posttoday

ขึ้นบัญชี 25 สถาบันเสี่ยงยกพวกตีกัน

15 พฤศจิกายน 2555

ไม่ว่าเมื่อไหร่ เหตุการณ์นักเรียนยกพวกตีกันก็ยังเป็นเรื่องเขย่าขวัญคนกรุง เพราะนับวันก็ยิ่งรุนแรงถึงขั้นยิงกัน ไล่ฟัน ไล่ทำร้ายกลางถนน หลายครั้งคราที่ผู้ไม่เกี่ยวข้องพลอยโดนลูกหลงไปด้วย

ไม่ว่าเมื่อไหร่ เหตุการณ์นักเรียนยกพวกตีกันก็ยังเป็นเรื่องเขย่าขวัญคนกรุง เพราะนับวันก็ยิ่งรุนแรงถึงขั้นยิงกัน ไล่ฟัน ไล่ทำร้ายกลางถนน หลายครั้งคราที่ผู้ไม่เกี่ยวข้องพลอยโดนลูกหลงไปด้วย

เพียงครึ่งปีที่ผ่านมา สถิติรับแจ้งความนักเรียนตีกันมีจำนวนมากถึง 385 คดี ท้องที่ที่มากสุดคือ สน.หัวหมาก 21 คดี

ล่าสุด เหตุยิงนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันเสียชีวิตคารถแท็กซี่ ซัลโวกันกลางเมืองบนถนนพหลโยธิน หน้าสวนจตุจักร ช่วงเย็นวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้คนพลุกพล่าน รถราเต็มท้องถนน ผ่านมาแล้วหลายวันตำรวจก็ยังไม่รู้ตัวคนร้าย

เรื่องนี้ทำให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ต้องสั่งการอีกคำรบ จัดมาตรการคุมเข้มขนานใหญ่ (อีกครั้ง) ป้องกันนักเรียนนักเลงห้ำหั่นเอาชีวิตกัน กอปรกับเชื่อแน่ว่าหากเด็กจะ “เล่น” กันแล้ว ตำรวจก็ยากจะไปห้ามได้ทันท่วงที ดังนั้นการตัดไฟแต่ต้นลมจึงดูจะเป็นทางออกที่ตำรวจเมืองกรุงพอจะเข้าไปควบคุมได้

ข้อมูลของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในเขตเมืองกรุงของ บช.น. ที่จัดทำเป็นประวัติไว้จากกองบังคับการตำรวจนครบาล 19 รายชื่อโรงเรียนเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการทะเลาะวิวาทและตำรวจจะต้องเข้าไปควบคุมดูแลใกล้ชิด ประกอบด้วย

กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) วิทยาลัยเทคนิคดุสิต (สน.ดุสิต)

ขึ้นบัญชี 25 สถาบันเสี่ยงยกพวกตีกัน

 

บก.น.2 โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ หรือช่างกล ขส.ทบ. (สน.เตาปูน) วิทยาลัยเทคโนโลยีไทยวิจิตรศิลป์ (สน.พหลโยธิน) วิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์ (สน.ทุ่งสองห้อง) และวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง (สน.ดอนเมือง)

บก.น.3. วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีโปลีเทคนิค (สน.มีนบุรี) วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี (สน.มีนบุรี) และวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร (สน.ฉลองกรุง)

บก.น.4. วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพ (สน.หัวหมาก) และวิทยาลัยเทคโนโลยีบางกะปิ (สน.หัวหมาก)

บก.น.5 โรงเรียนเจ้าพระยาวิทยาคม (สน.บางโพงพาง) โรงเรียนนนทรีวิทยา (สน.ทุ่งมหาเมฆ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (สน.ทุ่งมหาเมฆ) วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ (สน.ทุ่งมหาเมฆ) โรงเรียนปทุมคงคา (สน.ทองหล่อ) และเทคโนโลยีกรุงเทพ (สน.พระโขนง)

บก.น.6 สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย (สน.ปทุมวัน)

บก.น.7 โรงเรียนไทยอาชีวศึกษา (สน.บางพลัด) วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สน.บางกอกใหญ่) วิทยาลัยอาชีวศึกษากรุงเทพ ธนบุรี (สน.ท่าพระ) และโรงเรียนโพลีเทคนิคพณิชย์กรุงเทพ (สน.ธรรมศาลา)

บก.น.8 ไม่มี

บก.น.9 วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม (สน.บางบอน) วิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงธน (สน.หลักสอง) และวิทยาลัยเทคโนโลยีบ้านครู (สน.หนองค้างพลู)

รวมแล้วมีถึง 25 สถาบันการศึกษาที่สุ่มเสี่ยงนักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาทในกรุงเทพมหานคร!!!

พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ที่รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ดันมาตรการเพิ่มกำลังตำรวจเข้าไปดูแลกลุ่มนักเรียนเหล่านี้ โดยเล่าย้อนไปถึงคดีคนร้ายยิงนักศึกษาปทุมวันเสียชีวิตว่า แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องระหว่างสถาบันหรือไม่ แต่แนวโน้มค่อนข้างสูง เป็นผลต่อเนื่องที่ต้องหามาตรการจัดการล้อมคอกระวังเหตุร้าย

เริ่มแรก พล.ต.ต.มานิต อธิบายถึงแผนรับมือและมาตรการคุมเข้มนักเรียนที่มีกลุ่มเสี่ยงว่า จะมอบหมายให้แต่ละ สน.ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะกับรอง ผกก.ฝ่ายปราบปราม ต้องเข้าไปดูแลโรงเรียนเสี่ยงก่อเหตุที่ทำประวัติไว้ โดยเข้าไปพูดคุยกับอาจารย์ฝ่ายปกครองให้ช่วยนำเด็กที่สุ่มเสี่ยงมาทำประวัติและพูดคุยห้ามปรามกันไว้ หากไม่เชื่อฟังตำรวจต้องจับกุมและจะมีความผิดตามฐานที่ก่อขึ้น

ขึ้นบัญชี 25 สถาบันเสี่ยงยกพวกตีกัน

 

รวมถึงตำรวจชุดป้องกันปราบปรามจลาจล หรือชุด ปจ. ที่มีประจำอยู่ในแต่ละกองบังคับการตำรวจนครบาล 19 ชุดนี้ บช.น.จะนำมาเป็นพระเอกในการเข้าไปช่วยงานทางด้านป้องกันนักเรียนตีกันด้วย

“ครั้งนี้ตำรวจจะเพิ่มชุด ปจ.เข้ามาช่วยท้องที่ด้วย เพราะเข้าใจดีว่ากำลังแต่ละแห่งคงไม่เพียงพอที่จะไปเฝ้าดูได้ทุกจุด ดังนั้นเมื่อมีชุด ปจ.เข้ามาเสริมก็จะทำให้งานครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้น เบื้องต้นแต่ละพื้นที่ต้องจัดกำลังชุด ปจ. 12 นาย เป็นนายตำรวจสัญญาบัตรควบคุมการปฏิบัติงาน 1 นาย ที่เหลือเป็นชั้นประทวนเข้าไปดูแล โดยจะแต่งเป็นชุดสายตรวจ หากพบเห็นกลุ่มเสี่ยงหรือเหตุก็ต้องเข้าระงับทันที เป็นต้น จากนี้ต้องขยันเข้าไปตรวจตราให้มากกว่าเดิม รวมถึงเรื่องการค้นล็อกเกอร์ของโรงเรียนที่จะเป็นแหล่งซ่องสุมอาวุธ” รองมานิต เล่า

เรื่องอาวุธที่ใช้ก่อเหตุ ทางตำรวจก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการตรวจตราตามสถานที่ต่างๆ ทั้งป้ายรถเมล์ หรือบนรถเมล์ และสถานที่ที่เด็กนักเรียนรวมตัวกัน มีพฤติกรรมที่ต้องสงสัย พล.ต.ต.มานิต ย้ำว่า จุดนี้ตำรวจไปเห็นต้องค้นให้หมดเพื่อป้องกันเหตุไว้ก่อน

“ร้านค้า ร้านอาหารใกล้กับสถาบันหรือโรงเรียน ที่กลายเป็นแหล่งให้เด็กนักเรียนเอาอาวุธมาซ่อนมาเก็บไว้ เพราะหลังๆ เด็กที่จะก่อเหตุรู้ตัวว่าจะเป็นการเสี่ยงแน่หากตัดสินใจซ่อนอาวุธไว้ในโรงเรียน อาจจะถูกค้นเอาได้ง่ายๆ ตำรวจก็จะตามค้นตามร้านต่างๆ เช่นกัน”

พล.ต.ต.มานิต ทิ้งท้ายว่า ปัญหานี้ยากที่จะแก้ไข แต่หากตำรวจไม่เข้าไปควบคุมก็จะยิ่งรุนแรงเข้าไปอีก ถึงอย่างไรก็ทำได้เพียงแค่คอยเฝ้าระวังที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่ต้นเรื่องต้นทางอย่างสถาบันครอบครัว สังคม หรือในโรงเรียน ก็ต้องช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตา อย่าปล่อยหรือละสายตาให้เด็กออกมาก่อกวนไล่ฆ่าไล่ตีกันเหมือนทุกวันนี้

บทมาตรการคุมเข้มนักเรียนนักเลงอีกครั้งของตำรวจเมืองกรุงที่ต้องแก้ปัญหาที่ยากจะหมดในสังคม ต้องดูว่าจะเข้มข้นเพียงใด ติดตามการแก้ไขปัญหาได้ ณ บัดนี้...