียนปทุมวันจะย้ายไปอยู่ที่ไหนนั้น คงเป็นเรื่องที่ กทม.ต้องไปจัดการโดยอาจไปยุบรวมกับโรงเรียนขนาดเล็กในเขตปทุมวันที่มีอยู่ 8 โรง แต่หากเป็นการตกลงกันว่ายุบรวมแล้วให้มาอยู่ที่โรงเรียนปทุมวันนั้น ก็ต้องมาหารือกันต่อว่า จะวางแผนจัดการศูนย์ราชการของเขตปทุมวันอย่างไรต่อไป

จุฬาฯได้กำหนดสัดส่วนการใช้ประโยชน์จากที่ดินของมหาวิทยาลัย ดังนี้ สัดส่วนพื้นที่เพื่อการศึกษา 51% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ด้านหอประชุมใหญ่ รวมไปถึงวิทยาเขตอุเทนถวายฯ, เพื่อธุรกิจ 20% และเพื่อส่วนราชการต่างๆเช่า 20% ดังนั้นในส่วนการทวงคืนพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งวิทยาเขตอุเทนถวายฯ จำนวน 20 ไร่ จุฬาฯจะนำไปพัฒนาเป็นศูนย์นวัตกรรมฯ และยืนยันว่าจะไม่มีการนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ในเชิงพาณิชย์เด็ดขาด

"การจะทวงพื้นที่คืนได้สำเร็จนั้น จุฬาฯต้องขอความร่วมมือจากรัฐบาล ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม และงบฯ ซึ่งเราจะต้องหารือกันให้เข้าใจทุกฝ่ายเพื่อเจรจาหาข้อยุติเรื่องนี้"นพ.ภิรมย์ กล่าว

ขณะที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ. กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องการขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อการย้ายอุเทนถวายฯ ต้องขอเวลาหารือกับทางจุฬาฯ และพูดคุยกันให้ครบถ้วนทุกประเด็นก่อน ซึ่งทราบว่าทางจุฬาฯ ได้ประสานเพื่อขอเข้าพบแล้วแต่ยังไม่กำหนดวันนัดหมายอย่างเป็นทางการ.