posttoday

ระวัง 31 จุดเสี่ยง!อุบัติเหตุทางด่วนปีละพันราย

26 สิงหาคม 2555

อุบัติเหตุรถตกทางด่วนที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เกิดจากผู้ขับใช้ความเร็วสูงและไม่มีการแตะเบรกก่อนพุ่งออกนอกทางด่วน

โดย...อาทิตย์ เคนมี/วงศ์สุภัทร คงสวัสดิ์

“อุบัติเหตุรถตกทางด่วนที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เกิดจากผู้ขับใช้ความเร็วสูงและไม่มีการแตะเบรกก่อนพุ่งออกนอกทางด่วน ซึ่งถือว่าผู้ขับขี่ขาดความระมัดระวัง และจากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาประมาณ 01.00-02.00 น. ดังนั้นต่อไป กทพ.จะรณรงค์เรื่องการจำกัดความเร็วให้เป็นไปตามกำหนด คือ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” อัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุถึงสาเหตุ

ทั้งนี้ จากสถิติโครงข่ายทางด่วนทั้งหมดประมาณ 200 กิโลเมตร กทพ.พบว่า เกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละกว่า 1,000 ราย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเฉี่ยวชนและอุบัติเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1020 ราย โดยปี 2554 เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนทางด่วนสูงกว่าที่ผ่านมา ประมาณ 30 ราย ปี 2555 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนทางด่วน 10 ราย

อัยยณัฐ ย้ำหนักแน่นว่า ไม่เป็นความจริงที่สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนเกิดจากทางไม่ได้มาตรฐาน เพราะโครงสร้างได้มาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับว่าจะต้องมีทางแยก ทางยกระดับ และทางแยกรูปตัววาย แต่ก็ไม่ใช่ว่า กทพ.จะนิ่งดูดาย ขณะนี้ได้เร่งติดตั้งตัวกันกระแทก ติดไฟกะพริบ ทำลูกระนาดเตือนผู้ขับขี่ก่อนถึงทางแยก เพื่อให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น

สำหรับจุดเสี่ยงอันตรายบนทางด่วนมีทั้งสิ้น 13 จุด คือ ทางลงจตุโชติ ทางลงด่านรามอินทรา 1 ทิศทางมีนบุรี ทางลงด่านรามอินทรา 1 ทิศทางหลักสี่ ทางลงด่านประชาอุทิศ ทางแยกต่างระดับพระราม 9 ทางแยกทางลงดาวคะนอง/สมุทรสาคร ทางแยกต่างระดับท่าเรือ ทิศทางท่าเรือดาวคะนอง ทางแยกทางลงด่านบางนา กม.92 ทางแยกเข้าด่านบางพลีน้อย ทางแยกเข้าด่านบางปะกง 1 ทางแยกต่างระดับพญาไท ทางแยกต่างระดับบางโคล่ และทางลงด่านคลองประปา 1

อย่างไรก็ตาม ได้ออกมาตรการป้องกันไว้ 2 แนวทาง ได้แก่ มาตรการเชิงรุก เพื่อเตือนผู้ขับขี่หรือปรามมิให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น การติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว การกวดขันวินัยจราจร ขณะที่มาตรการเชิงรับ จะมุ่งเน้นการลดและบรรเทาระดับความรุนแรงการเกิดอุบัติเหตุ

ขณะที่การบรรเทาและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจะต้องติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เช่น อุปกรณ์ดูดซับแรงกระแทก สัญญาณไฟกะพริบ แถบชะลอความเร็ว แผงกั้น ระบบแสงไฟส่องสว่าง ป้ายเตือน ตลอดจนการใช้ผิวจราจรแรงเสียดทานสูง เป็นต้น โดย กทพ.กำลังดำเนินการทั้งมาตรการเชิงรุกและเชิงรับ คือ การติดตั้งอุปกรณ์ดูดซับแรงกระแทก (Crashcushion) 10 จุด ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ระวัง 31 จุดเสี่ยง!อุบัติเหตุทางด่วนปีละพันราย

 

นอกจากนี้ จะพิจารณาระบบหรืออุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยอื่นๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพทางด่วนให้มีความทันสมัยและปลอดภัยมากขึ้น เช่น กำหนดขีดจำกัดความเร็วที่เหมาะสม (Speed Limit) การปรับปรุงมาตรฐานป้ายจราจรและเส้นสีบนผิวจราจร จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เช่น การติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติ (Automatic Speed Enforcement Camera) การติดตั้งระบบตรวจจับอุบัติภัยอัตโนมัติ เป็นต้น

ด้าน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้รับผิดชอบอีกหน่วยงาน ได้กำหนดจุดเสี่ยงทางยกระดับไว้ 7 แห่ง รวม 18 จุด ได้แก่ 1.สะพานยกระดับจตุรทิศ (เลียบบึงมักกะสัน) 4 จุด 2.สะพานยกระดับคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี 6 จุด 3.สะพานยกระดับรัชวิภา 4 จุด 4.สะพานลอยข้ามแยกเอกมัยเหนือ 1 จุด 5.สะพานลอยข้ามแยกบางกะปิ 1 จุด 6.สะพานลอยข้ามแยกรามคำแหง 1 จุด และ 7.สะพานลอยข้ามแยกพระรามที่ 2 จำนวน 1 จุด โดยจะทยอยติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

สุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักงานวิศวกรรมจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า การสร้างถนนและสะพานต่างๆ ในพื้นที่ กทม.จะมีการศึกษาและออกแบบตามหลักวิศวกรรมจราจร American Association of State Highway and Transportation Officials (AASHTO) โดยจะคำนวณให้สัมพันธ์กับความเร็วรถตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุก็จะลดน้อยลง

สุธน ให้ข้อสังเกตว่า แม้เส้นทางต่างๆ จะถูกออกแบบไว้ตรงตามมาตรฐานแล้ว แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ โดยเฉพาะความพลาดพลั้งของผู้ขับขี่หรือการตัดสินใจต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ดังนั้นการออกแบบถนนจึงต้องเพิ่มระดับความปลอดภัยให้สูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่ตั้งไว้

ขณะที่จากประสบการณ์ของ รุ่งเพ็ชร ศรีสุวรรณ เจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งสัมผัสความเป็นความตายบนท้องถนนมานักต่อนัก กล่าวว่า ท้องถนนในพื้นที่ กทม.สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ บางจุดเป็นทางโค้งที่ไม่สอดรับกับความเร็วรถ บางจุดเกิดอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ที่ไม่เป็นที่รับรู้เพราะไม่ใช่คนดังหรือดาราประสบอุบัติเหตุ

“ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อจากการขุดเจาะซ่อมแซมที่ไม่ได้มาตรฐาน บางครั้งก็ไม่มีป้ายเตือนล่วงหน้าหรืออาจกระชั้นชิดเกินไป ถ้าไม่คุ้นเส้นทางก็อาจประสบอุบัติเหตุได้”

รุ่งเพ็ชร บอกว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบควรหมั่นดูแลสัญญาณจราจรและป้ายเตือนให้อยู่ในสภาพใช้งานได้จริง ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำสองตามมา

เขากล่าวอีกว่า ในกรณีรถตกทางด่วนบ่อยครั้ง เป็นเพราะผู้ขับขี่คึกคะนองใช้ทางด่วนเป็นสนามประลองความเร็ว เมื่อเกิดเหตุเฉพาะหน้าจึงไม่สามารถควบคุมรถได้ สุดท้ายก็พุ่งออกข้างทางหรือตกทางด่วน ขณะเดียวกันกล้องตรวจจับความเร็วของตำรวจก็ไม่สามารถสอดส่องได้ทั่วถึง ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้ขับขี่ที่ต้องมีจิตสำนึกและขับรถด้วยความระมัดระวัง

“ความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ที่ทุกคนร่วมใจกันเคารพกฎจราจร ไม่เช่นนั้นก็เกิดความสูญเสียไม่จบสิ้น ขอเตือนไว้ว่า ถ้าขับรถเร็วแบบพี่ คือลูกค้าชั้นดีของผม” สโลแกนที่เจ้าหน้าที่ป่อเต็กตึ๊งฝากทิ้งท้าย