“ดีอี” ดันมาตรฐานซอฟต์แวร์ AI-Green หนุน SME ใช้ซอฟต์แวร์คุณภาพ
เดินหน้าส่งเสริมซอฟต์แวร์มาตรฐานผ่านโครงการ Dsure หนุนผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SME เข้าถึงเทคโนโลยีคุณภาพ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงดีอี พร้อมด้วยหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง และเครือข่ายพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ การดึงดูดการลงทุน Data Center และ Cloud จากบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลกที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี อย่าง AWS, Microsoft และ Google
การแก้ไขปัญหาสินค้าและบริการดิจิทัลที่ไม่มีคุณภาพและมาตรฐานผ่านกลไกบัญชีบริการดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่อยู่ในบัญชีบริการดิจิทัล 109 บริษัท จำนวนสินค้า 702 รายการ การเป็นเจ้าภาพจัดงาน Global ISO Conference 2025 การประชุมประจำปีของคณะอนุกรรมการด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และระบบ (ISO/IEC JTC1/SC7) ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 13 มิ.ย.นี้ จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และกำหนดมาตรฐานในระดับสากลเพื่อพัฒนามาตรฐานซอฟต์แวร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ช่วยให้คนไทยได้ใช้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ในราคาเป็นธรรม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นเวทีของผู้กำหนดมาตรฐานระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสทองของประเทศในการสร้างความน่าเชื่อถือ ความร่วมมือ และอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ด้าน นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า คณะอนุกรรมการด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และระบบ หรือ ISO/IEC JTC 1/SC 7 เป็นหน่วยงานย่อยภายใต้การกำกับของ ISO และ IEC ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดทำมาตรฐานสากลด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และระบบ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการพัฒนา การจัดการ การประกันคุณภาพ การประเมินผล การดูแลรักษา ไปจนถึงแนวทางด้านจริยธรรมและความน่าเชื่อถือของระบบสารสนเทศและซอฟต์แวร์
มาตรฐานดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย สามารถทำงานร่วมกันได้ และสอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยงาน Global ISO Conference 2025 ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นเชิงเทคนิค เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ รวม 21 ประเทศเข้าร่วมประชุม
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า
ภาครัฐเดินหน้าสร้างระบบมาตรฐานซอฟต์แวร์สำหรับผู้ประกอบการไทย ภายใต้แนวคิด “Dsure” เพื่อยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัยของข้อมูล และสนับสนุนให้มีการจัดเก็บข้อมูลภายในประเทศ โดยแบ่งระดับมาตรฐานออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1 ดาว: มาตรฐานพื้นฐาน 2 ดาว: มาตรฐาน Co-Green และ 3 ดาว: มาตรฐานที่รับรองการจัดเก็บข้อมูลภายในประเทศไทย
นอกจากช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้ภาครัฐและเอกชนในการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพแล้ว ระบบนี้ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนและเข้าถึงบริการซอฟต์แวร์มาตรฐานในราคาที่เป็นธรรม ลดปัญหาการถูกเอาเปรียบทางราคา โดยเฉพาะในกลุ่ม SME
ผู้ประกอบการที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน Dsure สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 200% ของมูลค่าการใช้จ่าย (จากเดิม 100,000 บาท เพิ่มเป็น 300,000 บาท) และในกรณีที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ ยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในรูปแบบ Tax Incentive ได้อีกด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังและคาดว่าจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้
ภาครัฐยังมุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ไทย ลดการนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ โดยกำหนดให้ซอฟต์แวร์ที่นำเข้า ต้องผ่านกระบวนการรับรองมาตรฐานในประเทศ ซึ่งครอบคลุมการทดสอบด้านความปลอดภัย (Safety) และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Security) แม้จะไม่ถึงขั้นกีดกันการค้า แต่เป็นแนวทางเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและรักษาความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว
การประชุมดังกล่าว ยังมีแผนจัดประชุมหารือแนวทางการกำหนด มาตรฐานซอฟต์แวร์ด้าน AI และ Green Software ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสำคัญในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้ AI ในกระบวนการผลิต การแพทย์ หรือระบบโลจิสติกส์ ที่อาจเกิดความผิดพลาดจากการทำงานของ AI ได้ หากไม่มีการควบคุมหรือกำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรม Cloud และ Embedded Software ก็กำลังให้ความสำคัญกับแนวคิด Green มากขึ้น เพื่อรองรับกระแสความยั่งยืนและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าการประชุมครั้งนี้จะเปิดเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายหารือแนวทางรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และปูทางไปสู่การพัฒนามาตรฐานในอนาคต แม้ปัจจุบันยังไม่สามารถออกเป็นข้อกำหนดอย่างเป็นทางการได้