ไทยขาดดุลจีน SME การผลิตอ่วม กระทบจ้างงาน 2.8 ล้าน หวั่นมาตรการรัฐช่วยไม่ทัน
SME กระอัก 6 เดือนแรกปี 67 ไทยขาดดุลจีน ติดลบ 19,967.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระทบภาคการผลิต โรงงานขนาดเล็กปิดตัว ซ้ำ TEMU ส่งสินค้าราคาถูกจากโรงงานตีตลาด ขณะที่เงินเฟ้อ ก.ค.67 บวก 0.83 % จากราคาน้ำมันสูง หวั่นกระทบการจ้างงานภาคการผลิต 2.76 ล้านคน
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า เดือน ก.ค. 2567 เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตต่างหดตัว ที่สำคัญกำลังซื้อในประเทศของจีนยังชะลอตัว ไทยขาดดุลการค้าจีน
ภาคการผลิตอ่วม สินค้าจีนตีตลาด
ล่าสุดตัวเลข 6 เดือนแรกปี 2567 พบ มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12%YoY คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน -19,967.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.66%YoY กระทบกับภาคการผลิตโดยตรง โดยเฉพาะ SME
นอกจากนี้ SME ไทยยังถูกซ้ำเติมจาก Platform e-commerce จากจีน ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศ คือ TEMU ด้วยการขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ยิ่งกดดันผู้ประกอบการ SME เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้ทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าจีน คลังสั่งสรรพากรเก็บภาษี TEMU
ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย
แม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 พบว่ามีจำนวนการเปิดโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีโรงงานเปิดกิจการกว่า 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 122.67%YoY แต่กลับพบว่าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ
การปิดตัวของโรงงานครึ่งปีแรกมีกว่า 667 แห่ง โดยข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่าการปิดตัวดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า +86.31%YoY หรือเฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน และหากพิจารณามูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27.12 ล้านบาทต่อโรงงาน สะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือ SME ที่มีการปิดโรงงานในอัตราส่วนที่เร่งขึ้น นั่นเอง
นายผยง กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าว กกร. อยู่ระหว่างเตรียมข้อเสนอเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม อาทิ การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อช่วยจัดสรรเม็ดเงินลงระบบในรายเซ็กเตอร์ การสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรองรับ EV และการเปลี่ยนผ่าน หรือ ทรานส์ฟอร์ม ไปยังธุรกิจใหม่ การส่งเสริม SME การบริหารจัดการ waste ของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับโรงงาน 4.0
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.
เงินเฟ้อบวก 0.83% ตามราคาน้ำมันโลก
ขณะที่นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยหรือเงินเฟ้อเดือนก.ค. 2567 เท่ากับ 108.71 เมื่อเทียบกับเดือนก.ค. 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.82 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.83 % โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก
ประกอบกับมีการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมิ.ย. 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น 0.62 % ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 9 ประเทศที่ประกาศตัวเลข เช่น บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค. 2567 คาดว่าจะใกล้เคียงกับเดือนก.ค. 2567
ปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่
1. ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า จากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ
2. ราคาเนื้อสุกรยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากมีอุปทานเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคายังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
3. ราคาผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ
4. ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง โดยเดือนส.ค. 2566 ราคาอยู่ที่ประมาณ 86.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ยล่าสุดอยู่ที่ 79.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ณ วันที่ 30 ก.ค. 2567)
ดันจีดีพี SME เพิ่ม 40 % ในปี 70
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปี 2566 พบว่า มีจำนวน MSME ในประเทศอยู่ประมาณ 3.22 ล้านราย แต่เป็นนิติบุคคลเพียง 8.75 แสนราย คิดเป็น27% เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นส่วนบุคคล ขณะที่ภาคการผลิตมี 5.15 แสนราย มีการจ้างงานในระบบ 2.76 ล้านคน
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ สสว.เปิดแผยว่า การส่งเสริมให้ MSME ให้ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษถือเป็นภารกิจสำคัญของ สสว.ในการขับเคลื่อนให้ MSME ได้เติบโตตามเป้าหมาย โดย สสว.ต้องการผลักดันสัดส่วน จีดีพี ของ SME ให้เพิ่มเป็น40 % ภายในปี 2570 จากเป้าหมายปีนี้ ที่ตั้งเป้าการเติบโตไว้ 37%
แม้หนี้สิน SME ไตรมาส 2/2567 เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการและธุรกิจการเกษตร สำหรับหมุนเวียนในกิจการ พบ 51% กู้นอกระบบ SME กู้นอกระบบ 51% ล่าสุดได้ขานรับนโยบายรัฐบาล เพื่อยกระดับเพิ่มผลิตภาพแก่ SME ให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ผ่านโครงการสินเชื่อ “SME Green Productivity” วงเงิน 15,000 ล้านบาท
โครงการดังกล่าว ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ทำงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ภาครัฐและเอกชน สนับสนุนผู้ประกอบการSME เข้าถึงแหล่งทุน
สำหรับจุดเด่น คือ สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพียง 3% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 10 ปี แถมปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือนแรก อีกทั้ง ผ่อนปรนเงื่อนไขและหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อ SME
ส่วนความคืบหน้า โครงการสินเชื่อซอฟต์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน ที่มี 16 สถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการปล่อยสินเชื่อให้กับ SME นั้น
โพสต์ทูเดย์ ได้พยายามตรวจสอบวงเงินที่ต้องการสนับสนุนของแต่ละธนาคาร กลับพบว่าหลายธนาคารยังไม่มีความพร้อม และไม่มีนโยบายที่ชัดเจนออกมา ก็หวังว่าการนำเงินมากระตุ้น SME ครั้งนี้ จะสามารถช่วย SME ได้ทันท่วงที และดำเนินการด้วยความจริงใจ