posttoday

แฉสถิติข่าวละเมิดทางเพศในรอบปีพุ่ง!

13 มีนาคม 2555

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยสถิติข่าวละเมิดทางเพศในรอบปีพุ่ง กว่า 70 % เป็นกรณีข่มขืน สลด!! ถูกกระทำอายุน้อยสุด 5 เดือน

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยสถิติข่าวละเมิดทางเพศในรอบปีพุ่ง กว่า 70 % เป็นกรณีข่มขืน สลด!! ถูกกระทำอายุน้อยสุด 5 เดือน

ที่โรงแรมเฟิร์ส กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาหัวข้อ “สถานการณ์การล่วงละเมิดทางเพศปี 2554” โดย น.ส.นิตยา พิริยะพงษ์พันธ์ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า สถิติความรุนแรงทางเพศนับวันยิ่งมีแนวโน้มน่าเป็นห่วง เห็นได้ที่มูลนิธิฯ เก็บตัวอย่างข่าวความรุนแรงในครอบครัว จากหนังสือพิมพ์ ปี 2554 จำนวน 5 ฉบับ คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด และคมชัดลึก พบว่า มีข่าวถูกละเมิดทางเพศ ทั้งหมด 158 ข่าว แบ่งเป็น การข่มขืน 112 ข่าว คิดเป็น 70.9% รองลงมาคือข่าวรุมโทรม 17 ข่าว คิดเป็น 10.8 % ข่าวพยายามข่มขืน จำนวน 14 ข่าว คิดเป็น 8.8 % ข่าวอนาจาร 12 ข่าว คิดเป็น 7.6 % และ ข่าวพรากผู้เยาว์ 3 ข่าว คิดเป็น 1.9 %

ทั้งนี้จากสถิติข่าวทั้งหมด มีการละเมิดทางเพศของคนในครอบครัว 11.4 % เช่น พ่อ พ่อเลี้ยง ตา พี่ชาย ยกตัวอย่างกรณี พี่ชายแท้ ๆ 3 คน ข่มขืนน้องสาวอายุ 12 ปี อย่างต่อเนื่อง โดยละเมิดทางเพศตั้งแต่น้องสาวอายุได้ 9 ปี นอกจากนี้ยังพบว่า 38.6 % มีความสัมพันธ์เป็นคนรู้จัก เช่น เพื่อนบ้าน ข้างห้องเช่าหรือห้องพัก เพื่อน ครู/อาจารย์กับลูกศิษย์ พระภิกษุ เป็นต้น

ส่วนอีก 1 ใน 3 เป็นคนแปลกหน้า หรือไม่รู้จัก เช่น กลุ่มปล้นทรัพย์ แก๊งค์วัยรุ่น ส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำอายุเพียง 11-15 ปี รองลงมา 16-20 ปี และอายุมากที่สุด คือ 89 ปี ช่วงอายุของผู้กระทำ 16-20 ปี รองลงมา 26-30 ปี และน้อยสุดคือเด็กชายอายุ 13 ปี ข่มขืนและฆ่าเด็กผู้หญิงอายุ 9 ขวบ ส่วนอายุของผู้กระทำที่มากที่สุด คือ 76 ปี ซึ่งรายนี้เป็นพระสงฆ์ที่ข่มขืนลูกตนเอง

แฉสถิติข่าวละเมิดทางเพศในรอบปีพุ่ง!

"ที่น่าตกใจว่า คือ ผู้ถูกกระทำเป็นเด็กอายุน้อยสุดเพียง 5 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการละเมิดทางเพศ คือ 39.4 % มาจากการดื่มสุรา อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์ถึงข่าวการละเมิดทางเพศเมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มี 168 ข่าว ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเล็กน้อย ทั้งๆ ที่ผ่านมาเกิดวิกฤตน้ำท่วมตลอด 2 เดือนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ต่างนำเสนอข่าวน้ำท่วม จนไม่มีพื้นที่ของข่าวความรุนแรงทางเพศ ทั้งที่คดีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน ดังนั้น แนวโน้มความรุนแรงก็ไม่ได้ลดลง” น.ส.นิตยา กล่าว

ด้านน.ส.อัญชนา สุวรรณานนท์ ประธานกลุ่มอัญจารีเพื่อสิทธิหญิงรักหญิง กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้ความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะในกลุ่มหญิงชายเท่านั้น แต่ในกลุ่มหลากหลายทางเพศนับวันจะถูกกระทำมากขึ้นเช่นกัน เช่นข่าวกรณีพ่อข่มขืนลูกเพราะอ้างว่าลูกไปคบหากับทอม จึงต้องสั่งสอน กรณีชายข่มขืนทอมโดยอ้างว่าให้กลับใจเป็นหญิง หรือแม้แต่ลวงทอมไปฆ่า เพราะมาจีบลูกสาว กระเทยถูกข่มขืนขณะไปเรียน ร.ด. ซึ่งบางกรณีผู้ที่กระทำ ไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นเกย์เสมอไป แต่คิดแค่ว่าถ้ารังแกได้ก็จะทำ หรือการกล่าวหาว่ากระเทยทุกคนต้องการผู้ชายจึงต้องลงมือกระทำ

ดังนั้น ข่าวฆาตกรรม ถูกละเมิดทางเพศ ของกลุ่มหลากหลายทางเพศจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสังคมยังมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับความรุนแรง แก้ปัญหาด้วยตัวเอง

น.ส.อัญชนา กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรายังขาดกลไกหรือองค์กรที่รับผิดชอบคนกลุ่มนี้ ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือโดยตรง ดังนั้นหากรัฐบาลมีศูนย์ที่คอยให้บริการรับปรึกษาอยู่แล้ว ก็ควรทำให้ครอบคลุมเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม แต่ขณะเดียวกันในข้อกฎหมายตอนนี้ก็ได้มีการผลักดันให้เอื้อต่อการปกป้องสิทธิ์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยเมื่อปี 2550 ได้มีการแก้กฎหมายอาญา มาตรา 276 จากที่เขียนว่า การข่มขืนกระทำชำเราหมายถึงการที่อวัยวะเพศชายสอดใส่อวัยวะเพศหญิงที่ไม่ใช่เป็นภรรยาตน โดยยกคำว่า “ที่ไม่ใช่เป็นภรรยาตน” ออก หลังจากเปลี่ยนแปลงกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะสามารถคุ้มครองผู้หญิงทุกคน และเพศอื่นๆ ด้วย เพราะการกระทำทางปาก ทางทวารหนัก หรือแม้แต่ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ต้องถือเป็นการข่มขืนด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ผู้ที่ถูกกระทำสามารถใช้กฎหมายนี้เพื่อฟ้องร้องได้

ขณะที่ นางสาวอรุณศรี มีวงค์ธรรม ทนายความมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การใช้ความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่งสูงขึ้นเฉลี่ย 20-30 % ต่อปี เห็นได้จากผู้หญิงเข้ามาขอรับคำปรึกษามากกว่า 20 ราย ต่อเดือน ทั้งนี้ข้ออ่อนของกฎหมายมักจะให้สิทธิคุ้มครองผู้กระทำมากกว่าผู้เสียหาย เช่น ก่อนจับกุมต้องแจ้งสิทธิ กว่าจะนำตัวมาดำเนินคดีต้องมีขั้นตอนยาวนานมาก บางครั้งพนักงานสอบสวนก็ใช้คำถามจนผู้ถูกกระทำอาย ไม่กล้าแจ้งความต่อ เช่น คุณสมยอมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน ประกอบกับอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ปัญหา เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อทัศนคติที่เหมาะสมให้แก่เจ้าหน้าที่และประชาชน