posttoday

จากหมอสู่ซีอีโอ “มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ” พาอาหารใต้สู่ธุรกิจ 200 ล้าน

19 กุมภาพันธ์ 2568

“มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ” คือหมอที่ผันตัวเองเป็นซีอีโอแห่ง De Forest Group ธุรกิจอาหารอาหารท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยความหวังอยากจะรักษาอาหารท้องถิ่น สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น

KEY

POINTS

  • “มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ” คือหมอที่ผันตัวเองเป็นซีอีโอแห่ง De Forest Group ธุรกิจอาหารอาหารท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนใต้
  • ด้วยความหวังอยากจะรักษาอาหารท้องถิ่น สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น ซึ่งมีดัชนีการศึกษาต่ำสุดในประเทศไทย
  • ก่อตั้งบริษัทสร้างแบรนด์ธุรกิจร้านอาหาร 3 แบรนด์ ขยายสาขา 14 แห่งสร้างรายได้รวมเกือบ 200 ล้านบาท 

แม้ว่า “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในความทรงจำของคนนอกพื้นที่อาจเป็นความไม่สงบ

แต่สำหรับในความทรงจำของ “มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ” คืออาหารท้องถิ่นที่เขาทานมาตั้งแต่เล็กจนโต และนับวันยิ่งหาทานได้ยาก เสี่ยงที่จะหายไปกับรุ่นพ่อรุ่นแม่ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาลุกขึ้นมาทำธุรกิจอาหารเพื่อจะเผยแพร่อาหารท้องถิ่นภาคใต้สู่นักท่องเที่ยว 


มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ เกิดและเติบโตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มต้นเส้นทางอาชีพด้วยการเป็นหมอตั้งแต่เรียนจบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยพื้นเพเขาเป็นคนนราธิวาส แต่เติบโตที่ยะลา ก่อนจะมาใช้ชีวิตที่ปัตตานีเนื่องจากพบรักกับภรรยาที่นี่ 


 

จากหมอสู่ซีอีโอ “มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ” พาอาหารใต้สู่ธุรกิจ 200 ล้าน

“ผมมาจากครอบครัวมุสลิม เรียนจบโรงเรียนเอกชนศาสนาที่เรียกว่าโรงเรียนปอเนาะ ตอนเด็ก ๆ ผมมีหัวทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้างก็เลยได้ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ

จนเกือบได้เป็นตัวแทนประเทศ และได้โควตาเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่"

เขาท้าวความถึงเส้นทางชีวิตให้ฟังเมื่อครั้งเป็นเด็ก ก่อนจะเล่าต่อถึงการเริ่มต้นอาชีพหมอ 


"จนกระทั่งเรียนจบ เริ่มต้นอาชีพหมออยู่สักพัก ก็รู้ว่าตนเองไม่น่าจะเหมาะกับการเป็นหมอ ผมชอบอาชีพหมอ แต่การได้เห็นคนป่วยในโรงพยาบาลทุกวัน และการทำงานหามรุ่งหามค่ำ ทำให้ผมคิดไว้ว่าจะหยุดจากอาชีพนี้ราว ๆ อายุ 40 ปี แต่ก็ได้ออกจากการเป็นหมอก่อนอายุ 40”


หลังจากที่เขาออกจากการเป็นหมอ เขาได้ไปเรียนต่อสาขาระบาดวิทยา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นที่เดียวกันกับที่เขาเรียนปริญญาตรี เขาเรียนด้านนี้จนคว้าปริญญาเอก และผันตัวเป็นอาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


ในช่วงนั้น ได้คลุกคลีกับการทำงานวิจัยเกี่ยวกับสาธารณสุขบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแม่และเด็ก การดูเรื่องโภชนาการต่ำ เด็กไอคิวต่ำ เรื่องของแม่คลอดลูกและเสียชีวิต

 

รวมถึงวิจัยเรื่องนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติดในหน่วยงานวิจัย ศูนย์ศึกษา ปัญหายาเสพติด และศูนย์วิจัยสุราแห่งประเทศไทยวนเวียนกับการวิจัย 
 

จนกระทั่งได้ทำวิจัยเกี่ยวกับความยากจน

ครั้งนั้นทำให้เขาตั้งคำถามกับตนเองว่า ทำวิจัยเรื่องยากจน แล้วคนพ้นความจนหรือไม่?

“ผมพยายามตั้งคำถามกับตัวเองว่างานวิจัยของเราอิมแพคอย่างไรกับความยากจน เพราะไม่เห็นเปลี่ยนอะไรเลย ทำมา 3-4 ปี คนก็ยังจนเหมือนเดิม

แล้วตัวเองล่ะ? พ้นความยากจนหรือยัง เราเองก็ยังไม่พ้นความยากจนเลย แล้วจะไปทำงานวิจัยให้คนอื่นเขาเชื่อเราได้อย่างไรว่าเขาจะพ้นจากความยากจนได้ ผมก็เลยเริ่มคิดกับตนเองว่าถ้าผมไม่พ้นความยากจน ผมก็คงไปพูดกับคนอื่นไม่ได้ว่าแก้จนอย่างไร”

หารายได้เสริมหลังเลิกงาน เพื่อให้ตนเองผ่านพ้นความจน 

มูฮัมหมัดฟะฮ์มี เล่าว่า พอหลังจากเวลาเลิกงาน ผมก็เริ่มหาอะไรทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เริ่มทำธุรกิจเพื่ออยากมีรายได้เสริม เพราะอย่างที่รู้กันว่า อาจารย์ในเมืองไทย ค่าตอบแทนไม่ได้สูงมากนัก 

 

ด้วยความชอบค้าขายแต่เด็ก จีงมีแนวคิดอยากทำธุรกิจ 

ตอนเด็ก ๆ ผมก็ชอบซื้อมาขายไป ขายดินสอปากกาให้เพื่อนในโรงเรียน บางวันขายแม้กระทั่งการบ้าน เพราะสมัยนั้นไปโรงเรียนเพื่อนได้ 20 บาท เราได้ 5 บาท ก็ต้องขุดเอาของที่มีมาขาย ส่วนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็รับเขียนหนังสือตำรา เป็นคำคม สมัยนั้น Pop Culture กำลังมาแรง คนชอบอ่านอะไรสั้น ๆ ขายได้เงินมาหลายแสน ตั้งแต่เรียนมหาลัยแล้ว 

จากหมอสู่ซีอีโอ “มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ” พาอาหารใต้สู่ธุรกิจ 200 ล้าน

อาหารท้องถิ่นใต้สเน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร

จุดเริ่มต้นธุรกิจอาหาร เกิดจากการที่ผมเริ่มมองไปรอบ ๆ ท้องถิ่นที่ผมอาศัยอยู่คือปัตตานี ผมรู้สึกว่าอาหารท้องถิ่นหายากขึ้นเรื่อย ๆ เสน่ห์ของอาหารสามจังหวัดชายแดนใต้ซ่อนอยู่เยอะมาก เรามีวัฒนธรรมอาหารที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นของประเทศ 


บางเมนูทำยากมากเช่น “นาซี ดากัง”  แม่ค้าต้องตื่นมาทำตั้งแต่ตี 3 ตี 4 เพื่อปรุงเมนูนี้ แต่ราคาที่ขายคือ 20 บาท เท่านั้น กำไรต่อห่อ 3-5 บาทเท่านั้น คำถามคือ “เขาขายเพื่ออะไร?”


คำตอบคือพ่อค้าแม่ค้าที่ขายแถวบ้านผม เขาไม่ได้ขายเพื่อร่ำรวยแต่ขายแค่ให้มีกินมีใช้ประทังชีวิต 


ด้วยสภาพแบบนี้ผมว่าเราไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจใหม่ได้ พอนานเข้าอาหารประเภทนี้ยิ่งจะน้อยลง เพราะเขาจะส่งต่อธุรกิจให้กับคนรุ่นต่อไปไม่ได้ ความกลัวของผมคือ กลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะหายไป และไม่ได้กิน ผมก็เลยเริ่มทำธุรกิจ


ทั้งนี้การที่ธุรกิจจะอยู่ได้ เราก็ต้องพัฒนา เดิมชาวบ้านพัฒนาไม่ได้ เพราะจะให้รอดยังยาก ผมก็เลยต้องมาคิดใหม่ ทำใหม่ พัฒนาให้มีมูลค่าสูงขึ้นและเอากำไรที่ได้กลับมาพัฒนาต่อ 


นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดร้าน “Roti De Forset” ขายโรตี กินกับแกงซึ่งเป็นเมนูหลักของสามจังหวัดชายแดนใต้ อีกทั้งยังมองว่าเป็นเมนูที่ทานได้ตั้งแต่เช้ายันเย็น หรือทานได้ตลอดเวลา

 

และค่อยๆ เพิ่มเมนูอาหารอื่นเข้ามา โดยลูกค้าหลัก ๆ ที่เข้ามาคือนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาไกลมาก บ้างก็มาจากมาเลเซียเพื่อมาชิมอาหารท้องถิ่นของสามจังหวัดชายแดนใต้ 

 

จากหมอสู่ซีอีโอ “มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ” พาอาหารใต้สู่ธุรกิจ 200 ล้าน

ผ่านมา 5 ปีธุรกิจโตเร็วกว่าที่คิด ยอดขาย 200 ล้านบาท 


เขาเล่าอีกว่า 5 ปีที่เริ่มต้นทำธุรกิจอาหาร เติบโตเกินกว่าที่คาดหวังไว้มาก จนไม่คิดว่าจะโตถึงวันนี้ จึงก่อตั้งบริษัท De Forest Group มีร้านอาหาร 3 แบรนด์ อาทิ Roti de forset, บ้านเล, นมฤาดี กระจายตัวออกไปรวม 14 สาขา

ซึ่งแต่ละแบรนด์มีสาขาต่างกันออกไป สร้างงานคนพื้นที่ได้กว่า 450 ตำแหน่ง ยอดขายรวมเกือบ 200 ล้านต่อปี 

ผมภาคภูมิใจมากที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจท่องเที่ยวในจังหวัดที่เราอาศัยอยู่ โดยเฉพาะปัตตานี ที่เป็นสาขาแม่

แม้เราจะเริ่มจากการเป็นธุรกิจร้านอาหารเล็ก ๆ แต่เราพัฒนาธุรกิจตามมาตรฐานที่เราเป็นเสมอมา ทำให้สินค้าและการบริการของเรา เกินคำว่าดีที่สุด แต่กำลังซื้อในพื้นที่มันน้อยมาก เราสร้างแบรนด์จากพื้นที่ที่ทำธุรกิจอย่างยากลำบาก แต่เราก็ทำด้วยการมีองค์ความรู้จากการอ่าน และเข้าใจ

จนเข้าใจว่าหลักการทำธุรกิจที่เป็นระบบสากล ทุนนิยมนั้น สิ่งสำคัญคือการเพิ่มมูลค่าใหกับธุรกิจอย่างมากคือความเชื่อมั่นหรือว่าเครดิต ซึ่งสำคัญกว่าเงินสดมาก 

การสร้างความเชื่อมั่นขององค์กร 

ผมต้องทำบริษัทและองค์กรของเราให้ได้รับความเชื่อมั่น ทั้งจากภายในของเราเอง จากลูกค้าที่เข้ามารับบริการ และนักลงทุนที่ลงทุนกับเรา

ถึงแม้ว่าเราจะเติบโตเร็ว แต่ระหว่างทางก็เจออุปสรรคมากมาย เช่น คนในพื้นที่กำลังซื้อต่ำ กำไรไม่เยอะมาก เจอปัญหาการเปลี่ยนผ่าน จากท้องถิ่น กลายเป็นธุรกิจ SME ซึ่งเราไม่ได้เตรียมที่จะโตมาแต่แรก เผชิญความท้าทายหลายอย่าง ทั้งความเข้าใจเรื่องกฏหมาย โครงสร้างภาษี ที่ทำให้เรามีผลกระทบในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง การเติบโต

สร้างงานคนในพื้นที่สามชายแดนใต้

นอกจากนี้ มูฮัมหมัดฟะฮ์มี กล่าวว่าคนที่เข้ามาทำงานในบริษัทจะอยู่ในพื้นที่ ซึ่งต้องบอกว่าสามจังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เป็นพื้นที่ที่ดัชนีการศึกษาต่ำที่สุดของประเทศไทย ไม่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำในพื้นที่ ผมให้โอกาสคนในพื้นที่ได้เข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ทำงานด้วยกัน

ขณะเดียวกันผมก็ต้องสร้างองค์กรที่มี Learning culture ตลอดเวลา ทำให้คนที่อยู่ในองค์กรของเราไม่หยุดการเรียนรู้ อย่างผู้จัดการร้านของผมบางคน เป็นเด็กจบ ม.3 แต่เขาต้องใช้ซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการให้เป็น

นับเป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจในการเทรนคนเหล่านี้ให้สามารถทำงาน ในระดับมาตรฐานที่สูงขึ้นกว่าระดับการศึกษาที่เขามีได้ 

จากหมอสู่ซีอีโอ “มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ” พาอาหารใต้สู่ธุรกิจ 200 ล้าน

สิ่งที่ผมทำมันมีความยากลำบาก แต่ผมเชื่อเสมอว่าผมทำมันสำเร็จ ผมจะเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นความหวังให้กับคนที่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรจะสำเร็จ

การทำธุรกิจ ถ้าทำแบบเดิม ๆ ก็ได้เท่าเดิม แต่ถ้าเอาความรู้ เอาเทคโนโลยี เติมเต็มเข้าไปมันน่าจะดีกว่า พื้นฐานของธุรกิจคือการมองหาลูกค้าในตลาด เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนกินโรตี ชอบกินโรตีแบบไหน ชอบบรรยากาศแบบไหน เราก็ศึกษาดู หรือแม้แต่ขายโรตีแพงกว่าในตลาด 3 เท่า ก็ต้องดูว่าลูกค้ารับได้หรือไม่